พืชและดอกไม้ที่พบได้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น
2016-08-30 18:11:16

พืชและดอกไม้ที่พบได้แค่ในประเทศไทยเท่านั้น

 

     พืชและดอกไม้มีมากมายหลายชีวิตทั่วโลก ทั้งสวยงามแปลกตาหรืออาจจะมีพิษร้ายแรง แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่? พืชและดอกไม้ที่สามารถพบได้ในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นจะมีพันธุ์อะไรบ้าง และพันธุ์พืชที่ค้นพบนั้นอาจจะเป็นพันธุ์พืชที่อาจจะเป็นชนิดใหม่ของโลกเลยก็ได้ ถ้าอยากรู้ว่ามีพันธุ์อะไรบ้างก็มาหาคำตอบกันได้เลยครับ

 

หญ้าเกาะกูด

 

Cr. www.neutron.rmutphysics.com

 

     ในปี 2513 ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ นักวิชาการ 5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. และ ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ได้ค้นพบหญ้าชนิดใหม่ของโลกและให้ชื่อว่า “หญ้ามะกรูด” (Arundinellakokutensis Teerawat. & Sungkeaw) พบที่บริเวณน้ำตกคลองเจ้าเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นหญ้าล้มลุกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงถึง 40 เซนติเมตร ลำต้นเรียวเล็กและอวบน้ำ คาดว่าน่าจะเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ของหญ้าเกาะกูดในวารสารทางวิชาการ

 

 

 

สิรินธรวัลลี

 

Cr. www.bloggang.com

 

     ในปี 2538 ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะ พบต้นเสี้ยวประหลาดบริเวณชายป่าดิบแล้งบนเทือกเขาใน จังหวัดหนองคาย ต่อมาเมื่อ .ไคล์ ลาร์เซน (Kai Larsen) ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ชาวเดนมาร์ก และอาจารย์สุพีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน (ภรรยา) ตรวจสอบพบว่าเสี้ยวต้นนี้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก มีกลีบเลี้ยงห่อคล้ายกาบ ทำให้กลีบดอกไม่สามารถกางออกได้เต็มที่เมื่อดอกบาน จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามพระองค์ท่าน โดยใช้ชื่อว่า “สิรินธรวัลลี” หรือ Bauhinia sirindhorniae K & S.S. Larsen หมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพฯ

 

 

 

จำปีช้าง

Cr. www.bloggang.com

 

     เมื่อปี 2541 คณะวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จังหวัดปทุมธานี นำโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และทีมงาน ออกสำรวจบริเวณพื้นที่ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีระดับสูงมากกว่า 1,200 เมตร พบ “จำปีช้าง” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Magnolia citrte Noot. & Chalermglin) ซึ่งเป็นพืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ถิ่นที่มีอยู่ในเฉพาะในไทยเท่านั้น การค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ Blumea ของหอพรรณไม้ไลเดนแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และปัจจุบัน วว. ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์จำปีช้างแล้ว

 

 

 

สร้อยสยาม

Cr. vintagesweethome.com

 

     สร้อยสยาม หรือ ชงโคสยาม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Bauhinia siamensis K. & S. S. Larsen คุณธวัชชัย วงศ์ประเสริฐเป็นผู้ที่ค้นพบเป็นคนแรกเมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธุ์ ปี 2544 ซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ภูเมี่ยง จังหวัดพิษณุโลก ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณที่มีไผ่หนาแน่น ระดับความสูง 300 เมตร สร้อยสยามเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ดอกออกเป็นช่อห้อยลงยาวได้ประมาณ 80 เซนติเมตร

 

 

 

ต้นอนุพรหม

 

Cr. www.vcharkarn.com

 

     “ต้นอนุพรหม” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Craibella phuyensis โดย  ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และคณะ ค้นพบพันธุ์ไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา คือ สกุลอนุพรหม ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวคือ ต้นอนุพรหม บริเวณบ้านพุเย ตำบลชะแล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ต้นอุพรหมเป็นพืชถิ่นเดียวเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น ซึ่งการค้นพบนี้มีการตีพิมพ์รายงานลงในวารสาร Systematic Botany วารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ได้รับการยอมรับสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 29(1) ปี 2547 หน้า 42 - 47

    

 

 

ธัญกาฬ - รินลอุบล

     ผศ.ภูรินทร์ อัครกุลธร หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษกองพัฒนาอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พบบัว 2 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมสายพันธุ์แบบธรรมชาติในบึงบัวของพิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี ให้ชื่อว่าบัว “ธัญกาฬ” และ “รินลอุบล”

 

 

Cr. www.lotus.rmutt.ac.th

 

     “ธัญกาฬ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea Spp(Hybrid) เป็นบัวกลุ่มสายเขตร้อน ดอกและใบสีแดงเหลือบม่วงดำ เป็นบัวที่บานในช่วงเวลากลางคืนหรือในที่มืด หลังใบมีจุดประสีดำ พบในปี 2549 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศถ้วยพระราชทานประเภทบัวสาย งานประชุมบัวนานาชาติเฉลิมพระเกียรติประจำ 2550 ณ สวนหลวง ร.9 กรุงเทพมหานคร

 

 

 

Cr. www.oknation.net

 

     “รินลอุบล” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea spp(Hybrid) หน้าใบมีสีเขียวอ่อน หลังใบสีเขียว มีกระสีน้ำตาลแดงเข้มทั่วไป ดอกบานปลายกลีบมีสีชมพู ค้นพบใน ปี 2550

 

 

 

เปราะต้นศิริรักษ์

 

Cr. www.vnphoto.net

 

     ผศ.ดร.ฉัตรชัย งามเรียบสกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเปราะต้น (Caulokaempferia) วงศ์ขิงข่า บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และตั้งชื่อว่า Caulokaempferia sirirugsae Ngamriab. หรือชื่อภาษาไทยว่า “เปราะต้นศิริรักษ์” เป็นพืชล้มลุก ขึ้นตามโขดหินที่มีความชื้นสูง เป็นพืชหายากและพบเฉพาะถิ่นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ของสแกนดิเนเวียชื่อ Nordic Journal of Botany ฉบับธันวาคมปี 2551

 

 

 

มะลิเฉลิมนรินทร์

Cr. www.manager.co.th

 

     ในปี 2552 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ค้นพบมะลิเฉลิมนรินทร์ที่เนินเขาหินปูนเตี้ยๆ สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าพรรณไม้ดังกล่าวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์และเป็นชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Blumea วารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์  ซึ่งทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มะลินรินทร์” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีความหมายว่า มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน

 

 

 

หงส์เหิน

Cr. www.oknation.net

 

     “หิงส์เหิน” เป็นผลงานการวิจัยของ รศ.ธัญญะ เตชะศีลพิทักษ์ นักวิจัยภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาพืชวงศ์ขิงเพื่อการส่งออกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2555 หงส์เหินเป็นพืชวงศ์ขิง แต่เดิมมีเพียง 2 สี คือ ชมพูและขาว แต่สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาได้มี 3 สี คือ แดง ชมพู และขาว ด้วยสีสันและรูปร่างทรงดอกที่หลากหลายช่วยเสริมหรือทดแทนการตลาดของหงส์เหินพันธุ์เดิมได้ดีขึ้นได้

 

 

 

กล้วยไม้ดิน 3 ชนิดใหม่ของโลก

 

เอื้องศิริชัย

Cr. ch3.sanook.com

 

     เมื่อเดือนเมษายน ปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี สำรวจพบเอื้องศิริชัย ขณะกำลังเดินลาดตระเวนสำรวจพื้นที่บริเวณห้วยสามแพร่งใกล้ชายแดนไทย-พม่า เอื้องศิริชัยเป็นกล้วยไม้ดิน อาศัยรา ไม่มีใบ มีหัวใต้ดิน ออกดอกสีขาวเป็นช่อๆ ละ 3 - 5 ดอก จัดอยู่ในสกุล Didymoplexis ซึ่งไม่เคยค้นพบมาก่อน โดยให้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Didymoplexis sirichaii Suddee

 

 

เอื้องกลีบติดพังงา

Cr. www.khaosod.co.th

 

     เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล และนายวรดลต์ แจ่มจำรูญ เจ้าหน้าที่สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการสำรวจพบ “เอื้องกลีบติดพังงา” กล้วยไม้ดินในป่าดิบชื้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gastrodia phangngaesis Suddee, Sirimongkol & Chamch.

 

 

ว่านแผ่นดินเย็นอุ้มผาง

 

Cr. www.khaosod.co.th

 

    ในปี 2555 นายสุชาติ จันทร์หอมหวล นักถ่ายภาพธรรมชาติ อำเภออุ้มผาง ได้นำภาพถ่ายมาให้นักพฤกษศาสตร์ที่สำนักงานหอพรรณไม้ฯ ตรวจสอบ พบว่าเป็นกล้วยไม้ดินในสกุลว่านแผ่นดินเย็นที่ไม่เคยพบมาก่อน นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษสำนักงานหอพรรณไม้ฯ และคณะ จึงติดตามเก็บตัวอย่างดอกได้ในเดือนเมษายน ปี 2556 ในพื้นที่ป่าเต็งรัง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลนี้ คือ ดร.สเตฟาน เกล นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ และนายสุคิด เรืองเรื่อ นักพฤกษศาสตร์จากหอพรรณไม้ฯ ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดยใช้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Nervilia umphangensis Suddee, Rueangruea & S.W. Gale โดยได้ตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์นานาชาติ Phytotaxa ฉบับที่ 166 (2) หน้า 139-144 ปี 2557 และให้ชื่อไทยว่า “ว่านแผ่นดินเย็นอุ้มผาง”

 

 

 

 

พืชไทยในวงศ์ชาฤาษี 6 ชนิดใหม่ของโลก

     นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ถึง 6 ชนิด ได้แก่ บุหงาการะเกตุ, เศวตแดนสรวง, เนตรม่วง, ข้าวตอกโยนก,  มาลัยฟ้อนเล็บ และ สดุดีดาว โดยพบเมื่อปี 2551 ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย หลังจากตรวจสอบไปยังสถาบันด้านพืชในประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศสได้รับการยืนยันว่าเป็นพืชไทยในวงศ์ชาฤาษีชนิดใหม่ของโลก และได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทย ฟอเรส บูเลติน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แล้ว

 

 

Cr. www.tistr.or.th

 

     “บุหงาการะเกตุ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita karaketii D.J.Middleton & Triboun พบบริเวณอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามป่าผลัดใบแบบผสมและภูเขาหินปูน ที่มีความสูง 530 - 750 เมตร จากระดับน้ำทะเล บุหงาการะเกตุตั้งชื่อเพื่อเป็นเกตุแก่คุณปรีดา การะเกตุ นักพฤกษศาสตร์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ร่วมสำรวจ บุหงาการะเกตุเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 60 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว

    

 

     “เศวตแดนสรวง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Parabowa middletonii Triboun พบในเขตของจังหวัดน่าน บนเขาหินปูนในร่มรำไร ที่มีความสูง 1,000 - 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูง 10 - 30 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว รูประฆังคว่ำ

 

 

     “เนตรม่วง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita purpurea D.J.Middleton & Triboun เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 0.25 - 1 เมตร ดอกสีม่วงเข้ม พบบริเวณหน้าผาหินปูนแบบเปิดหรือบริเวณปากถ้ำอำเภอหางแมว จังหวัดจันทบุรี

   

 

     “ข้าวตอกโยนก” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita albiflora D.J.Middleton & Triboun พบบริเวณ อำเภอแม่ฟ้าหลวงและแม่สาย จังหวัดเชียงราย ข้าวตอกโยนกเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ดอกสีขาว

 

 

     “มาลัยฟ้อนเล็บ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita woodii D.J.Middleton & Triboun พบในเขตอำเภอเมืองน่าน ตามเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ มาลัยฟ้อนเล็บเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวอมเหลืองถึงสีเหลืองอ่อน

 

 

     “สดุดีดาว” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita suddeei D.J.Middleton & Triboun พบในเขตอำเภอร้องกลาง จังหวัดแพร่ และ อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม และบ้านสา จังหวัดลำปาง ตามหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบแบบผสม ที่มีความสูง 200 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล สดุดีดาวเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 40 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวถึงสีม่วงอ่อน

 

 

 

ยังมีพืชและดอกไม้ที่ยังไม่มีการค้นพบอีกมากมายในประเทศไทย

และยังมีสิ่งใหม่ๆ ที่รอให้คุณไปค้นพบตามธรรมชาติ

เพียงคุณออกไปท่องเที่ยวตามธรรมชาติก็อาจจะเจอ

แล้วไปเที่ยวกันเยอะ ๆ นะครับธรรมชาติรอคุณอยู่

 

 

………………………………………………………………………………………….

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : บันทึกไทย www.thailandbookofrecords.com และ AjarnA

ทีมงานตาโตเรียบเรียงนำเสนอ


Admin :
view
:
8889

Post
:
2016-08-30 18:11:16


ร่วมแสดงความคิดเห็น