191127 PHARM

ปัจจุบัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางเกือบทุกมิติในสังคม  รวมถึงบริการทางด้านสุขภาพ กำลังจะเปลี่ยนภาพจาก การผูกติดกับร้านขายยา เมื่อเกิดอาการ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็จะหาซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน ที่มักพบเพียงเภสัชกรแขวนป้ายและให้ คนเฝ้าร้าน ขายยาตามความเคยชิน โดยที่ไม่มีความรู้อะไรมากนัก ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในฐานะที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่ให้การสนับสนุน คือ ด้านสุขภาพ (HealthTech) ล่าสุดได้ให้ทุน Digital Startup เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการที่ดีจากร้านขายยาคุณภาพ ผ่าน WebApp “PHARMCARE (ฟาร์มแคร์)”ตัวช่วยอัจฉริยะที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี

 ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า มุ่งมั่นส่งเสริมการบริการทางสุขภาพที่ดีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชน จึงได้เซ็นสัญญามอบทุนสนับสนุน ให้กับ PHARMCARE ซึ่งเป็น Digital Startup ด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ  ช่วยยกระดับการบริการสุขภาพที่ดีจากร้านขายยาคุณภาพ โดยประชาชนสามารถปรึกษาและรับคำแนะนำจากเภสัชกรที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ควรได้รับ

PHARMCARE เป็นเหมือนผู้ช่วยแนะนำร้านขายยาคุณภาพในรูปแบบ Smart Healthy  เพื่อให้เราค้นหา และเข้าถึงร้านขายยาที่ได้คุณภาพ มีเภสัชกรที่มีความรู้ พร้อมให้คำแนะนำ มีบริการด้านสุขภาพ ที่สามารถเช็คสุขภาพและวิเคราะห์โรคได้เบื้องต้น เพื่อให้ได้รับบริการที่ดี  รวมถึงมีกิจกรรมทางสุขภาพ ซึ่งง่ายต่อการใช้งาน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และยังเป็นการช่วยยกระดับร้านขายยาที่นอกเหนือจากแค่การขายยาอีกด้วย” ดร.ณัฐพล กล่าว

ด้าน นางสาวจินต์ณิภา ปัญญาวุฒิไกร ผู้ก่อตั้ง PHARMCARE กล่าวว่า ตนเป็นคนที่โตขึ้นมาในร้านขายยา คุณแม่เป็นเภสัชกร ที่อุทิศตัวเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ตนจึงได้มีโอกาสได้เห็นและเรียนรู้ว่า การมีเภสัชกรมาเป็นคนช่วยดูแลสุขภาพเบื้องต้น น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เวลาคนในชุมชนไม่สบายเล็กน้อย ก็เข้ามาซื้อยาและขอคำแนะนำคุณแม่เสมอ จากมาคนเดียวก็เริ่มแนะนำเพื่อน แนะนำครอบครัว จนทำให้มีจำนวนผู้มาขอคำปรึกษาเพิ่มมากขึ้น  ทำให้เรามองว่า ทุกคนอยากมีคนที่ไว้ใจได้ช่วยดูแลให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพ เหมือนเป็นหมอยาประจำตัว จึงได้มาหารือกับคุณแม่ ซึ่งท่านก็แนะนำให้รู้จักกลุ่มเพื่อนเภสัชกรที่ทำกิจกรรมคล้ายๆ กัน ทำให้เห็นว่า มีร้านขายยาอีกหลายร้านที่เป็นร้านยาคุณภาพ มีเภสัชกรที่พร้อมดูแลให้คำแนะนำดีๆ สามารถคัดกรองโรคเรื้อรังเบื้องต้น ให้ประชาชนที่อาจไม่มีเวลาไปรับการให้บริการสุขภาพตามโรงพยาบาล และเมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่อังกฤษด้าน Biochem และ Management และกลับมาก็เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ ทำให้มองเห็นทั้งระบบสุขภาพ จึงได้พัฒนา Web App PHARMCARE ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วย ให้ประชาชนเข้าไปค้นหาร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำและมีบริการสุขภาพที่ดี โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วนที่จัดทำในรูปแบบ WebApp เนื่องจาก ได้ทำการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ไม่คุ้นชินกับการโหลดแอปพลิเคชันหรือบางครั้งพื้นที่ความจำเต็มไม่อาจดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ” นางสาวจินต์ณิภา กล่าว

นางสาวจินต์ณิภา กล่าวด้วยว่า เว็ปแอพลิเคชั่น PHARMCARE จะมีเภสัชกรรมบริบาลที่ได้รับการฝึกสอนมาในเรื่องของซักถาม สังเกตอาการ และการให้บริการ 10 โรคเบื้องต้น คือโรคที่คนส่วนใหญ่จะเดินเข้าไปซื้อยาทานได้เองอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้รับคำปรึกษาหรือคำแนะนำที่ดี ทั้งนี้ จากการสำรวจจำนวนคนที่เดินเข้าร้านยาต่อปี อยู่ที่ประมาณ 310 ล้านครั้งทั่วประเทศ เฉลี่ยต่อคนที่เดินเข้าร้านขายยา 6-7 ครั้งต่อปี ในจำนวนนี้ อาจมีกว่าร้อยล้านครั้ง ที่เขาอาจไม่ได้รับคำปรึกษาที่มีคุณภาพเลย

สำหรับเทคโนโลยีใน Web App PHARMCARE นั้น นางสาวจินต์ณิภา บอกว่า วิธีการใช้ไม่ยาก เพียงเปิดเว็บ https://pharmcare.co ก็จะขึ้นตำแหน่งร้านขายยาที่อยู่ใกล้บริเวณที่เราอยู่โดยบอกเป็นระยะทางกี่กิโลเมตร และเมื่อกดเข้าไปดูจะเห็นชื่อร้าน และชื่อของเภสัชกรผู้ให้บริการ ที่พร้อมให้คำปรึกษามากกว่าการขายยาเพียงอย่างเดียว

“ตอนนี้เปิดให้บริการมา 5 เดือนแล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้จะยังไม่ได้ทำการลาดอย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ depa Digital Startup Fund ระยะการก่อตั้งธุรกิจ (S2) เราจะนำไปขยายผลในการพัฒนาระบบ Platform และทำการตลาด เพื่อขยายการรับรู้ให้ประชาชนทั่วประเทศได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพจากร้านยาคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการเปิดรับร้านยาคุณภาพเข้ามาอยู่ในเครือข่ายของเราเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 70 ร้านยาในกรุงเทพ เราตั้งเป้าอยากขยายไปตามจังหวัดใกล้เคียงและทั่วประเทศในอนาคต” ผู้พัฒนา PHARMCARE กล่าว

 นางสาวจินต์ณิภา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “PHARMCARE  นอกจากจะเป็นผู้ช่วยในการค้นหาร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้แล้ว ยังช่วยปรับพฤติกรรมของคนที่มาใช้บริการด้วย จากที่เคยไม่สบายแล้วหาซื้อยากินเอง ทั้งจากความเคยชิน และจากคำแนะนำของเพื่อน หรือซื้อจากที่เห็นในโฆษณา เปลี่ยนมาเป็นการได้รับคำปรึกษาจากเภสัชกรก่อน เหมือนมีหมอยาประจำตัวที่ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพ และเมื่อประชาชนทุกคนอยากเข้าร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรให้บริการที่ดี ก็จะกระตุ้นให้ร้านขายทั่วไปตื่นตัวพร้อมที่จะปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น ประชาชนก็จะได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย