สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ จ.ยะลา จัดงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ “Smart City Thailand Roadshow” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครการเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมี กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำเมืองจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทั้ง เทศบาล อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน
วันที่ 14 พฤษภาคม 2562, คณะผู้บริหารจากดีป้า นำโดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า พร้อมด้วย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ ดร.ศุภกร สิทธิไชย รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานฯ นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าร่วมงาน “Smart City Thailand Roadshow” โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวต้อนรับและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ว่า “จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย มีภาพลักษณ์ในการเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่มีความสวยงามและเป็นระเบียบมีความสะอาดที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองแห่งผลไม้ และมีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในความหลากหลายของพหุวัฒนธรรม อีกทั้งมีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบการเป็นเมืองอัจฉริยะ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เนื่องจากมี ศอบต. ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีหน่วยงานความมั่นคงที่พร้อมดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมของข้อมูล Big Data ในพื้นที่ สำหรับการขยายผลไปสู่จังหวัดภาคใต้ชายแดนได้ต่อไป”
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ หลายประเทศได้เริ่มพัฒนาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
ผอ.ดีป้า ย้ำว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง สหรัฐอเมริกา ประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมถึงประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ก็มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด การพัฒนาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การปรับใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จะเป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาภาพรวมของประเทศ ส่วนพื้นที่ที่มีความพร้อม และต้องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะก็ให้ศึกษาข้อกำหนด หรือเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ.2562 และคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในการเสนอขอรับพิจารณาประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย นับตั้งแต่ผู้ว่าราชการ หรือผู้นำในพื้นที่นั้นๆ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม หรือกลไกประชารัฐ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เช่น โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล นโยบาย กฎ ระเบียบที่รองรับการพัฒนา การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน การเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐ การชดเชยสำหรับเรื่องต่างๆ และงบประมาณตั้งต้น จากแหล่งงบประมาณต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ หรือการระดมทุน เป็นต้น
“การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาเมือง เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลต่อการผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย คาดหวังว่าจะสามารถสร้างต้นแบบการพัฒนาสู่อาเซียน และโดยเฉพาะปีนี้ ประเทศไทยในฐานะประธานเอเชียน ก็จะทำหน้าที่เจ้าภาพในการขับเคลื่อน ASEAN Smart City Network อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันสร้างกรอบในการพัฒนา 26 เมือง ของประเทศสมาชิก จากการถอดบทเรียนการพัมนาเมืองแต่ละด้านที่มีความหลากหลายของประเทศไทย รวมทั้งเป็นประตูสู่ประเทศอาเซียน วันนี้ ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเดินไปข้างหน้า ทุกคนในชาติเองก็ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ช่วยกันยกระดับประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเราจะช่วยกันลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางการพัฒนา Smart City ที่เป็นระบบ เพื่อให้ประเทศประสบความสำเร็จอย่างเป็นระบบ” ดร. ณัฐพล กล่าว
ด้าน ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานฯ กล่าวถึง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ ว่า พื้นที่ที่ยื่นสมัครขอเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องจัดทำข้อมูลตามคู่มือการจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะ และสามารถศึกษาเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 ด้าน ได้ตาม เว็ปไซต์ www.smartcitythailand.or.th โดยต้องดำเนินการจัดทำแผนอย่างน้อย 2 ด้าน มี Smart Environment เป็นด้านบังคับ รวมทั้งได้ทั้งแนะนำแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ การจัดการเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ โดยมีการทำ workshop ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้นำเมืองจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้ง เทศบาล อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้มากกว่า 200 คน และจะมีการจัดงานสัมมนา “ Smart City Thailand Roadshow” ครั้งต่อไปที่ ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 29 พฤษภาคม 2562