สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ปูพรมทั้งภาครัฐ และเอกชน ชู depa – Fund เพื่อสนับสนุนทุกรูปแบบของอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมเปิดรับสมัครเพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการผ่านมาตรการต่างๆ โดยแบ่งเป็น 8 มาตรการส่งเสริมและสนับสนุน โดยสนับสนุนสูงสุดตั้งแต่ 50,000 บาท – 250 ล้านบาทต่อกิจการ ภายใต้เป้าหมายสร้างธุรกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดีป้าเดินหน้าพันธกิจการให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้และสร้างให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของผู้ประกอบการ และดิจิทัลสตาร์ทอัพ ดีป้าจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน หรือ depa – Fund เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศ ซึ่งเปิดรับสมัครการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยประกอบไปด้วย
มาตรการขับเคลื่อนดิจิทัลด้านเศรษฐกิจ
1) การสร้างให้เกิด ดิจิทัลสตาร์ทอัพ (Digital Startup) รุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นยูนิคอน (Unicorn) ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 เพื่อจัดทำแผนงานเบื้องต้น ระดับการแปลงความคิดสู่การเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (Conceptual Plan) สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 50,000 บาท/ราย ระยะที่ 2 ช่วงการเริ่มต้นหรือจัดตั้งธุรกิจ สนับสนุนสูงสุด 1,000,000 บาท/ราย และระยะที่ 3 ระยะเติบโตของดิจิทัลสตาร์ทอัพ (Growth) สนับสนุนสูงสุด 5,000,000 บาท/ราย
2) การกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคเอกชน (Digital Transformation) ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (depa Digital Transformation Fund) แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือแบบที่ 1 เพื่อการจัดทำแผนงานเบื้อต้นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 50,000 บาท/ราย และแบบที่ 2 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 1,000,000 บาท/ราย (โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าโครงการ)
3) การสร้างองค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ในอุตสาหกรรม ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการร่วมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Research Development and Innovation Fund) สนับสนุนสูงสุด 3,000,000 บาท/ราย (โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ)
4) การสร้างโอกาสด้านการตลาดให้ธุรกิจดิจิทัลผ่านกิจกรรมส่งเสริม การจับคู่ธุรกิจ การประกวด การสร้างความตระหนัก โดยอาศัยมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริม หรือประกวดการสร้างความตระหนัก การจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Event and Marketing Fund) สนับสนุนสูงสุด 5,000,000 บาท/ราย (โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าโครงการ)
มาตรการขับเคลื่อนดิจิทัลด้านสังคม
1) การสร้างกำลังคนและบุคลากรดิจิทัล (Digital Manpower) ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Manpower Fund) ซึ่งแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก Digital Manpower Fund เพื่อพัฒนาและผลิตกำลังคนและบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล ทั้งในระดับการใช้งานขั้นพื้นฐาน และระดับการใช้งานในสาขาอาชีพ ระดับการใช้งานขั้นผู้เชี่ยวชาญ ระดับทักษะที่มีความต้องการเร่งด่วน สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 100,000 บาท/ราย (หมายเหตุ แบ่งตามระดับทักษะ) ส่วนที่สอง Digital Manpower for Executive เพื่อพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในระดับผู้บริหาร สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 300,000 บาท/ราย
2) การสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) แบ่งการสนับสนุนออกเป็น ส่วนแรก Conceptual Plan for Community เพื่อการจัดทำแผนงานเบื้องต้นเพื่อใช้พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 50,000 บาท/ราย และส่วนที่สอง Digital Transformation for Community สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชุมชน สนับสนุนในลักษณะเงินให้เปล่า (grant) สูงสุด 500,000 บาท/ราย
มาตรการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
เป้าหมายเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล การวิเคราะห์ การทดสอบ การสอบเทียบเครื่องมือ การทดลอง และพื้นที่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ห้องปฏิบัติการ พื้นที่เพื่อการสร้างเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล ระบบคอมพิวเตอร์แบบหมู่เมฆ (Cloud Computing) ฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ระยะของการออกแบบ การปรับปรุงอาคารหรือการก่อสร้าง หรือสมทบสำหรับอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง ซึ่งให้การสนับสนุนในสองมาตรการ
1) มาตรส่งเสริมและสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของภาคเอกชน (depa Digital Infrastructure Fund for Private Investment) สนับสนุนสูงสุด 50,000,000 บาท (คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ)
2) มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ (depa Digitaal Infrastructure Fund for Government & Public Investment) สนับสนุนสูงสุด 250,000,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นการสนับสนุนสำหรับศึกษาความเป็นไปได้ ไม่เกิน 20 ล้านบาท สนับสนุนค่าบริหารโครงการไม่เกิน 30 ล้านบาท และสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 200,000,000 บาท สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ
ทั้งนี้ ดีป้า เชื่อว่ามาตรการในการสนับสนุนดังกล่าว จะช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศบนฐานความรู้ใหม่ พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ เพื่อการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกมิติ เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งภาคเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โทร. 02 141 7100-1 และสามารถร่วมสัมผัสประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจ และเข้าใจถึงประโยชน์ ความสะดวกสบาย และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าใจและใช้ BIG DATA อันจะส่งผลขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกภาคส่วนทั้งระบบเศรษฐกิจมหภาค การศึกษา การพัฒนาโครงสร้างประเทศ งาน Digital Thailand Big Bang 2018 ขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2561 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งถือเป็นงานด้านดิจิทัลที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th
######
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
คุณกมลเนตร มีชัย (กวาง) โทรศัพท์ 089 295 5830
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ aad-pr@depa.or.th
หรือที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์สำนักงาน
คุณภัทรเดช วัชราพงษ์ (เอ) โทรศัพท์ 081 584 8458
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ pr.weemweem@gmail.com