ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พร้อมด้วย นายมีธรรม ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ด้านกิจการสาขา และ นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน และทีมงานฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ เข้าร่วมกิจกรรม “Smart City Thailand Roadshow” ดำเนินการโดยดีป้า ภายในงานมีการจัดบูธนิทรรศการ ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน และร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้วย
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไปสู่ การเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน และประเทศไทยยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยหลักการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือการบริหารจัดการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างสมดุล ด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนในการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาสู่งสังคมไร้เงินสด การพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การปรับใช้แอปพลิเคชันสำหรับช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.สมศักดิ์ ย้ำว่า ขอให้พึงระลึกไว้ว่า ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย นับตั้งแต่ผู้ว่าราชการ หรือผู้นำในพื้นที่นั้น ๆ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม หรือกลไกประชารัฐ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เข่น โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล นโยบาย กฎ ระเบียบที่รองรับการพัฒนา การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน การเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐ การชดเชยสำหรับเรื่องต่าง ๆ และงบประมาณตั้งต้น จากแหล่งงบประมาณต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ หรือการระดมทุน เป็นต้น
ด้าน ดร. ภาสกร กล่าวในช่วงหนึ่งของการเป็นวิทยากรใน หัวข้อ “สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์” ว่า พื้นที่ที่ยื่นสมัครขอเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องจัดทำข้อมูลตามคู่มือการจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะ และสามารถศึกษาเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 ด้าน ได้ตาม เว็บไซต์ www.smartcitythailand.or.th โดยต้องดำเนินการจัดทำแผนอย่างน้อย 2 ด้านขึ้นไป และมี Smart Environment เป็นด้านบังคับ รวมทั้งได้แนะนำแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการ เพื่อสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ
นอกจากนั้นยังมีการบรรยายโดย นายแพทย์อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายใน หัวข้อ “แนวทางการพัฒนา Smart Health & Medical Hub เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Smart City”
การจัดงานเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ โดยมีการทำ workshop โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น ผู้นำเมืองจาก 20 จังหวัดในภาคอีสาน ทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน ในจังหวัดขอนแก่น มีบูทแสดงผลงานซึ่งเป็น Solution ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้าน Smart City ในจังหวัด มาร่วมจัดแสดงภายในงานด้วย ซึ่งรับความสนใจจากหน่วยงานในพื้นที่อื่น ๆ จำนวนมาก มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้มากกว่า 300 คน ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่าเท่าตัว
สำหรับการจัดงานสัมมนา “Smart City Thailand Roadshow” ครั้งต่อไปที่ภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดยะลา ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562