ประเพณี 1 เดียวในไทย
2016-08-29 18:04:00

ประเพณี 1 เดียวในไทย ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้?

 

     ประเพณีของไทยมีเยอะแยะมากมาย จนเราก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่ในประเทศไทยด้วยหรอ? เราจะพามาดูประเพณี 1 เดียว ที่ใครต่อหลายคนอาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่ามีเฉพาะในไทยเท่านั้น จะแปลกและอเมซิ่งไทยแลนด์แค่ไหนเรามาดูกันเลยดีกว่า

 

ประเพณี "ลากพระข้ามทะเล"

Cr. สยามรัฐ

 

     ณ ตำบลหาดสำราญ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เป็นประเพณีเก่าแก่และยาวนาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวปากปรนจะร่วมกันนำเอาเรือทีใช้ทำประมงมาประกอบตกแต่งเป็นเรือพระ แล้วใช้เรือลำอื่นๆ ผูกลากไปในคลองปรน ไปยังแหลมจุโหย อำเภอกันตรัง ระยะทาง ๑๑ ไมล์ทะเลเมื่อถึงแหลมจุโหย จะจัดกิจกรรมกลางแจ้งบริเวณชายหาด จากนั้นจะตั้งขบวนเรือและร่วมกันลากกลับที่ท่าเรือบ้านปากปรน

 

 

 

ประเพณี "รับบัว"

Cr. site.manotum.com

 

    เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ในสมัยก่อนท้องที่ อ.บางพลี มีดอกบัวหลวงชุกชุมและมีมากในฤดูฝน ดังนั้นในเทศกาลออกพรรษา ประชาชนต่างอำเภอจึงพากันไปหาดอกบัวหลวงที่ อำเภอบางพลี ต่อมาชาวบางพลีจึงได้ตระเตรียมดอกบัวหลวงไว้แจกชาวต่างอำเภอ อันกลายมาเป็นประเพณี “รับบัว” สำหรับดอกบัวที่ได้รับมานั้นก็จะนำไปบูชาพระในวันเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน

 

 

 

ประเพณี "ชักพระทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว"

Cr. www.toursurat.com

 

     เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมากกว่า ๑๐๐  ปี ของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะจัดพุ่มผ้าป่ากว่า ๑,๐๐๐ พุ่มพร้อมกันทั่วเมือง พร้อมกับมีการแห่รถ – เรือพนมพระ จากวัดต่างๆ และยังมีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 

 

ประเพณี "ตักบาตรดอกเข้าพรรษา"

Cr. plyplyenjoys.wordpress.com

 

      ณ วัดพรพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี โดยจะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันตักบาตรดอกเข้าพรรษา ผู้คนจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน ซึ่งจะออกดอกในช่วงเข้าพรรษาพอดี นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธ โดยมีความเชื่อว่าผลบุญจะส่งผลให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

 

 

ประเพณี "เวียนเทียนกลางน้ำ"

Cr. iam.hunsa.com

 

     จัดขึ้นครั้งแรกที่กว๊านพะเยา อำเภอเมืองพะเยา ในวันอาสาฬหบูชา ปี ๒๕๕๐ การเวียนเทียนกลางน้ำจะกระทำปีละ ๓ ครั้ง คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา โดยพิธีจะเริ่มในตอนเย็น พระสงฆ์ เณร และพุทธศาสนิกชนจะลงเรือไปกราบสักการะหลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า ๕๐๐ ปี  ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา จากนั้นก็จะทำการเวียนเทียนกลางน้ำรององค์หลวงพ่อศิลาและวัดติโลกอาราม จำนวน ๓ รอบ

 

 

 

ประเพณี "ใส่บาตรเทียน"

Cr. www.xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com

 

     จัดขึ้นที่วัดบุญยืน (พระอารามหลวง) อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เชื่อกันว่าประเพณีนี้เริ่มขึ้นหลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญสร้างวัดบุญยืนได้ ๑ ปี หรือตั้งแต่ปี ๒๓๔๔ ในยุคเริ่มต้นเป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืน ต่อมาได้ขยายไปยังอื่นๆ ปัจจุบันกลายเป็นที่ยึดถือปฏิบัติกันทั้ง ๖๓ วัด ใน อ.เวียงสา โดยจะจัดการตักบาตรเทียนในวันหลังวันเข้าพรรษา หรือวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๘

 

 

 

ประเพณี "อุ้มพระดำน้ำ"

Cr. isnhotnews.com

 

     เริ่มมีขึ้นวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๒ โดยเมื่อแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอยชาวบ้านตามหาและพบองค์พระลอยอยู่ในแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบพระพุทธรูปครั้งแรกจากนั้นมา ทุกวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาไปประกอบพิธีดำน้ำ ได้กระทำสืบทอดกันมาด้วยความเชื่อและแรงศรัทธา

 

 

 

ประเพณี "ทอดผ้าป่ากลางน้ำ"

Cr. wilinprapha.blogspot.com

 

     จัดขึ้นที่ปากน้ำประแส เมืองชายทะเลของ จังหวัดระยอง ประเพณีนี้มีมานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แต่ได้หยุดจัดไประยะหนึ่ง เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน เมื่อปี ๒๔๘๔ แล้วเริ่มจัดใหม่ในปี ๒๔๘๗ ปัจจุบันมีการทำแพผ้าป่าไว้กลางแม่น้ำประแส พร้อมนิมนต์พระทำพิธีทอดผ้าป่าบนแพ ส่วนพุ่มผ้าป่าตามบ้านเรือนประชาชนก็คงไว้เหมือนเดิม พระภิกษุจะจับสลากหมายเลขสุ่ม แล้วเดินชักพุ่มผ้าป่าตามหมายเลขที่จับได้

 

 

 

ประเพณี "ทอดผ้าป่าแถว"

Cr. thailandbysai.wordpress.com

 

     เป็นประเพณีของ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการนำผ้าสำหรับพระภิกษุที่คฤหัสถ์นำไปวางทอดไว้ในป่าเสมือนว่าทิ้ง เพื่อให้พระภิกษุนำไปใช้เป็นผ้าบังสุกุล อาจมีผ้าเช็ดตัวสีเหลืองและบริวารผ้าป่า ใส่รวมกันในชะลอมหรือถังน้ำนำไปรวมกันที่วัด ทางวัดจะจัดเตรียมกิ่งไม้ปักรอไว้เรียงกันเป็นแถว คฤหัสถ์จะจับฉลากชื่อพระภิกษุ และนำไปติดยังผ้าป่าของตน แล้วรอพระภิกษุเดินหาฉลากชื่อของท่าน เมื่อพบแล้วท่านก็จะชักผ้าป่าและให้พร จากนั้นลูกศิษย์วักหรือเจ้าของผ้าป่าจะนำผ้าป่าและบริวารผ้าป่าตามไปส่งให้ท่านถึงกุฏิที่พัก โดยในอดีตมักจะจัดขึ้นในขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ แต่ปัจจุบันอาจกระทำในวันสำคัญทางศาสนาอื่นๆ เช่น วันมาฆบูชา

 

 

 

ประเพณี "งานชักพระวัดนางชี"

Cr. www.thaigoodview.com

 

     หรืองานปัจจุบันเรียกว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ” เป็นงานบุญประจำปีที่ถือปฏิบัติกันมานานจัดขึ้นทางฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งต่างจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ตรงที่มีการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชี พอถึงวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน ก็หยุดขบวนและขึ้นเลี้ยงพระที่นั่น เสร็จแล้วก็ล่องขบวนกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม การแห่ครั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า “แห่อ้อมเกาะ”

 

 

 

ประเพณี "วิ่งควาย"

Cr. www.xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com

 

     เป็นประเพณีของจังหวัดชลบุรีที่มีมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษาหนึ่งวัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายและให้ควายได้พักผ่อนหลังจากทำงานหนักในท้องนามาเป็นเวลานาน ในงานนี้เจ้าของควายจะทำการตกแต่งควายด้วยแพรพรรณและดอกไม้หลากสี ส่วนเจ้าของควายก็จะแต่งตัวแบบแปลกตา นอกจากแข่งขันวิ่งควายแล้ว ยังมีประกวดควายงามและประกวดสุขภาพควายอีกด้วย

 

 

 

ประเพณี "ตีคลีไฟ"

Cr. www.banmuang.co.th

 

     เป็นประเพณีที่เล่นกันช่วงฤดูหนาวหลังออกพรรษา แรกเริ่มการเล่นเรียกว่า “คลีโหล๋น” ซึ่งยังไม่มีการจุดไฟที่ลูกคลี เป็นการแข่งขันด้วยกติกาง่ายๆ ผู้ตีคลีได้ไกลกว่าเป็นผู้ชนะ จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนจากแข่งตีไกลมาแข่งขันแบบทีม สำหรับ “คลีไฟ” เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญที่คลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ จนกลายเป็นคลีไฟ ปัจจุบันสามารถรับชมได้ที่ บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ แห่งเดียวเท่านั้น โดยบ้านหนองเขื่องได้นำกลับมาเล่นใหม่กันอย่างจริงจังอีกครั้ง และจัดขึ้นเป็นประเพณีสืบต่อกันมาได้มากกว่า ๑๐ ปีแล้ว

 

 

 

ประเพณี "ปักธงชัย"

Cr. library.psru.ac.th

 

      เป็นประเพณีเอกลักษณ์ของชานนครไทย จังหวัดพิษณุโลก จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี ซึ่งเกิดจากความเชื่อเรื่องวีรกรรมของพ่อขุนบางกลางหาวที่ได้รับชัยชนะจากการสู้รบกับศัตรู จึงนำผ้าคาดเอวของท่านผูกปลายไม้ ปักที่ยอดเข้าช้างล้วง แสดงชัยชนะ โดยชาวนครไทยมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่มีการนำธงขึ้นไปปักไว้บนยอดเขาเช้าล้วงจะเกิดภัยพิบัติ หรือ เกิดเหตุเภทภัยต่างๆ แก่ชาวบ้าน ธงชัยที่นำขึ้นไปปัก ทอด้วยฝ้ายกว้างประมาณ ๕๐เซนนิเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ตกแต่งบริเวณชายธงอย่างสวยงาม

 

 

 

ประเพณี "แห่กระธูป"

Cr. www.manager.co.th

 

      เป็นประเพณีประจำ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเพียงที่เดียวเท่านั้นที่ยังมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้อยู่ ชาวหนอบัวแดงจะทำต้นกระธูปในช่วงก่อนออกพรรษาประมาณ ๒-๓ วัน ครั้งแรกเริ่มจัดทำที่บ้านราษฎร์มีการทำต้นกระธูปและจัดให้มีมหรสพสมโภชก่อนวันออกพรรษา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีลักษณะการทำกระธูปที่ใกล้เคียงกัน โดยแต่ละบ้านจะทำต้นกระธูปของตัวเองนำไปที่วัด เมื่อเวียนเทียนเสร็จแล้วก็จะจุดธูปบูชาต่อไป

 

 

 

ประเพณี "สลากย้อม"

Cr. lpn.mcu.ac.th

 

     การถวายทาน “สลากย้อม” หรือ “ตานก๋วยสลาก” จัดขึ้นที่ จังหวัดลำพูน เพียงแห่งเดียว โดยชาวบ้านลำพูนจะต้องทานสลากภัตที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ก่อนวัดอื่นในจังหวัด “สลากย้อม” เกิดจากความเชื่อของชาวโบราณที่ว่า นางสาวผู้ใดถ้ายังไม่ได้ทานสลากย้อม ก็ยังไม่ควรแต่งงาน นับเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ ซึ่งทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น “สลากย้อม” เรียกตามสีสันของต้นสลากที่มีหลากสีสัน มีความสูงประมาณ ๒๐ เมตร ประดับประดาด้วยข้าวของเครื่องใช้และของมีค่าต่างๆ

 

 

 

ประเพณี "ใส่บาตรลูกอม"

Cr. www.oknation.net

 

     ทุกปีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังวันออกพรรษา ๑ วัน ที่วัดโคกสำราญหรือวัดใหญ่ แห่งหมู่บ้านโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีประเพณีตักบาตรเทโวเหมือนที่ไม่เหมือนใครตรงที่นิยมนำ “ลูกอม” มาตักบาตรแทนอาหารแห้ง อาหารคาว – หวาน ประเพณีนี้เริ่มมาจากในสมัยพุทธกาล มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำน้ำผึ้งซึ่งมีรสหวานไปถวายแก่พระพุทธองค์ภายหลัง ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ลูกอมแทน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและสะดวกกว่า

 

 

 

ประเพณี "แห่ปราสาทผึ้ง"

Cr. tatsanuk.blogspot.com

 

     เป็นประเพณีโบราณอีสาน รูปทรงของปราสาทผึ้งแบ่งได้ ๔ แบบ คือ ปราสาทผึ้งทรงพระธาตุ ทรงหอผี ทรงบุษบก และทรงจตุรมุข โดยนับเอาวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวัน “โฮม” หรือวันรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มต่างๆ วันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำบุญตักบาตร แล้วจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง เมื่อแห่ครบ ๓ รอบ ก็ถวายแก่ทางวัด ปัจจุบันจังหวัดที่จัดประเพณีแห่ปราสาทผึ้งมี สกลนคร นครพนม หนองคายและเลย

 

 

 

ประเพณี "แห่พญายม"

Cr. laemchabangnews.com

 

     จัดขึ้นที่ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทุกวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี และได้จัดติดต่อกันมาเกือบ ๘๐ ปี ชาวบ้านจะทำรูปปั้นพญายมนำขึ้นนั่งบนเสลี่ยง แห่นำด้วยขบวนกลองยาวมายังชายหาด นำข้าวปลาอาการมากอง เซ่น สัมภเวสี เจ้าที่เจ้าทาง หลังพิธีบวงสรวงจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเล แล้วปล่อยลงในทะเล เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายม

 

 

 

ประเพณี "แห่ดาว"

Cr. pr.prd.go.th

 

     เป็นการเฉลิมฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้า ความเป็นหนึ่งเป็นเดียวกันของคริสตชนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๕ ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง หมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่สุดที่ในไทย ครอบคลุมพื้นที่ ๔ จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร จัดขึ้นในคืนวันที่ ๒๔ ธันวาคมของทุกปี สันนิฐานว่าประเพณีนี้คงมีมาตั้งแต่แรกเริ่มที่คริสต์ศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในปี ๒๔๒๔ โดยการนำของคุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ธรรมทูตรุ่นบุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP)

 

 

 

ประเพณี "แห่ต้นดอกไม้"

Cr. www.thailandexhibition.com

 

     จัดขึ้นในที่ ๑๓-๑๖ เมษายนของทุกปี ณ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานกว่า ๔๐๐ ปี การแห่ต้นดอกไม้จะแห่รอบอุโบสถวัดทุกคืน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๖ ต้นละ ๓ รอบ โครงสร้างต้นดอกไม้เป็นโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ไม่มีลวด ตะปู ผูกหรือตอก และต้องประกอบให้เสร็จภายในวันเดียว จากนั้นจะนำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัด เพื่อรอเวลาแห่ในตอนค่ำ เวลาแห่ต้องโยกต้นไม้หมุนตามจังหวะกลองอย่างสวยงาม ต้นใหญ่สุดมีความกว้าง ๓ เมตร สูง ๑๕ เมตร

 

 

 

ประเพณี "แห่ไม้ค้ำโพธิ์"

Cr. www.chiangmainews.co.th

 

     พฤษภาคม ปี ๒๓๑๔ สมัยที่ครูบาพุทธิมาวังโส เจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๔ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี (ต้นโพธิ์) ภายในวัดหักลงมา ท่านและชาวบ้านจึงได้กำหนดให้มีประเพณีการทำบุญแห่ไม้ค้ำโพธิ์ทุกปีในเมษายน ซึ่งประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีหรือประเพณีวันสงกรานต์ถือเป็นวันทำบุญครั้งใหญ่ของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมานานกว่าสองปี

 

 

 

ประเพณี "แห่นางดาน"

Cr. suvarnabhumiairport.com

 

     เป็นประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้าที่พราหมณ์เมืองนครราชศรีธรรมราชในอดีตได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาในเดือนยี่ของทุกปี ปัจจุบันจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปี โดยมีขบวนแห่นางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบัน คำว่านางดานหรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร สูง ๒ เมตร ซึ่งวาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สอง คือ พระแม่ธรณี แผ่นที่สาม คือ พระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า

 

 

 

ประเพณี "แห่นมสดรดต้นศรีมหาโพธิ์"

Cr. www.mediastudio.co.th

 

     ในวัดพระธาตุดอยสะเก็ดพระอารามหลวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า และมีต้นศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย โดยพระครูมงคลศีลวงค์ เจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด และสมเด็จพระสังฆราชวาส วาสนมหาเถระ วัดราชบพิธสถิตสีมารามทรงปลูกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔ และต้นโพธิ์ศรีลังกาอัญเชิญมาโดยนายพงษ์พันธ์ พรหมขัติแก้ว อดีตอุปทูตศรีลังกา ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชอาสภัตทันตะเถระจากประเทศศรีลังกาทรงปลูกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา ควรแก่การเคารพบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ชาวดอยสะเก็ดจึงได้ร่วมใจกันจัดงานประเพณีแห่นมสดรดถวายต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยจัดขึ้นในกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา ตั้งแต่ ๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน

 

 

 

ประเพณี "ไหลเรือไฟ"

Cr. thai.tourismthailand.org

 

     เป็นประเพณีของชาวอีสาน จัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหนที เพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูล เป็นการเอาไฟเผาความทุกข์ให้ลอยไปกับสายน้ำ จังหวัดที่เคยทำพิธีกรรมการไหลเรือไฟอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย มหาสารครามและอุบลราชธานี ระยะหลังได้มีการดัดแปลงการทำเรือไฟให้แปลกตา จึงได้มีการจัดประกวดเรือไฟขึ้น และในงานประเพณีได้รับพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

 

 

 

ประเพณี "เทศกาลโต๊ะจีนลิง"

Cr. thai.tourismthailand.org

 

     ๑ ใน ๑๐ เทศกาลแปลกระดับโลกจัดขึ้นครั้งแรกที่ จังหวัดลพบุรี เมื่อปี ๒๕๓๒ เกิดจากแนวคิดที่ว่าลิง ณ ศาลพระกาฬกับพระปรางค์สามยอด มักกินดีอยู่ดีเพราะได้รับอาหารจากนักท่องเที่ยว ผิดกับลิงที่อาศัยอยู่ตามตึกหรือที่ต่างๆ ที่มักจะอดมื้อกินมื้อ จึงเกิดแนวคิดจัดโต๊ะจีนลิงขึ้นมา เพื่อให้ลิงได้กินอาหารอย่างอิ่มหนำถ้วนหน้าปีละ ๑ ครั้ง โดยยึดวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ บริเวณศาลพระกาฬกับพระปรางค์สามยอด

 

 

 

      ประเพณีของไทยยังมีอีกเยอะแยะมากมายให้เราไปเที่ยวค้นหา

ยังไงหากมีเวลาก็ขอเชิญเพื่อนๆ ออกมาเที่ยวทั่วไทย

เพื่อหาชมความแปลกใหม่ที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนกันเยอะๆ นะครับ

 

 

………………………………………………………………………….

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : บันทึกไทย www.thailandbookofrecords.com และ AjarnA

ทีมงานตาโตเรียบเรียงนำเสนอ


Admin :
view
:
4877

Post
:
2016-08-29 18:04:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น