Lancer Evolution ได้รับความนิยมสูงมากจากนักซิ่งแดนปลาดิบและทั่วโลก เพราะประสิทธิภาพของรถและเครื่องยนต์ที่ความจุ 2 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ นับว่าเหมาะสำหรับการแต่งซิ่งมาก แต่ปัจจุบันในสายการผลิตได้ถูกยุติลงอยู่ที่รุ่น Evo X น่าเสียดายไม่มีแม้เงา Lancer Evo XI แต่วงการปรับแต่งก็ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะหลายสำนักแต่งสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานจนได้แสดงศักยภาพซ้อนเร้นให้ประจักษ์หลายคัน วันนี้เราจึงขอเสนอประวัติ แนวทางปรับแต่งของตัวซิ่งขั้นเทพจากหลายสำนักแต่งมาพูดถึงกัน ตามย้อนรอยการพัฒนาแบบแยกชัด ๆ ตามปี
ปี 1992 กำเนิด Evolution I
รถบ้านที่ปรับแต่งให้คว้าชัยในการแข่งสังเวียนโหดอย่าง WRC!
Lancer Evolution อุบัติเมื่อ 23 ปีก่อน รุ่นแรกเป็น Lancer Evolution I (CD9A) อดีตมิตซูบิชิร่วมแข่ง WRC ด้วย Galant VR-4 แต่เป็นรถที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ เทียบกับคู่แข่งเสียเปรียบมาก จึงเล็งรถบ้านรุ่นใหม่ ที่จะสานฝันให้สำเร็จ จนได้รถซีดานตระกูล Lancer ซึ่งน้ำหนักเบากว่า Galant ประมาณ 150 กก. และเครื่องยนต์ก็เป็น 4G63 ชุดเดียวกับ Galant จึงทำให้วงการปรับแต่งกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ปี 1994 Evolution II
ปรับปรุงช่วงล่างที่หลายคนวิจารณ์ว่าไม่ดี เพื่อเป็น Cornering Car
แม้ Evo I จะโดดเด่นด้วยเรื่องของน้ำหนักเบาและพลังเครื่องยนต์ แต่ช่วงล่างดูจะถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะเลี้ยวยาก จึงต้องปรับปรุงตำแหน่งเหล็กกันโคลง ความแข็งแรงของปีกนกล่าง Control Arms Bush และความแข็งแรงแชสซีส์ เพื่อให้เลี้ยวดีขึ้น พร้อมพัฒนาวัสดุที่ใช้ผลิตเทอร์โบและแคมซาฟต์ เพื่อให้การโมดิฟายเครื่องยนต์เข้มข้นขึ้น โดยเปลี่ยนรหัสตัวถังเป็น CE9A
ปี 1995 Evolution III
ข้อดี-ข้อเสียจากการปรับอัตราส่วนการอัด
Evo III ได้รับการปรับปรุงหลายอย่าง แม้ระบบช่วงล่างจะเหมือนกับ Evo II แต่ดีไซน์ภายนอกโฉบเฉี่ยวขึ้น และเครื่องยนต์ก็แรงกว่าเดิม เพราะเพิ่มอัตราส่วนการอัดจาก 8.5:1 เป็น 9:1 แต่เมื่อเพิ่มอัตราบูสต์ลูกสูบมักพังจึงนิยมเสริมความเหนียวด้วยลูกสูบ Evo II
ปี 1996 Evolution IV
เสริมประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งต่าง ๆ และระบบ AYC
CN9A เป็น Model Change เปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่งของรถ หากเทียบกับรุ่นเก่าเครื่องยนต์ถูกกลับด้าน และยกเลิก ชุดเกียร์ Intermediate Gear เปลี่ยนเป็นระบบ AYC (Active Yaw Control) ที่ช่วยส่งถ่ายกำลังระหว่างล้อซ้าย-ขวา ได้เหมาะสมขึ้น แต่สำหรับ Evo IV ระบบ AYC ไม่ทนพังง่าย
