กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ไทย ร่วมมือจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ “มิติใหม่ เหมืองแร่ไทย : ก้าวสู่หลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Thailand Green and Smart Mining Forum 2018) ในวันจันทร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาการทำเหมืองแร่บนหลักธรรมาภิบาลและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อยู่กับชุมชนโดยรอบอย่างมีความสุข เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนอันจะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ตลอดจนเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัลการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือมีการประกอบกิจการที่ดีได้นำเสนอผลงานและแนวทางการทำงานเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการเมืองแร่รายอื่นๆ อันเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แร่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปุ๋ย เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตแร่กว่า ๔๐ ชนิด มีการทำเหมืองเพื่อผลิตแร่ใช้ในประเทศ มีทั้งนำเข้าและส่งออก โดยในอดีตเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตแร่ในรูปวัตถุดิบเพื่อส่งออกเป็นหลักจนกระทั่งประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีการใช้แร่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แร่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ประเทศมีการใช้ทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอีกด้านหนึ่ง การนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์โดยการทำเหมืองแร่ มักส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไม่มากก็น้อย ตลอดจนมีการเรียกร้องสิทธิของประชาชนและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ การดูแลรักษาสิ่งแวด ล้อม รวมถึงการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนาน ภาพลักษณ์ของการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ผ่านมาจึงมักเป็นภาพลบ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในระยะที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
รัฐบาลได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติในทุกมิติ ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติแร่เพื่อจะแก้ไขปัญหาที่มีมาในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเหมืองแร่จากวันนี้ไปสู่อนาคต ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน วิถีชีวิตของชุมชนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะต้องมีความสมดุลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต้องคำนึงว่าการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำอย่างไรที่ได้ประโยชน์แล้วจะต้องไม่กระทบต่อชีวิตพี่น้องประชาชนมากจนเกินไป รวมทั้งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อจะควบคุม กำกับดูแล ให้การทำเหมืองแร่มีธรรมาภิบาล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน
นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นดำริของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้เป็นเวทีการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาเหมืองแร่ที่ยึดหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชนและสังคม และเป็นเวทีเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.๒๕๖๐–๒๕๖๔ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการทำเหมืองแร่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการและภาคประชาชน องค์ประกอบงานประกอบด้วย ปาฐกถาเรื่อง “มิติใหม่ เหมืองแร่ไทย : ก้าวสู่หลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบรรยายในหัวข้อ “เหมืองแร่ไทย ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔” โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” โดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมทั้งการแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัลหรือเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ยังมีเวทีการเสวนาที่น่าสนใจและเป็นประเด็นหลักของงาน ในหัวข้อ “มิติใหม่ เหมืองแร่ไทย สู่ดุลยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเสวนาประกอบด้วย โดยอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และประธานคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในภารกิจและการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละหน่วยงาน ว่ามีการสนับสนุนเกี่ยวกับการทำเหมืองอย่างมีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมไปถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต ที่จะพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ และผลักดันธุรกิจเหมืองแร่ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การปฏิบัติที่มีหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืนอย่างไร
“สำหรับการจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ที่เข้าร่วมงาน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนรวมกว่า ๖๐๐ คน จะได้รับความรู้ ข้อชี้แนะ หรือข้อแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับใช้ในการบริหารและการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการมีธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือสร้างความเชื่อมั่นของการทำเหมืองในมิติใหม่ ซึ่งจะไม่ได้เน้นภาพการทำเหมืองที่เป็นภาพของการทำลายหรือความขัดแย้ง แต่เป็นการทำเหมืองที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างภาคผู้ประกอบการกับภาคประชาชนต่อไปอย่างยั่งยืน”
ผู้ร่วมจัดงานครั้งนี้ประกอบด้วยกรมทรัพยากรธรณี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สภาการเหมืองแร่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมย่อยหินไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย