ภาคีเครือข่ายภาครัฐ - เอกชน ผนึกกำลัง เปิดตัวโครงการ “ท้องถิ่นภิวัตน์ 2015” ลุยพัฒนาศักยภาพในระดับท้องถิ่น สู่มิติใหม่เดินหน้าประเทศไทย
2015-04-02 17:17:00

 

          ระดมพลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ – เอกชน เปิดตัวโครงการ “ท้องถิ่นภิวัตน์ 2015” การอบรมสัมมนาวิชาการท้องถิ่นภิวัฒน์ หลักสูตร : ศักยภาพท้องถิ่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย อำนวยการจัดทำหลักสูตรโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมการสนับสนุนจาก มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำ ร่วมกันจัดงานประชุมสัมมนา และจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น ครั้งยิ่งใหญ่ ที่อัดแน่นด้วยความรู้ทันสมัย พร้อมการโรดโชว์นวัตกรรมสินค้า และการประชุมวิชาการ ลุยเดินสายจัดกิจกรรมต่อเนื่องใน 8 จังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก เพชรบูรณ์ และบุรีรัมย์ ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม 2558 นี้

 

          นางสาวกัลยา แสวงหาบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊บโซลูทท์ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินการจัดงาน กล่าวว่า โครงการ “ท้องถิ่นภิวัตน์ 2015” เป็นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจด้านงานโครงสร้าง งานระบบ และงานก่อสร้างชั้นนำ อาทิ  บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน), บริษัท วิค แอนด์ ฮุคลันด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด และ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด เพื่อร่วมนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสินค้า และการแสดงนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น พร้อมการอบรมสัมมนาวิชาการท้องถิ่นภิวัฒน์ ในหลักสูตร : ศักยภาพท้องถิ่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย  อำนวยการจัดหลักสูตรโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ อปท.ทั่วประเทศ ข้าราชการไทย รวมถึง สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาชีวะทั่วประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับท้องถิ่นประเทศ สู่เวทีการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งระดับภูมิภาค และระดับสากล

 

         ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำภาคีพัฒนาในพื้นที่  ทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม  มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  และเป็นเวทีสัมมนาวิชาการเพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ในการวางแผน การพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมสมอง ระหว่าง หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา บริษัทเจ้าของนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างเป็นเครือข่ายการพัฒนาขึ้นมาได้

 

        ดร.วรพงศ์ ตระการศิรินนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับหลักสูตร การสัมมนา “ท้องถิ่นภิวัตน์ 2015: ศักยภาพท้องถิ่น จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกภูมิภาค เสริมขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการนำภาคีเครือข่ายทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม มาเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และเพื่อให้สามารถสร้างเป็นเครือข่ายการพัฒนาขึ้นมาได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาหลักสูตรนี้ สามารถนำไปใช้ได้จริงเข้าใจถึงความสำคัญของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นองค์รวมและมีความสมดุลในมิติการพัฒนา ระหว่างเมืองและชนบท และระหว่างท้องถิ่นกับประเทศ อีกทั้งยังนำความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่หลากหลายไปปรับใช้ในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาที่ยึดท้องถิ่น และประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับการอยู่ดีมีสุขของประชาชน และเน้นศักยภาพเฉพาะของท้องถิ่นอย่างเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมทั้งภายในและระหว่างประเทศนอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้น และสร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อเป็นการนำความเจริญก้าวหน้าสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วย

 

          สำหรับกิจกรรมของ โครงการ “ท้องถิ่นภิวัตน์ 2015” ที่จัดขึ้นเพื่อให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนำร่อง ได้รับความรู้ เกี่ยวกับ นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากบริษัทชั้นนำ ภายในงานกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนที่สำคัญประกอบด้วย 1.โซนแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภาคเอกชนผู้สนับสนุนที่มาจัดแสดงภายในงาน  2.โซนสัมมนาวิชาการ กับหัวข้อสัมมนาที่อัดแน่นไปด้วยสาระ จัดทำหลักสูตรโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  3.โซนต่อยอดธุรกิจ การสร้างเครือข่ายร่วมกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ เสวนาโต๊ะกลม การเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมและหอการค้า การจับคู่ธุรกิจ (Matchmaking) เป็นต้น และ 4. โซนบ่มเพาะความรู้ จากการสาธิตนวัตกรรม และได้ทดลองจริง

 

       โดยกิจกรรมดังกล่าวจะเดินสายจัดกิจกรรมต่อเนื่องใน 8 จังหวัดเริ่มต้นที่ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 22-23 เมษายน 2558,  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 14-15 พฤษภาคม 2558, จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10-11 มิถุนายน 2558, จังหวัดอุดรธานี วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2558, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 25-26 มิถุนายน 2558, จังหวัดนครนายก วันที่ 20-21 สิงหาคม 2558, จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ 8-9 ตุลาคม 2558 และจังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 20-21 ตุลาคม 2558 สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลของโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-661-7750


Admin : prweem
view
:
2000

Post
:
2015-04-02 17:17:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น