ปี 1997 Evolution V
เพิ่มความจุเครื่องยนต์และตัวถัง
รุ่นนี้ใช้รหัสตัวถัง CP9A ความเปลี่ยนแปลงเป็นการเพิ่มความกว้างยาง พร้อมแก้ไขปัญหาระบบเบรกที่เป็นจุดอ่อนของ Evo IV และขยายความกว้างตัวถังเป็น 1,770 มม. ขนาดยางเปลี่ยนจาก 205/50-16 เป็น 225/45-17 ส่วนเบรกใช้เป็น Brembo หน้า 4 หลัง 2 พ็อต กล่อง ECU สามารถ Flash โปรแกรมได้ จึงลดปัญหาเครื่องยนต์ได้มาก นับเป็นรุ่นที่เครื่องยนต์ทนทานมาก
ปี 1999 Evolution VI
เสริมความนุ่มนวลด้วยการปรับศูนย์รถ
Evo VI-IV กลับมาด้วยอรรถรสการขับที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยปรับศูนย์รถและเซ็ตช่วงล่างให้นุ่มขึ้นหากเทียบกับ Evo V อาจไม่ปราดเปรียวเท่า แต่การสปอตตัวถังก็ช่วยดึงประสิทธิภาพของรถได้มากขึ้นและในเจนเนอเรชั่นนี้ มีเพิ่มรุ่นพิเศษ Tommi Makinen Edition ที่ลดขนาดเทอร์โบให้ตอบสนองฉับไว ผสานการปรับปรุงระบบ AYC และ Center Diff ให้ดีขึ้น
ปี 2001 Evolution VII
เสริมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มความเร็ว
สายพันธุ์ดุรุ่นนี้ใช้รหัส CT9A เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น โดยรุ่นธรรมดาใช้ชื่อ Lancer Cedia ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มก็ทำให้ความแข็งแรงมากตาม หากเทียบกับ Evo VI ตัวรถแข็งแรงมากกว่า 1.5 เท่า และมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ ACD (Active Center Differential) ที่เสริมการกระจายอัตราส่วนล้อหน้า-หลังให้เท่ากัน 50/50
ปี 2003 Evolution VIII
เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าโค้งผสานเกียร์ 6 MT
รุ่นนี้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Evo VII แต่เพิ่มความสนุกในการขับด้วยเกียร์ 6 สปีด ผสานการพัฒนาตัวรถแบบ AYC รุ่นใหม่ชื่อว่า Super AYC ด้านประสิทธิภาพการเข้าโค้งถูกพัฒนาให้เหนือขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ปรับปรุงลูกสูบ ใช้วาล์วน้ำหนักเบา ฯลฯ ทำให้รอบต่ำถึงสูงมีอัตราเร่งต่อเนื่อง หากปรับแต่งเพิ่มเล็กน้อยก็เป็นรถแข่งได้สบาย
ปี 2005 Evolution IX
4G63 รุ่นสุดท้าย มาพร้อมชุดวาล์วแปรผัน Mivec
Evo IX เป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้เครื่องยนต์ 4G63 พร้อมมีชุดวาล์วแปรผัน Mivec และเปลี่ยนในเทอร์โบด้านหน้าเป็นแม็กนีเซียม ช่วยเพิ่มแรงบิดรอบต่ำ และขยายเพาเวอร์แบนด์ ส่วนการทำงานรอบสูงก็ตอบสนองดีขึ้น นับว่าระบบ Mivec มีส่วนช่วยให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายสำนักแต่งนิยมใช้เครื่อง Mivec ในการปลุกปั้นความแรงให้ Evolution
ปี 2007 Evolution X
รุ่นใหม่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีล่าสุด
รุ่นนี้เปลี่ยนพื้นฐานเป็น Galant Fortis พร้อมใช้เครื่องยนต์ใหม่รหัส 4B11 ที่เสื้อสูบทำจากอะลูมิเนียม ชุดคลัตช์แบบคู่ และใช้ระบบ SST ที่พัฒนาใหม่ จึงนับเป็นการโมเดลเชนจ์หลัง Evolution รหัส CT ออกจำหน่ายนาน 6 ปี โดยเปลี่ยนรหัสเป็น CZ4A ซึ่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และระบบ Mivec เช่นเดิม แต่แตกต่างที่รุ่นนี้จะมีระบบ Mivec ด้านฝั่งไอเสียด้วย สำหรับ AYC และ ACD ก็ถูกผนวกเป็นระบบ S-AWC (Super All Wheel Control)
ประเทศอังกฤษเปิดตัวรุ่นพิเศษหลังยุติการผลิต
หลังจากมิตซูบิชิเปิดใจประกาศยุติการผลิต Lancer Evolution ในประเทศอังกฤษก็เปิดตัวรุ่นพิเศษ เพื่อให้ระลึกถึงยอดรถสายพันธุ์นี้ โดยใช้รหัส FQ-440 MR ที่อัพเกรดด้วยเทอร์โบ HKS ผลิตเพียง 40 คัน ราคาประมาณ 50,000 ปอนด์ หรือประมาณ 8.45 ล้านเยน แม้ราคาค่อนข้างสูงแต่รถทั้ง หมดก็มีเจ้าของด้วย
รุ่นพิเศษ!
RS Grade รุ่นที่มี : ทุกรุ่น
เป็นรุ่นสำหรับการแข่ง ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก แต่หลายคนก็ชอบเพราะมีระบบเฟืองท้ายแบบกลไก (AYC) ส่วนไฟตัดหมอกหน้าถูกหุ้มด้วยฝาครอบอันดุดัน
Tommo Makinen Edition รุ่นที่มี : Evo VI
จุติเพื่อฉลองแชมป์ 4 ปีซ้อนของนักแข่ง Tommi Makinen ซึ่งยุคนั้นขับให้มิตซูบิชิ ตัวรถมีภายนอกอันดุดันแตกต่างจากรุ่นธรรมดา ช่วงล่างเซ็ตค่อนข้างแข็งตามสไตล์รถแข่งแรลลี่ Tarmac ด้านการนำชื่อคนตั้งเป็นชื่อรุ่นรถนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการรถเลยทีเดียว
GT-A รุ่นทีมี : Evo VII
เป็นรุ่นแรกของ Evolution ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ พร้อมปรับพลังเหลือ 272 แรงม้า แต่เซ็ตแรงบิดในรอบต่ำ-กลางให้ดีขึ้น ส่วนภายนอกออกแบบเพื่อใช้ในเมืองเป็นหลัก จึงปรับขนาดหางหลังให้เล็กลง และมีออปชั่นปีกหลังขนาดใหญ่ให้เลือก หรือต้องการแบบโล้น ๆ ก็ได้
MR รุ่นที่มี : Evo VIII / Evo IX
รุ่นนี้ปรับแต่งโดย Mitsubishi Racing นับเป็นครั้งแรกที่ผลิตโดยใช้หลังคาอะลูมิเนียม จึงมีน้ำหนักเบาที่สุดในรหัส CT และสำหรับ Evo IX MR ได้ลดขนาดคอมเพรเซอร์เทอร์โบ การตอบสนองจึงดีขึ้น ปัจจุบันรถรุ่นนี้ยังได้รับความนิยมสูง ราคาจึงแพงกว่า Evo IX
Evo Wagon รุ่นที่มี : Evo IX
เป็นรุ่น Station Wagon ครั้งแรกของ Evo เปิดตัวเดือนกันยายนปี 2005 โดดเด่นด้านกระบวนการผลิต โดยใช้แชสซีส์ของ Evo IX ดัดแปลงด้านบนเชื่อมกับ Lancer Wagon ด้านประสิทธิภาพแอโรไดนามิกส์ สามารถซิ่งได้เร็วกว่าซีดานทั่วไป
ยุติการผลิตในปี 2014 ปิดตำนาน Evolution
Credit : Option Thailand , Wikipedia
By Admin Park