กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการก่อนเออีซีเปิด โดยจัดงาน Industrial Supply Chain Logistics Conference 2015 กระตุ้นให้ภาครัฐ และภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มีผู้สนใจเข้าร่วม มากกว่า 1,500 คน คาดหมายปี 58 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ประกอบการกว่า 2,500 ล้านบาท
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลและพัฒนาส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน ต้องทำงานหนักขึ้นในปัจจุบัน เพื่อบริการภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ และความเป็นพลวัตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนขั้วความเจริญมาทางฝั่งเอเชีย การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ BRICS การขยายตัวของสังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น เทคโนโลยี Internet of Things รวมถึงการเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อวินาศกรรม การขาดแคลนทรัพยากร และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจและการจัดการโซ่อุปทานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรตลอดโซ่อุปทาน เพื่อความอยู่รอดและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อนำสภาพการณ์ที่เป็นพลวัตดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับนโยบายรัฐบาลเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยยกระดับสู่การเป็นชาติการค้า หรือ Trading Nation โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ Modern Industry ของภาคเอกชนเป็นพลังขับเคลื่อนหลักประการหนึ่ง ภาครัฐเองก็ต้องจัดเตรียมปัจจัยสนับสนุนด้าน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงข่ายการขนย้ายสินค้าในรูปแบบ Multimodal Transport การให้บริการ ณ จุดเดียว One Stop Service การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ การส่งเสริมความเป็น Digital Economy และการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและการค้าในภูมิภาคที่แข็งแรงตลอดโซ่อุปทาน และสามารถสร้างโซ่คุณค่า หรือ Value Chain จากธุรกิจต้นน้ำ เช่น เกษตรกรรม สู่กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงผู้บริโภค
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโซ่อุปทานให้ภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตระหว่างปี 2559 – 2564 ได้กำหนดแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงข่ายการผลิต และการส่งมอบให้มีความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานใน 5 มิติ ประกอบด้วย
(1) มิติการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หรือ Operational Supply Chain Logistics Excellence
(2) มิติการเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารเชิงดิจิตัล หรือ Digital Supply Chain Logistics Excellence
(3) มิติการสร้างความสามารถขององค์กรในพื้นที่ยุทธศาสตร์ หรือ Regional and New Economic Zones Competitiveness เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจชายแดน
(4) มิติการเตรียมความพร้อมรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์และตลาดใหม่ หรือ Globalized Logistics and Supply Chain Trend Challenging
(5) มิติการพัฒนาบุคลากรและฐานข้อมูลเพื่อการอุตสาหกรรม หรือ Supply Chain and Logistics Knowledge Excellence
การสัมมนาในครั้งนี้ จัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมในการสร้างความตระหนัก ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ให้กับบุคลากรภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดปฏิบัติการต่อเนื่องสู่ยุคการผลิตและการค้าสมัยใหม่ พร้อมทั้งได้มีการมอบรางวัลพัฒนาการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมดีเด่น สำหรับสถานประกอบการและผู้ที่สอบผ่านการทดสอบความรู้ด้านโลจิสติกส์ รวมจำนวน 29 รางวัล
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสัมมนา Industrial Supply Chain Logistics Conference 2015 ซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และหน่วยร่วมดำเนินโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 จำนวน 18 หน่วยงาน เป็นผลงานที่เกิดจากสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ดำเนินภารกิจการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2559) โดยมีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 2 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างความเป็นมืออาชีพในการจัดการด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันระดับโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยการดำเนินภารกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ หรือ กบส. ที่มีท่านรองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานคณะกรรมการ มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการดำเนินงาน ประกอบด้วย (1) อาหาร (2) ปิโตรเคมีและพลาสติก (3) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (4) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (5) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (6) ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา และ (๗) SMEs นอกจากนั้น ในปัจจุบันได้ขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น อุปกรณ์การแพทย์ การต่อและซ่อมเรือ เคมีภัณฑ์ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น
ในปี 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งสิ้น จำนวน 34 โครงการ สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 609 ราย พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 9,000 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 28 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 11 ระบบ ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนของภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 5,269 ล้านบาท และเมื่อนำผลการลดต้นทุนนี้มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง CGE หรือ Computable General Equilibrium พบว่าผลงานโครงการทั้งหมดสามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเมื่อเทียบกับปีฐานหรือปี 2556 โดยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.200 ดัชนีราคาหรืออัตราเงินเฟ้อ ลดลงร้อยละ 0.268 ผลผลิตหรือ Output เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.085 และการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 230,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.590
สำหรับในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้งสิ้น 27 โครงการ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสถานประกอบการ 371 ราย และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้ประมาณ 5,800 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 19 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 8 ระบบ ซึ่งการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความคิดเห็นสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และเผยแพร่ผลงานการพัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 มีการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 2 วัน และมีการสัมมนาย่อยในหัวข้อต่างๆ รวม 23 ห้อง การแสดงนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และในการจัดงานครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น มากกว่า 1,500 คน
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP