โรคฉี่หนู ' เลปโตสไปโรซิส ' โรคใกล้ตัวที่ควรรู้และควรระวัง
2015-06-04 15:12:14

 โรคฉี่หนู ' เลปโตสไปโรซิส ' โรคใกล้ตัวที่ควรรู้และควรระวัง

 

หน้าฝนของประเทศไทยกินเวลาค่อนข้างยาวนาน ซึ่งเป็นฤดูที่มีผู้เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยมาก และ ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับหน้าฝน วายร้ายชื่อดังที่เราคุ้นหูกัน โรคหนึ่ง นั่นก็คือ "โรคฉี่หนู" ซึ่งเป็นโรคที่มักจะมาทำร้ายสุขภาพของพวกเรากันในฤดูฝนนี้ คราวนี้เราลองมาดูสาเหตุและแนวทางในการป้องกันโรคนี้ในช่วงฤดูฝนกันเถอะ

 

 

โรคฉี่หนู

       “โรคฉี่หนู” นั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างคล้าย เกลียวสว่าน เชื้อเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด โดยเฉพาะพวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แต่สัตว์อื่น เช่น วัว และ ควาย เป็นต้น แม้กระทั่งหมู ซึ่งคนไทยบริโภคในปริมาณมาก ก็เป็นแหล่งเก็บเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้วนั้น เชื้อดังกล่าวยังสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก หรือแม่น้ำลำคลอง และอยู่ได้นานเป็นเดือน อีกด้วย ถ้าปัจจัยแวดล้อมนั้นเหมาะสม (ซึ่งในธรรมชาติจะพบเชื้อใน น้ำ ดิน ทรายที่เปียกชื้น หรืออาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการย่ำน้ำแฉะ ๆ ในบริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอยู่ก่อน เช่น ในไร่นา ในตลาดสดที่มีหนู เป็นต้น)

 

 

ลักษณะโรค

       โรค”เลปโตสไปโรซิส” เป็นโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาสู่คน (Zoonotic Disease)" ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อมาจากสัตว์หลายชนิด ก่ออาการหลากหลายขึ้นกับชนิดของเชื้อ (serovars) และปริมาณเชื้อที่ได้รับ การติดเชื้อมีได้ตั้งแต่ไม่ปรากฏอาการ มีอาการอย่างอ่อน อาการรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิต คนที่ติดเชื้อในพื้นที่ที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างอ่อน

 

สาเหตุของโรค

      เชื้อเลปโตสไปราชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมี 6 สปีชีส์ ประกอบด้วยเชื้อ Leptospira interrogans, Leptospira kirschneri, Leptospira noguchii, Leptospira borgpetersenii, Leptospira santarosai และ Leptospira weilii พบว่าเชื้อเลปโตสไปราชนิดก่อโรคเหล่านี้มีมากกว่า 230 ชนิด เชื้อมีรูปร่างเป็นแท่งเกลียวสว่าน วนทางขวาจำนวนมากกว่า 18 เกลียวต่อตัว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.1 ไมครอน ยาว 6-12 ไมครอน โดยทั่วไปปลายทั้ง 2 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งมีการโค้งงอลักษณะคล้ายตะขอ ย้อมติดสีกรัมลบจาง ๆ เคลื่อนไหวรวดเร็วโดยการหมุนตัว สามารถตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์พื้นมืด (Darkfield microscope) เป็นเชื้อที่ต้องการความชื้น ออกซิเจน สภาพกรด ด่างเป็นกลาง (pH 7.0-7.4) และอุณหภูมิที่เหมาะสม 28-30 องศาเซลเซียส

 

 

วิธีการติดต่อของโรค

      เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น หรือพืช ผัก เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มเนื่องจากแช่น้ำอยู่นาน คนมักติดเชื้อโดยอ้อมขณะย่ำดินโคลน แช่น้ำท่วมหรือว่ายน้ำ หรืออาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ 

       อีกทั้งเชื้อยังอาจเข้าร่างกายโดยการกินอาหารหรือน้ำ หรือการหายใจเอาละอองนิวเคลียสจากของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป แต่พบได้น้อย ส่วนการติดจากคนถึงคน มีรายงานการติดต่อจากปัสสาวะผู้ป่วยเพียงรายงานเดียว แม้ว่าจะพบเชื้อในปัสสาวะของผู้ป่วยได้นาน 1-11 เดือนก็ตาม แต่การติดต่อจากแม่ไปทางรกทำให้ทารกตายในครรภ์นั้นมีรายงาน 2 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานเด็กที่คลอดออกมา มีอาการป่วยเหมือนในผู้ใหญ่

ระยะฟักตัวของโรค

     โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในช่วง 4-19 วัน (อาจเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน)

 

อาการและอาการแสดง

อาการในคน

อาการในคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ อาการที่พบบ่อยได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (มักปวดที่น่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและน่อง) ตาแดง อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด (biphasic) และมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีผื่นที่เพดานปาก (palatal exanthema) โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตับและไตวาย ดีซ่าน อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ซึม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปน (hemoptysis) และเจ็บหน้าอก

อาการปอดอักเสบรูปแบบไม่แน่ชัด (Atypical pneumonia syndrome) พบได้ในผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิส เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบปราศจากเชื้อ (Aseptic meningoencephalitis) อาจเกิดได้จากเชื้อเลปโตสไปราทุกชนิด แต่มักพบมากจากเชื้อ Canicola, Icterohaemorrhagiae และ Pomona

ในประเทศไทยมีรายงานสำรวจพบโรคนี้ในกลุ่มผู้ป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ 2.2 % ถึง 18.9% การสำรวจในปี 2534-2536 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบความชุก 4.8% แต่รายงานในโรงพยาบาลเด็ก พบความชุกถึง 36.11%

แม้ว่าอาการของโรคจะค่อนข้างหลากหลายโดยอาจมีอาการเด่นของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งที่ถูกทำลายไม่ว่าจะเป็นไต ตับ ระบบหายใจ หรือระบบไหลเวียนโลหิต แต่จากรายงานที่มีอยู่ในประเทศไทย อาการที่พบได้บ่อยมากคือ ไข้สูง (88.8-100%) ปวดศีรษะ (66-100%) ปวดกล้ามเนื้อ (76-100%) และตาแดง (74-100%) สำหรับอาการเหลืองพบน้อยกว่า คือ 37-70% อาการอื่นๆ ได้แก่ ผื่น จุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอเป็นเลือด ตับโต ม้ามโต เป็นต้น

ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อ เช่น เชื้อชนิด Icterohaemorrhagiae และ Bataviae มักจะก่ออาการรุนแรง (ดีซ่าน เลือดออกและไตวาย) มากกว่าเชื้อชนิดอื่นๆ เช่น Canicola, Grippotyphosa และ Hardjo การติดเชื้อเลปโตสไปรานั้น มักก่ออาการของโรคแบบไม่มีดีซ่าน (anicteric illness) มากกว่าที่จะเป็นแบบดีซ่าน (icteric disease) ซึ่งแม้แต่เชื้อ Icterohaemorrhagiae ที่มักทำให้เกิดอาการดีซ่าน ไตถูกทำลาย มีภาวะเลือดออก และลงท้ายด้วยอัตราป่วยตายที่ค่อนข้างสูงนั้น ก็มักพบดีซ่านได้ไม่เกิน 10%

อาการในสัตว์

สัตว์จะตอบสนองต่อการติดเชื้อเลปโตสไปราโดยแสดงอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

         ·        อาการรุนแรงเฉียบพลัน (Peracute) 

มีไข้สูงอุณหภูมิประมาณ 104 - 107 องศาฟาเรนไฮต์ (40-42 องศาเซลเซียส) เกิดภาวะไตวายอย่างเฉียบพลันในลูกสัตว์ อัตราตายสูงถึง 80%

·         อาการกึ่งเฉียบพลัน (Acute หรือ Subacute)

มีอาการไข้ ซึม ไม่กินอาหาร เลือดคั่งตามเยื่อบุตา ปื้นเลือดออกตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง โลหิตจาง อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ม้าม ไต ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่ พบภาวะไตอักเสบ ปอดบวม ลำไส้อักเสบ เต้านมอักเสบชนิดไม่มีอาการร้อน บวม แดง หยุดการให้นมทันที น้ำนมจะมีลักษณะผิดปกติเป็นก้อนเลือด สีเหลืองเข้ม หรือสีแดง ส่วนการแท้งลูกมักจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ มีอัตราการตายแรกคลอดสูง ลูกสัตว์เกิดใหม่มีสภาพอ่อนแอ ลูกสัตว์บางตัวมีอาการทางระบบประสาท เนื่องจากสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัตราตายประมาณ 5 %

·         อาการเรื้อรัง (Chronic) 
สัตว์จะมีความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ อัตราการผสมติดต่ำ ความสมบูรณ์พันธุ์ลดน้อยลงเนื่องมาจากขบวนการสร้างอสุจิลดลง มีการแท้งลูกเกิดขึ้นเป็นประจำ รกค้าง อัตราการตายแรกคลอดสูง จำนวนลูกต่อครอกลด การให้ผลผลิตน้ำนมลดลงเรื่อย ๆ จนหมดระยะให้นม ส่งผลให้ลูกสัตว์เกิดใหม่ได้รับปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ ร่างกายจึงมีน้ำหนักลดลง อ่อนแอ และไวต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส

·         ไม่แสดงอาการ (Subclinical)
พบได้บ่อยที่สุดในสัตว์ ซึ่งสัตว์มีสภาพปกติไม่แสดงอาการใด ๆ แต่จะมีเชื้อเลปโตสไปราอยู่ที่ไต และถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะซึ่งเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญ สำหรับการแพร่กระจายไปสู่คนและสัตว์อื่น

 

การรักษาโรค

      การรักษาโรคควรประกอบด้วยการให้ยาปฏิชีวนะที่รวดเร็วและเหมาะสม การรักษาตามอาการเพื่อแก้ไขความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับการรักษาประคับประคอง การให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรคได้ Penicillin ถือเป็นปฏิชีวนะที่ให้ผลการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด (สำหรับรายที่แพ้ Penicillin อาจให้ Doxycycline)

 

 

มาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม

·         การแยกผู้ป่วย : ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

·         การทำลายเชื้อ : สิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ ต้องนำไปฆ่าเชื้อ

·         การกักกัน : ไม่จำเป็น

·         การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส : ไม่จำเป็น

 

มาตรการป้องกันโรค

·         ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนถึงวิธีการติดต่อของโรค หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต

·         ให้การป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต

·         ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบาย ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป

·         ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ

·         ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในเขตชนบทและบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ

·         ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ปศุสัตว์ (เช่น โค กระบือ) และสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข) จะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ป้องกันการติดเชื้อและการขับเชื้อทางปัสสาวะไม่ได้ วัคซีนที่ต้องใช้มีซีโรวาร์ที่พบมากในท้องถิ่นนั้น

·         การฉีดวัคซีนป้องกันแก่คนงานและผู้ที่ประกอบอาชีพเสี่ยงต่อโรค เป็นวิธีที่ใช้ในญี่ปุ่น จีน อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิสราเอล

 

 

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค

·         เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวน

·         คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ สุกร ปลา

·         กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์

·         กลุ่มอื่นๆ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา

·         กลุ่มประชาชนทั่วไป มักเป็นเกิดในที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา และสุนัขก็มีผลต่อการเกิดโรคด้วยเช่นกัน

 

แหล่งรังโรค

หมายถึงเป็นที่พักของเชื้อ สัตว์ที่เป็นแหล่งพักได้แก่ หนู สุกร โค กระบือ สุนัข แรคคูณ สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ ทำให้มีการติดต่อของเชื้อในสัตว์ เกิดขึ้นได้

 

 

สถานการณ์และผลสำรวจของโรค

·         จากการสำรวจหนูใน 27 จังหวัดเมื่อปี 2508 พบว่าทั้งหนูท่อ หนูบ้าน หนูนา เป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญโดยพบเชื้อร้อยละ 10-50 รองลงมาได้แก่สุนัข

·         จากการสำรวจหนูนาพบว่าหนูพุก ติดเชื้อร้อยละ 40

·         จากการสำรวจสัตว์ในกรุงเทพเมื่อปี 2508 พบว่าหนูท่อ ติดเชื้อ 66% , สุนัข ติดเชื้อ 8 % แสดงว่าหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ

·         การสำรวจเมื่อปี 2540 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติพบภูมิคุ้มกันในความ31% โค 28.25% แพะแกะ 27.35% สุกร 2.15%

·         ข้อมูลของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สคร.11 นศ. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง ตุลาคม 2557 มีผู้ป่วยโรคฉี่หนูในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนแล้ว 205 ราย และ เสียชีวิต 3 ราย

·         สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5) นครราชสีมา ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 6 มิ.ย. ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง มีผู้ป่วยเป็นโรคฉี่หนูแล้วรวม 53 ราย แยกเป็นนครราชสีมา 18 ราย ชัยภูมิ 6 ราย บุรีรัมย์ 16 ราย และสุรินทร์ 13 รายยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

หมายเหตุ : ดังนั้นขอพึงระวังอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันโรคนั้นก็ คือ หากประชาชนเดินลุยน้ำ หรือ เดินที่พื้นดินชื้นแฉะต้องสวมรองเท้ายาง และรีบล้างทำความสะอาดทันทีเมื่อเสร็จภารกิจ ดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธ์หนู และหากพบมีอาการมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง ตาแดงทั้ง 2 ข้าง และเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว ภายใน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ขอให้รีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากอาจทำให้ไปรับการรักษาล่าช้า เชื้อโรคลุกลามทำลายอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

ดังนั้นพอจะสรุปให้เห็นได้ว่า “โรคดังกล่าวนี้จะพบมากในฤดูฝน เชื้อโรคจะสามารถเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยเข้าไปทางรอยแตกหรือแผลเล็กๆ บนผิวหนัง ผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก” เป็นต้น โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 5-14 วัน (หรืออยู่ในช่วง 4-19 วัน ซึ่ง อาจเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน ก็เป็นได้) แต่โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดน่อง ตาแดง ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยอาจจะมีอาการดีขึ้นได้เอง เนื่องจากเชื้อสามารถกระจายไปทั่วร่างกาย จึงมีภาวะแทรกซ้อนได้หลากหลายมาก ส่วน ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยและสำคัญคือ ภาวะไตวาย การทำงานของตับล้มเหลว ปอดอักเสบและมีเลือดออกในปอด ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย จะไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้เป็นผลให้ระบบการทำงานของอวัยวะอื่นล้มเหลวตามมา ความผิดปกติของการทำงานของตับ แสดงให้เห็นได้โดยการที่ผู้ป่วยมีอาการตาเหลือง การอักเสบที่ปอด ทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว และอาจมีอาการไอเป็นเลือด โดยถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้

ซึ่ง ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว การให้ยาเพนิซิลลิน หรือ ด๊อกซี่ซัยคลิน จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น แต่ถ้ามาช้า การให้ยาปฏิชีวนะอาจมีประโยชน์ไม่มากนัก นอก จากการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแล้ว ยังจะต้องให้การรักษาประคับประคองระบบการทำงานของอวัยวะที่ล้มเหลว จนกว่าระบบต่าง ๆ เหล่านั้น จะฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะใช้เวลามากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน แม้ว่าเชื้ออาจจะอยู่ในปัสสาวะของผู้ป่วยบางรายได้นานเป็นเดือนก็ตาม เมื่อหายจากโรคแล้ว อาจเป็นได้อีก หากได้รับเชื้อต่างสายพันธุ์จากเดิมกรมควบคุมโรค ได้ให้คำแนะนำการป้องกันโรคไว้ ดังนี้ :

1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่หรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะสัตว์นำโรค หรือถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต

2. ป้องกันโรคแก่ผู้ที่ทำงานที่ เสี่ยงต่อโรค เช่น ใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต ฯลฯ

3. ตรวจแหล่งน้ำ ดินทรายที่ อาจปนเปื้อนเชื้อ ถ้าเป็นน้ำในท่อระบายน้ำ ควรล้างระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกไป

4. ถ้าพบสัตว์ติดเชื้อต้องแยกออกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่น ๆ หรือเกิดการปนเปื้อนเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ

5. ควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัยของคน โดยเฉพาะในเขตชนบทและบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งพักผ่อนท่องเที่ยว ฯลฯ

        ที่สำคัญ หากมีอาการไข้ โดยไม่มีอาการชี้ชัดเจนว่าเป็นโรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด และเคยไปสัมผัสน้ำในช่วงระยะเวลาเกิน 1 เดือน ก่อนที่จะมีอาการควรไปรับการตรวจเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ควรวินิจฉัยและรักษาเอง เพราะโรคบางอย่างอาจมีอาการคล้ายกัน ระบาดในช่วงเดียวกัน และมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป 

        ทุกท่านจึงควรระมัดระวังและดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปราศจากโรคภัย

 

.........................................................................................................................

ขอขอบคุณข้อมูลแหล่งที่มา: thaihealth.or.th (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย ผศ.นพ.กำธร  มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล) , kmddc.go.th , siamhealth.net ; ขอบคุณภาพประกอบจาก newsplus.co.th , dailynews.co.th , news.sanook.com , e-shann.com , thaigoodview.com phyathai.com , kanchanapisek.or.th และ ku.ac.th

ทีมงาน ตาโต.ดอทคอม : tartoh.com เรียบเรียงนำเสนอ

 

 


Admin : Tartoh
view
:
3715

Post
:
2015-06-04 15:12:14


ร่วมแสดงความคิดเห็น