191219 REC

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ด้วยใช้กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปีงบประมาณ 2562 เป็นกลไกสนับสนุน ทำให้สามารถสื่อสาร สร้างกระแสความตื่นตัว  และตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ สามารถบรรลุเป้าหมายของ กกพ. ทั้งแนวคิดและวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการนั้น   ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประชาชนในทุกช่วงอายุ

“หัวใจ และเป้าหมายสำคัญที่สุดของโครงการพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในภาคพลังงานของชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์หลักที่สำคัญของสำนักงาน กกพ. ในการเป็นองค์กร กำกับ ดูแล กิจการพลังงานให้เกิดความยั่งยืน โดยที่ปัจจัยหลักที่สำคัญในการที่จะบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ได้ คือการได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จากประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศ” นายเสมอใจ กล่าว 

วันนี้ (18 ธ.ค.) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ร่วมกับภาคีเครือข่ายพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งนำโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และสมาชิกได้แก่ บริษัท  ทีวีบูรพา จำกัด  บริษัทเทลสกอร์ จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร           ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวผลสำเร็จของกิจกรรมการสื่อสารภายใต้โครงการ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” ในช่วงเวลา 120 วันของการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ภายใต้การจัดงานสื่อสัมพันธ์  กกพ. “120 วันแบ่งปันพลังงานสะอาด”

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวชี้แจงผลสำเร็จในรายละเอียด และการประเมินผลโครงการพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ว่า  ภายใต้การออกแบบ และกำหนดกลยุทธ์
SOFT POWER  ผ่านกระบวนการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย มีความสร้างสรรค์ บนเครื่องมือ ช่องทางการสื่อสาร และระยะเวลาที่เหมาะสม ได้สร้างความตื่นตัว กระแสการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่า  และความสำคัญของพลังงานทดแทนที่เกิดจากแหล่งพลังงานสะอาดตามเป้าหมายตลอดระยะเวลา 120  วันที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯได้กำหนดเป็นกลยุทธ์  และจัดแบ่งการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการการสื่อสารระหว่างกัน ประกอบไปด้วย

ขั้นตอนแรก เริ่มต้นการสื่อสารตั้งแต่ การเลือกใช้  KOL :  KEY OPINION  LEADER  เพื่อสร้างกระแส   และจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจคล้อยตาม   โดยผู้นำทางความคิดที่เป็นที่ยอมรับในสังคม             คือ เบิร์ด – ธงไชย  แมคอินไตย์  ผ่านการสื่อสารโครงการ “ไฟ จาก ฟ้า”   โดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)  สามารถสร้างการรับรู้  แรงบันดาลใจและความเข้าใจอย่างได้ผล   เข้าถึงประชาชน           ทั่วประเทศ   ผ่านวิดีโอต่างๆ ของโครงการ “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้”  กว่า  21  ล้านวิว   รวมถึงยอดวิวของ MV  “แสงของดวงตะวัน”  ทุกเวอร์ชั่นสูงถึง 18  ล้านวิว

ช่องวัน31 ร่วมสื่อสารโครงการฯ ผ่านรายการพิเศษ  เช่น  รายการซีรีส์บันเทิง “ ไฟ จาก ฟ้า”  รายการข่าวเย็น (จั๊ด ซัดทุกความจริง)  เนื้อหาเพลง “แสงของดวงตะวัน” ผ่านเมนูเพจ  รวมยอดผู้ชมทั้งหมดกว่า  32  ล้านคน

ขั้นตอนที่สอง  ขยายผลด้วยการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารองค์ความรู้ ได้แก่  รายการ “คนบันดาลไฟ”,  “ภารกิจพิชิตตะวัน” , “มหา’ลัย ไฟ จาก ฟ้า” โดยบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด  สู่กลุ่มชุมชนและเครือข่าย (COMMUNITY & NETWORKING)  โดยการลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมผ่านการฝึกอบรม  และการปฏิบัติจริงกว่า 15 พื้นที่  ทั่วประเทศ  จำนวน 32 ครั้ง   และโครงการ SOLAR  VENGERS  โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)  จัดทำ WORK SHOP DESIGN THINKING  และการแข่งขันเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต   โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน  12  ชิ้นงาน  พร้อมเตรียมนำโชว์เคสไปแสดงในงาน BANGKOK DESIGN WEEK

ขั้นตอนที่สาม การสร้างกระแสอย่างต่อเนื่องโดยขยายฐานการรับรู้ผ่าน INFLUENCER  ผู้นำทางความคิดหลากหลายสาขาวิชาชีพ  ในทุกช่องทางสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามรวมสูงถึง  27  ล้านคน  เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 25  ล้านคน  สร้างการมีส่วนร่วมสูงถึง 57.84 %  ผ่านโครงการ POWER OF ME,  POWER OF WE”  โดย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด  ซึ่งถือเป็นสถิติตัวเลขที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์กว่าโครงการใดๆ

ขั้นตอนที่สี่  การขยายผลผ่านสื่อศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  จากโครงการ “จรัส แสงสร้างสรรค์”     โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ระดมศิลปินหลากหลายสาขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแขนงต่างๆกับภารกิจสร้างแรงบันดาลใจผ่าน ART PLATFORM   เช่น  จรัส LAB , จรัส KIDS, จรัส THEATER,           จรัส FORUM  โดยมี จรัส LIGHT FEST เป็นกิจกรรมนำร่อง สาธิตการออกแบบงานศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจผ่านการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์  ซึ่งมีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ถึง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563  ณ ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ

“โครงการ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้   เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ กกพ.  ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  เป้าหมายที่ 7  เพื่อมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดมีความทันสมัยและยั่งยืน            ขององค์การสหประชาชาติ   โดยเลือกใช้กลยุทธ์การสื่อสารผ่าน SOFT POWER รูปแบบต่างๆ ร่วมกับ          5  สมาชิกภาคีเครือข่าย  ในช่วงเวลา 120 วัน  ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2562  เพื่อสร้างกระแสความสนใจ  การให้ข้อมูลความรู้อย่างถูกต้อง และสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติจริง”