โรคลมชัก..อันตรายที่คุณควรรู้ไว้ในช่วงหน้าร้อนทุกปี
2015-04-05 04:49:02

โรคลมชัก..อันตรายที่คุณควรรู้ไว้ในช่วงหน้าร้อนทุกปี

 

 

โรคลมชัก พบได้ในผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ซึ่งถ้าหากมีอาการชักบ่อยๆ อาจทำให้เซลล์สมองตายได้ มีผลต่อประสิทธิภาพความจำ ในรายที่มีอาการชักแล้วกัดลิ้นตัวเองหรือสำลัก ก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เนื่องด้วยในวันที่ 26 มี.ค.ของทุกปี นั้น เป็นวัน โรคลมชักโลก (World Epilepsy Day) จึงอยากให้ทุกคนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภยันอันตรายจากโรคนี้

โดย พ.อ. (พิเศษ) ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอายุรกรรมสมองและระบบประสาท ร.พ.พระมงกุฎเกล้าฯ เปิดเผยว่า โรคลมชักพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ในประเทศไทย ประมาณการณ์กันว่ามีผู้ป่วยราว 6 - 7 แสนคน พบเป็นโรคลมชัก 1 ในทุก 100 คน

ทั้งนี้ สาเหตุของโรค นั้นเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง ซึ่งมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจร ก่อให้เกิดอาการชักตามมา และอาจมีสาเหตุจากโรคทางกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง จนถึงเนื้องอกในสมอง ภาวะชัก มีอยู่หลายประเภท เช่น อาการเหม่อลอย อาการเกร็ง กระตุก หรือชักทั่วทุกส่วนที่เรียก โรคลมบ้าหมู โรคลมชักหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายขาด แต่ถ้าปล่อยให้คนไข้ชักอยู่เรื่อยๆ สภาวะที่กระแสไฟฟ้าในสมองถูกระตุ้นมากเกินไป จะทำให้หลั่งสารทำลายเซลล์สมอง เซลล์สมองจะตาย คนไข้ที่ชักนานๆ พอเอกซเรย์สมองในเวลา 2 ปีถัดมา พบว่าสมองเหี่ยวลง กระทบต่อสมองส่วนอื่น ถ้ารักษาช้าจะไม่สามารถกลับมาปกติได้

 

 

โรคลมชัก มีความหลากหลายทางอาการ อยู่ที่ว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองส่วนใด รุนแรงแค่ไหน บางอาการจึงสังเกตยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่า เป็นโรคลมชัก ก็ไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย ภาวะเบลอจำอะไรไม่ได้ ชั่วขณะ ผู้ป่วยบางคนเห็นภาพหมุน เห็นภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้าสีสันหลากหลาย (ต่างจากผู้ป่วยโรคไมเกรนซึ่งจะเห็นแสงจ้าขาวดำ) หรือบางคนเห็นภาพหลอน หูแว่ว มีอาการทางจิตประสาท ต่อเมื่อได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง จึงทราบว่ามีอาการของโรค ยิ่งมีอาการวูบตามมา แม้จะไม่เกร็ง ชัก ก็ควรมาพบแพทย์ ตรวจร่างกาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ซึ่งจะบอกได้ว่า เป็นอาการทางจิตหรือ โรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับการรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ควบคุมอา การชักได้ และกรณีที่มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมองติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุนั้นๆร่วมด้วย 

การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง“สิ่งกระตุ้น” ต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอาการชัก เช่น การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะไข้สูง การเล่นกีฬาหรือทำงานจนเหนื่อยมาก การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน การขาดยากันชัก ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งทุกวันให้ครบถ้วน ถูก ต้อง อนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงเพราะถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย บางกรณีผู้ป่วยจะมีอาการเตือนก่อนที่จะมีอาการชัก เช่น ปั่นป่วนในท้อง จุกแน่นหน้าอก ชามือ แขน-ขา หรือกระตุกก่อนที่จะมีอาการชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวและหมดสติ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลได้แนะนำไว้ เช่น ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้ม ชัก แล้วเกิดอุบัติเหตุซ้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ดีระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา อาจเกิดอาการชักขึ้นได้ การช่วยเหลือที่ถูก ต้องต่อผู้ป่วยที่กำลังชัก คือ การป้องไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและป้องกันการสำลักโดยการจับผู้ป่วยนอนลงในที่ปลอดภัย จัดตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลักน้ำลาย คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรงัดปากผู้ป่วยเพื่อนำช้อน นิ้วมือ หรือวัสดุใดๆใส่เข้าไปในปากของผู้ป่วย เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรกดหน้าอก ท้องหรือยึดรั้งแขนขาผู้ป่วย ที่สำคัญผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติของตนเองให้ดี ภายหลังการหยุดชักทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพราะส่วนใหญ่การชักจะหยุดได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ การจะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเฉพาะกรณี ที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมากกว่า 5-10 นาที และไม่รู้สึกตัวหรือชักนานกว่าทุกครั้งที่มีอาการ หรือมีอุบัติ เหตุเกิดขึ้นในขณะชัก เช่น ล้มลงศีรษะแตก เป็นต้น

 

 

   รู้ไว้ใช่ว่า ระมัดระวังสุขภาพกันให้มากๆด้วยนะคะ ร้อนนี้น่าเป็นห่วงมากค่ะ ^_^

 

..................................................................................................................................

Cr. thaihealth.or.th และ haamor.com ภาพประกอบจาก vejthani.com : tartoh.com Pr.


Admin : Tartoh
view
:
2962

Post
:
2015-04-05 04:49:02


ร่วมแสดงความคิดเห็น