ทีมไทยสุดเจ๋ง คว้าอันดับที่ 1 และ อันดับ 4
งาน ' Cybathlon '
การจำลองการแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการชิงแชมป์โลก
จากการลงแข่ง 2 ใน 6 ประเภท
ปัจจุบันเมื่อหันไปมองรอบๆตัวเรานั้น กล่าวได้ว่ามีเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมายจนเรียนรู้แทบไม่ทัน แต่เทคโนโลยีที่ว่ามักจะใช้ได้แต่กับคนปกติ ส่วนผู้พิการก็ถูกหลงลืมตกหล่นกันไปบ้าง ตรงกันข้ามกับในต่างประเทศที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
โดยล่าสุด ได้มีการจัดการแข่งขันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการชิงแชมป์โลก มีชื่องานว่า "Cybathlon" จัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัย ETH Zurich เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 13 - 15 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา มีผลงานจากนักวิจัยทั่วโลกมาร่วมการแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทีมจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วย ที่สำคัญแม้จะเป็นรอบจำลองการแข่งขันจริง แต่ปรากฎว่าผลงานในรอบนี้ ทีมไทยก็สามารถสร้างชื่อได้มากทีเดียวค่ะ เพราะสามารถคว้าอันดับ 1 และอันดับ 4 มาจากผลงานทั้งสองชิ้นได้ มาชมฝีมือคนไทยไปพร้อมๆ กันเลย ^^
บทสัมภาษณ์ โดย นาย เจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าทีม Mahidol BCI LAB
สิ่งประดิษฐ์ที่ทีมเราลงแข่งมี 2 ประเภท (จาก 6 ประเภท) คือ การแข่งขันควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง (Brain-Computer Interface Race) และ การแข่งขันปั่นจักรยานโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Functional Electrical Stimulation Bike Race)
โดย การแข่งขัน 6 ประเภท นั้นมีรายละเอียดแบ่งได้ดังนี้ คือ
การแข่งขันในครั้งนี้แบ่งประเภทของเทคโนโลยีออกเป็น 6 ประเภท คือ
1. การแข่งขันควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง (Brain-Computer Interface Race)
2. การแข่งขันปั่นจักรยานโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Functional Electrical Stimulation Bike Race)
3. การแข่งขันควบคุมแขนเทียมกล (Powered Arm Prosthetics Race)
4. การแข่งขันควบคุมขาเทียมกล (Powered Leg Prosthetics Race)
5. การแข่งขันหุ่นยนต์ช่วยเดิน (Powered Exoskeleton Race)
6. การแข่งขันรถวีลแชร์อัจฉริยะ (Powered Wheelchair Race)
โดยในแต่ละประเภทจะมีทีมเข้าร่วมประเภทละ 6-8 ทีม การแข่งขันนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก มีทีมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และบริษัทเอกชนมีงานวิจัยหรือเทคโนโลยีเกี่ยวข้องทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ถ้านึกภาพไม่ออกว่าแข่งขันกันอย่างไร ให้นึกถึงการแข่งขันกีฬาคนพิการ หรือ พาราลิมปิกเกมส์ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะประกอบด้วยผู้พิการและผู้ช่วย โดยที่ผู้พิการจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือลงทำการแข่งขันด้วยตนเอง ตามประเภทที่ถนัด มีการแข่งทั้งหมด 2 รอบ คือ รอบคัดเลือก (Qualifying Round) และรอบชิงชนะเลิศ (Final Round)
ซึ่งโครงการนี้น่าตื่นเต้นมากๆ เพราะถือได้ว่าเป็นการรวบรวมเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการจากทั่วโลก ทั้งงานที่อยู่ระหว่างการวิจัย และผลงานที่อออกสู่เชิงพาณิชย์ เรียกว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ในประเทศไทยด้วย โดยผลจากที่ทีมเราส่งไปสองประเภท คือ การแข่งขันควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง (Brain Computer Interface Race) และการแข่งขันปั่นจักรยานโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Functional Electrical Stimulation Bike Race) ซึ่งทั้ง 2 งาน เรามีจุดเด่นในเรื่องของอุปกรณ์ใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น การแข่งขันควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง ได้ออกแบบให้ผู้ใช้งานควบคุมเกมส์โดยใช้วิธีการคิดอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น คิดที่จะขยับแขน ขา เป็นต้น การตอบสนองต่อการควบคุมเกมส์ก็จะไวขึ้น ส่วนการแข่งจักรยานโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ก็ออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการกระตุ้นขาได้ด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นแบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการตอบสนองต่อร่างกายและจิตใจของผู้ใช้
โดยบรรยากาศการแข่งขันในรอบนี้เป็นรอบจำลองสถานการณ์แข่งจริง ซึ่งเราจะไปแข่งกันจริงๆ ในเดือนตุลาคมปี 2016 ส่วนในรอบนี้จะจำลองเสมือนแข่งจริงทุกอย่าง ตั้งแต่การลงทะเบียนและตรวจสอบอุปกรณ์ที่ลงแข่งในเชิงเทคนิคเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับผู้พิการ รวมถึงตรวจสภาพร่างกายผู้พิการ ก่อนลงแข่งขัน จากนั้นทุกทีมจะได้ลองซ้อมกับสนามจริง ประมาณ 20 นาที และแข่งขันเสมือนจริงในทุกประเภท การให้คะแนนก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภท แต่ทุกการแข่งขันจะมีลักษณะคล้ายกันคือ ผู้เข้าแข่งขันต้องทำกิจกรรมผ่านด่านต่างๆ ถ้าใครทำเสร็จก่อน ถือว่าเป็นผู้ชนะ ตัวอย่างเช่น การควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง ผู้แข่งขันจะต้องบังคับเกมส์แข่งรถโดยใช้ความคิด ถ้าใครเข้าเส้นชัยก่อนก็จะชนะ หรือ แข่งขันปั่นจักรยาน ถ้าใครปั่นเข้าเส้นชัยก่อนก็เป็นผู้ชนะ เป็นต้น
ซึ่งผลการแข่งขันเป็นที่น่าพอใจมากๆ ครับ เพราะทั้งสองประเภทได้อันดับที่ถือว่าค่อนข้างดี โดยประเภทควบคุมเกมส์ด้วยคลื่นสมอง เราได้อันดับที่ 4 และประเภทปั่นจักรยานโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เราได้อันดับที่ 1 โดยแต่ก่อนนี้ หลายๆคนคงคิดว่าเทคโนโลยีและความสามารถของบ้านเราคงสู้ประเทศชาติตะวันตกไม่ได้ แต่พอมาแข่งขันกันจริงๆแล้ว ก็พอทำให้รู้ได้เลยว่าเทคโนโลยีบ้านเราก็ไม่ได้แตกต่างจากต่างประเทศสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือบางชิ้นก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะเราเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนนั่นเอง และโดยส่วนตัวยังมองว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติยอมรับในความสามารถของคนไทยได้อีกด้วย ภายหลังหลังจากนี้จะมีการเตรียมตัวเพิ่มเติม คือ เราจะคัดเลือกหาผู้พิการเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 2 ท่าน นอกจากนี้ก็จะต้องปรับปรุงอุปกรณ์ และติดตั้งระบบให้มีความพร้อมและความสวยงามมากขึ้น รวมทั้งซ้อมใช้งานอุปกรณ์กับผู้พิการโดยจำลองการแข่งขันให้เหมือนจริง เพื่อให้ได้เวลาที่ดีที่สุด ส่วนความหวังอันดับที่นั้น ส่วนตัวคิดว่าถ้าสามารถทำเวลาได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็จะได้ผลการแข่งขันที่ดีแน่นอน
ท้ายที่สุดนี้ อยากจะบอกน้องๆ ว่าในต่างประเทศคนงานในด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineer) สำคัญมากๆ ในฐานะเป็นผู้ที่นำเอาเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมมาแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข แต่บ้านเราค่อนข้างขาดแคลน เพราะยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร
สำหรับน้องๆ ที่สนใจ และอยากทำงานด้านนี้ อันดับแรกควรมีความสนใจด้านเทคโนโลยี และพร้อมที่จะเปิดรับความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ เพราะน้องต้องเอาความรู้เหล่านี้มาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อแก้โจทย์ปัญหาทางการแพทย์ให้ได้ และที่สำคัญควรมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นได้นั่นเอง
สิ่งใดๆที่ดีซึ่งประเทศไทยเรามีโอกาสจะสามารถขยับเข้าสู่ระดับนานาชาติหรือระดับโลกได้นั้นหวังใจไว้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมผลักดันให้คนไทยได้พัฒนาก้าวเข้าสู่ในระดับโลก
***************************
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก คุณ Jetsada Arnin และ Youtube : Jetsada Arnin Mahidol BCI LAB - Rehearsal 2015 , www.dek-d.com (education) / ทีมงานเรียบเรียง
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP