001

นโยบาย Thailand 4.0 กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) คือ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงรัฐบาลยังวางนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว คือ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และสนับสนุนแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2560 – 2564) หนึ่งในแผนงานย่อยภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 002

จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีจำนวนผู้จบการศึกษาในสาขาด้านดิจิทัลหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวนปีละ 20,000 คน แต่ปัญหาหลักด้านกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทย คือ มีบัณฑิตที่จบการศึกษาจำนวนมาก แต่ขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพ เนื่องจากบัณฑิตที่จบมาไม่สามารถทำงานได้จริง ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

190102_depa

ดีป้า โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ จึงได้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Scholarship Fund) ขึ้น เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้เกิดการสร้างระบบนิเวศน์ในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการลงทุนอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค (Digital Park) หรือพื้นที่นวัตกรรม (Innovation Park) โดยเป็นการให้ทุนในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในสาขาที่ขาดแคลน นำร่องใน 5 สาขาสำคัญ ประกอบด้วย 1. การเขียนโปรแกรมระดับสูง 2. เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) 3. เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) 4. การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Data Analytics) และ 5. เทคโนโลยีป้องกันด้านความปลอดภัย (Advanced Security)

ซึ่งมาตรการดังกล่าว ดีป้าจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อราย ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลตาม หลักสูตรหรือโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากดีป้า และเป็นค่าตอบแทนหรือค่าจ้างในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีข้อตกลงร่วมกันกับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 60 และเจ้าของสถานประกอบการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือร้อยละ 40 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตศรีราชา Keio University (Japan) Mitsubishi Electric (Japan) Mitsubishi Electric (Thailand) เป็นต้น ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โทร. 02 141 7100-1 หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th