โครงการ“ Thailand ICT Youth Challenge 2014” เวทีการใช้ไอซีทีนำพาการศึกษาของเด็กไทยสู่โลกอนาคต
ในปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีสามารถสร้างความแตกต่างในเรื่องของสถานภาพและคุณภาพของการศึกษา รวมถึงบทบาทในการเรียนการสอนในแต่ละวันได้อีกด้วย อีกทั้งเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาไทย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาในสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เด็กนักเรียนมีการใช้เทคโนโลยีไอซีทีได้ง่าย และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุนำไปสู่ความแตกต่างในด้านการศึกษา รวมทั้งสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต สิ่งเหล่านี้ คือปัญหาที่นักวิชาการเรียกว่า Digital Divine ซึ่งมองว่า ถ้าจะให้ระบบการศึกษาไทยลดการเผชิญกับปัญหานี้ ต้องให้ทุกภาคส่วนสร้างการรับรู้และร่วมมือกัน ดั่งจุดเริ่มต้นแนวคิดที่ว่าคุณภาพการศึกษาไทยคือตัวชี้วัดอนาคตชาติ
ดังนั้น ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อการ (MICT) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) สามองค์กรหลัก ในการพัฒนาและดูแลการมีการใช้ไอซีทีของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำโครงการ “ Thailand ICT Youth Challenge 2014” ขึ้น เพื่อให้เป็นเวทีในการส่งเสริมการเข้าถึงไอซีทีของเด็กไทย โดยเป็นการระดมสมอง ความคิด จากหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมแข่งขันกัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เรื่องของการส่งเสริมการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ที่ให้นำไอซีทีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการศึกษาไทย และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากยิ่งขึ้น
โครงการนี้มีนักเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 คน มีผลงานเข้าประกวดจำนวนกว่า 400 ชิ้น และทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้คัดเลือกผลงานจนได้รางวัลชนะเลิศ 2 ทีมได้แก่ เด็กหญิงกานต์วิณี เจดีย์ หรือน้องมิลค์ และเด็กหญิงพิมพ์สุจี ดูดดื่ม หรือน้องเจล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอินทโมลีประทาน จังหวัดสิงห์บุรี เจ้าของผลงาน “Smart classroomเทคโนโลยีก้าวไกลสู่อาเซียน” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทโปสเตอร์ ได้เล่าว่า “อยากให้โรงเรียนของเราดูฉลาดมากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการเรียนการสอน ทำให้การค้นคว้าข้อมูลสะดวกรวดเร็วขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มบรรยากาศในห้องเรียนให้น่าเรียนมากขึ้น และยังเพลิดเพลินกับความรู้ในการค้นคว้าในเรื่องของประเทศในอาเซียน ซึ่งการมาร่วมเข้าประกวดในครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ด้านเทคโนโลยี วิธีการใช้ และใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์”
สำหรับเด็กหญิงธนัชพร พงษ์พิทักษ์ หรือน้องน้ำพริก และเด็กหญิงบุณสิตา เจริญบุญ หรือน้องสิตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอุดมดรุณี จังหวัดสุโขทัย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดประเภทแผ่นพับ ชื่อผลงานว่า “School in the future” โดยเด็กๆให้ความหมายของรางวัลชิ้นนี้ว่า เกิดจากแนวความคิดที่อยากให้ในอนาคตโรงเรียนมีสื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เช่น จอสามมิติ เครื่องสแกนนิ้วมือที่ใช้เวลาเข้าโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งตัวผลงานตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้คล้ายกับเกมบันไดงู ดูแล้วเข้าใจง่าย ภายในชิ้นงานมีคำภาษาอังกฤษที่โดดเด่นว่า Play Learn Grow แปลว่า เรียน เล่น และเติบโตไปด้วยกัน ” ด้านนางสุริยงค์ คงเจริญ ครูที่ปรึกษา โรงเรียนอุดมดรุณี ได้กล่าวว่า “สำหรับโครงการที่ทางผู้ใหญ่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อเด็กๆ มาก ทำให้เด็กๆ ได้กล้าแสดงออก ได้รู้จักใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน ให้ถูกทาง ใช้ให้เกิดประโยชน์ ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกคนใช้กันหมด เราต้องเลือกมาใช้เพื่อที่จะให้เด็กเกิดการพัฒนาและกระตุ้นความสนใจของเด็ก ให้เด็กสนใจที่จะเรียน ในหลายๆวิชา คิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเราต้องใช้สื่อในการสอน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเรียนมากขึ้น เพราะ บ้างครั้งเรียนแต่ในหนังสืออาจจะไม่เข้าใจ พอมีสื่อมาช่วยทำให้สนุก หาข้อมูลง่ายขึ้น และเข้าใจมากยิ่งขึ้น”
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ทางทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อการ (MICT) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ได้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งต้องการกระตุ้นให้วงการการศึกษาของไทยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทและบูรณาการการเรียนการสอนมากขึ้น
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP