ยา อาหาร และการดูแลผู้สูงอายุ
ยากับผู้สูงอายุ
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น มักมีโรคประจำตัวหลายชนิด ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วผู้สูงอายุมักจะได้รับ 4-5 ชนิดตามแพทย์สั่งและอีก 2 ชนิดจากการซื้อหามาเอง
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามวัย ทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย ปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 10-20 และที่สำคัญคือ 2 ใน 3 ของผลข้างเคียงเหล่านี้สามารถป้องกันได้
สาเหตุของการเกิดปัญหาในการใช้ยาในผู้สูงอายุ มีดังนี้
1. ผู้สูงอายุมีโรคหลายชนิด ทำให้ได้รับยาหลายอย่าง ทำให้ยาอาจมีผลต่อกัน
2. ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่มีผลต่อการทำงานของยา เช่น ตับและไตทำงานได้ลดลง ทำให้เปลี่ยนแปลงยาและกำจัดยาออกจากร่างกายได้ลดลง อาจเกิดระดับระดับยาเกิดเป็นพิษได้ ความสามารถของสมองลดลงอาจมีอาการสับสันได้จากการใช้ยาที่คนหนุ่มสาวๆ รับประทานแล้วไม่เป็นอะไร เป็นต้น
3. ปัญหาด้านลักษณะการใช้ยาของผู้สูงอายุ เช่น ผู้สูงอายุไม่ไปพบแพทย์ อาจเนื่องจากปัญหา ด้านร่างกายและจิตใจที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ หรือปัญหาด้านการเดินทาง ด้านการเงิน เป็นต้น บางครั้งเกิดจากความเชื่อที่ชอบซื้อยามารับประทานเอง หรือเอายาเก่าๆ ที่เคยได้มารับประทานเอง เป็นต้น
การป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ
1. มีชื่อยาและชื่อโรคที่เป็นไว้ ตลอดจนมีชื่อยาที่เคยแพ้ไว้กับตัวและแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ
2. พยายามเริ่มต้นการรักษาแบบไม่ใช้ยาก่อนเสมอ เช่น ท้องผูก ควรรักษาด้วยการดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากเส้นใยมากเป็นต้น
3. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง อย่างสม่ำเสมอ และติดตามการรักษากับแพทย์เป็นระยะ อย่านำยาเดิมไปซื้อมารับประทานเอง เนื่องจากบางครั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนยาตามสภาพร่างกายและโรคที่เปลี่ยนแปลงไป
4. นำยาทั้งหมดที่รับประทาน ไม่ว่าจะได้จากที่ใด ไปให้แพทย์เช็คเป็นระยะ
5. หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง และหลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีผลเสียต่อร่างกายได้
6. ตรวจดูวันหมดอายุของยา โดยทั่วไปยาที่ได้รับจากจะยังมีระยะเวลาก่อนยาหมดอายุนานพอควร แต่อย่างไรก็ตามถ้าใช้ยาเก่าที่เหลืออยู่ ควรมั่นใจว่ายายังไม่หมดอายุ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ พยายามอย่าเก็บยาเหลือใช้ไว้รับประทานในวันหน้า เนื่องจากยาอาจหมดอายุ หรือในวันหน้าที่ไม่สบายอาจไม่ควรใช้ยาตัวเดิมแล้ว
7. ก่อนจะหยุดยาที่ได้รับมา ควรปรึกษาและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงสาเหตุที่จะหยุดยานั้น เช่นเกิดผลข้างเคียง ยาไม่ได้ผล วิธีการรับประทานยาซับซ้อนเกินไป หรือราคายาแพลงเกินไป เป็นต้น
8. ควรรับการรักษาและติดตามกับแพทย์คนเดิม เนื่องจากจะทราบประวัติการใช้ยาตลอด แต่หากต้องรักษากับแพทย์มากกว่า 1 คน ต้องนำประวัติเก่าและรายการยาที่ใช้อยู่ให้แพทย์ทุกคนทราบ
9. อาจใช้กล่องยาในการช่วยจำ ทำให้ง่ายต่อการรับประทานยามากขึ้น
10. ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความจำ แพทย์ควรแนะนำให้ผู้ดูแลหรือญาติที่อยู่ด้วยเป็นผู้จัดยาให้ผู้ป่วย
อาหารของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อร่างกายเจริญเติบโตถึงขีดสุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายจะเป็นไปในด้านเสื่อมสลาย มากกว่าการสร้างเสริม
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การทำงานของระบบประสาทจะด้วยลง ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อาจเป็นโรคฟันผุ หรืออาจจะไม่มีฟันเลยทั้งปาก ต่อมน้ำลายหลั่งสารน้ำลายน้อยลง มีผลทำให้การบดเคี้ยวอาหารภายในปากเป็นไปได้ไม่ดีนัก เมื่ออาหารมาถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก อาจจะทำให้มีปัญหาการย่อยและการดูดซึม เพราะน้ำย่อยในกะเพราะอาหารและลำไส้เล็กมีน้อยลงอาหารที่ย่อยไม่ได้ เมื่อผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่ก็จะเกิดการสะสมเกิดแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และปล่อยก๊าซออกมาทำให้ท้องขึ้นอืดได้ การเคลื่อนไหวของลำไส้ก็มีน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว ทำให้เกิดอาการท้องผูก
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่มีคุณภาพสูงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ จึงควรกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
หมู่ที่ 1 : เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
เพื่อเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- เนื้อปลาจะเหมาะมากสำหรับผู้สูงวัยเพราะย่อยง่าย
- ไข่ไก่หรือไข่เป็ดควรต้มให้สุก
- นมสดพร่องมันเนย เป็นอาหารที่ให้แคลเซียมและโปรตีน
- ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงและมีราคาถูก ใช้แทนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น
หมู่ที่ 2 : ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน
สารอาหารหมู่นี้เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ผู้สูงวัยควรกินในปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรกินมากเกินไป
หมู่ที่ 3 : ผักต่างๆ
ผักเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ผู้สูงวัยควรเลือกกินผักหลายๆ ชนิดสลับกัน ควรต้ม หรือนึ่งจนสุกไม่ควรบริโภคผักดิบ เพราะย่อยยากและทำให้ท้องอืดได้
หมู่ที่ 4 : ผลไม้ต่างๆ
ผู้สูงวัยสามารถกินผลไม้ได้ทุกชนิดและควรกินผลไม้ทุกวัน เพื่อให้ได้วิตามินซีและเส้นใยอาหารและควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม ฯลฯ
หมู่ที่ 5 : ไขมัน/น้ำมันพืช
ควรใช้น้ำมันพืชปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากสัตว์และน้ำมันพืชบางชนิด เช่นน้ำปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
แนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
นอกจากการรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ทุกมื้อเพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
- พักผ่อนเพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง
- พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
- ฝึกการขับถ่าย อย่าให้ท้องผูก
- ดูแลสุขภาพ ช่องปาก ฟัน และเหงือก อยู่เสมอ
- ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ปีละ 2 ครั้ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- งดสิ่งเสพติดที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่
- ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- มองโลกในแง่ดี จะทำให้จิตใจสดใส อารมณ์ดี
- ควรหาโอกาสพบปะสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
9 วิธีการดูแลผู้สูงอายุ
บ้านเรือนไหนมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยต้องดูแล จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในยุควิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง การป้องกันดูเหมือนว่าจะเป็นยาขนานเอกที่ได้ผลเกินคาด
1. เลือกอาหาร ในผู้สูงอายุร่างกายจะมีการใช้พลังงานน้อยลง จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ให้เน้นอาหารประเภทโปรตีนจาก เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา และเพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในนม ถั่วเหลือง ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ และควรทานอาหารประเภท ต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนอาหารประเภทที่ผัด ทอด จะช่วยลดปริมาณไขมันในอาหารได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
2. ออกกำลังกาย หากไม่มีโรคประจำตัวแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสัก 30 นาที/ครั้ง ทำให้ได้สัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง จะเกิดประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก โดยขั้นตอนการออกกำลังกายจะต้องค่อยๆ เพิ่มความหนักขึ้น จนถึงระดับที่ต้องการ ทำอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นค่อยๆ ลดลงช้าๆ หยุด เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับตัว
3. สัมผัสอาการที่บริสุทธิ์ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ อาจเป็นสวนสาธารณะใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยว หรือการปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้เหมาะสม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ หอบหืดได้
4. หลีกเลี่ยงอบายมุข ได้แก่ บุหรี่ และสุรา จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือ ความรุนแรงของโรคนั้นได้ ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย
5. ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยเลือกกิจกรรม ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและโรคที่เป็นอยู่ ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือการหกล้ม
6. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่น คลำได้ก้อน โดยเฉพาะก้อนโตเร็ว แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก ท้องอืดเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการดังกล่าว ควรมาพบแพทย์ดีที่สุด
7. ควบคุมน้ำหนักตัว หรือลดความอ้วน โดยควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะช่วยทำให้เกิดความคล่องตัว ลดปัญหาการหกล้ม และความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
8. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อยากินเอง การใช้ยาเดิมที่เก็บไว้มาใช้รักษาอาการที่เกิดใหม่ หรือ รับยาจากผู้อื่นมาใช้ เนื่องจากวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตในการกำจัดสารพิษลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาหรือผลข้างเคียง อาจมีแนวโน้มรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาจะดีที่สุด
9. ตรวจสุขภาพประจำปี หรืออย่างน้อยทุกๆ 3 ปี โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคหลอดเลือดแข็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ตรวจการมองเห็น การได้ยิน และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การทำจิตให้แจ่มใสมองโลกในแง่ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินไปเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้มีสุขภาพดีขึ้น
…………………………………………………………………
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณรูปภาพจาก : sukkhapapjissy.blogspot.com / www.thaiseniormarket.com / www.thaihealth.or.th / mahosot.com / www.foodmanufacture.co.uk
ทีมงานตาโตเรียบเรียงนำเสนอ