สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของ 4 วิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดพิจิตร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนบุญมาล้อม ตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน, วิสาหกิจชุมชนแก้วไทยวิสาหกิจเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลำไยตอรัง ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม และ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านท่าเยี่ยม ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอสากเหล็ก ซึ่งนำเทคโนโลยี ไอโอที (IoT) เข้ามาประยุกต์ใช้ตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งในการควบคุมการเจริญเติบโต และ คุณภาพของผลผลิตภายในชุมชน ที่จะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนลดต้นทุนและการสูญเสียผลผลิตได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า ภารกิจหลักของดีป้าคือส่งเสริมและสนับสนุนพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน แต่จะไม่มองแค่ภาพใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น ในภาคประชาชนกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเอง ก็ควรได้รับการส่งเสริมไปควบคู่กัน โดยดีป้าได้มีมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“การจะส่งเสริมชุมชนให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ดีป้าไม่ได้แค่สนับสนุนเป็นเงินเท่านั้น แต่เราถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างเครือข่ายชุมชน สามารถต่อยอดวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตได้ด้วยความเข้าใจ การติดตั้งอุปกรณ์ให้ แต่ชุมชนไม่สามารถนำจุดแข็งของตนมาพัฒนาในอนาคต การส่งเสริมและสนับสนุนจะไม่เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางการดำเนินงานของดีป้า” ผอ.ใหญ่ดีป้า กล่าวเสริม
สำหรับการลงพื้นที่ จังหวัดพิจิตร ในครั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน และสำนักงานสาขาภาคเหนือตอนล่าง ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการใน 4 วิสาหกิจชุมชน ที่ได้มีการนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ดังนี้
วิสาหกิจชุมชนบุญมาล้อม ตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน ดำเนินโครงการพัฒนาโรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ ส่งเสริมกลุ่มชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของสำนักงานพลังงานจังหวัดพิจิตร โดยศูนย์ดังกล่าวมีคณะศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องและได้รับรองมาตรฐาน การจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) โดยชุมชนได้เพาะก้อนเชื้อเห็ด ดอกเห็ด และแปรรูปเห็ด และนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในโรงเพาะเห็ด พร้อมแอปพลิเคชันที่สามารถสั่งการ รายงานผล และ ควบคุมสภาพอากาศภายในโรงเรือนเพาะเห็ด ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต เพื่อลดความสูญเสียของผลผลิต สามารถเพิ่มยอดขายได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดและยกระดับคุณภาพเห็ดของชุมชนให้ได้คุณภาพมาตรฐาน
วิสาหกิจชุมชนแก้วไทยวิสาหกิจเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล ดำเนินโครงการพัฒนาระบบควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและพลังงาน ที่มีการให้บริการอบแห้งพืชผลทางการเกษตรแก่สมาชิกและชุมชนข้างเคียง โดยได้มีการนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้ง เป็นต้นแบบของโรงเรือนที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการลดการสิ้นเปลืองพลังงานด้วย IoT และ ใช้พลังงานสะอาดอย่างการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลักในการดูแลผลผลิต
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลำไยตอรัง ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม ดำเนินโครงการโรงอบ 4.0 ส่งเสริมกลุ่มซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ลำไยคุณภาพดี ปลอดภัย และยังเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการปลูกลำไยนอกฤดูกาล โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำระบบ IoT มาประยุกต์ใช้ในโรงอบแห้งลำไยซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าลำไยตกเกรดให้สูงยิ่งขึ้น และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชุมชน
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านท่าเยี่ยม ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอสากเหล็ก ดำเนินการฝึกอบรมการใช้งานแก่สมาชิกและชุมชนข้างเคียงเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในการสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและการให้แนวคิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ใกล้ตัวและสอดแทรกอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต โดยสามารถพัฒนาต่อยอดพืชผลทางการเกษตร สินค้าชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถเตรียมพร้อมสำหรับการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน