10 ก.พ. รถร่วม ขสมก. ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท
2015-02-09 10:20:00
 
     คนกรุงต้องทำใจ คมนาคมให้ขึ้นค่ารถเมล์แล้ว 1 บาท มีผล 10 ก.พ.นี้ แต่ผู้ประกอบการรถร่วมไม่เห็นด้วย ขีดเส้นขอขึ้น 3 บาท ใน 1 สัปดาห์ อ้างสะท้อนต้นทุนเอ็นจีวีที่เพิ่มขึ้น ยันสัปดาห์หน้าไม่ได้คำตอบ จะทยอยหยุดวิ่ง อ้างไม่มีเงินเติมแก๊ส ด้านแท็กซี่ร่วมซ้ำ ขู่หากไม่ให้ขึ้นค่าโดยสารรอบ 2 ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ อาจเห็นปฏิเสธผู้โดยสารเพิ่ม ขณะที่ รมว.คมนาคมแบะท่าให้รถเมล์ปรับราคา เหตุไม่ได้ขึ้นมานานจริง แต่ขอดูข้อมูลก่อน โดยเร่งพิจารณาให้ทัน 10 ก.พ.นี้ ขณะเดียวกันน้ำมันก็ปรับขึ้นอีก 50 สต./ลิตร
 
      คนกรุงเทพฯเตรียมควักกระเป๋าจ่ายค่าโดยสารรถประจำทางเพิ่ม โดยนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการ รถโดยสารประจำทาง พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขสมก.เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับค่าโดยสารของรถโดยสารประจำทางธรรมดา 3 บาท จาก 8 บาท เป็น 11 บาท และรถโดยสารปรับอากาศอีกระยะละ 3 บาท ภายใน 1 สัปดาห์ โดยมีนายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนในการรับมอบ ในเวลาเดียวกัน นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ได้มายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้พิจารณาขึ้นค่าโดยสารรอบสองเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ และให้ขายแก๊สในราคาเท่าเดิม
 
 
 
     นายพงษ์ไชยกล่าวหลังรับมอบหนังสือว่า เบื้องต้นคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้เห็นชอบให้ผู้ประกอบการรถร่วมปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว 1 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.นี้ แต่หากผู้ประกอบการต้องการให้ทบทวนใหม่ กระทรวงคมนาคมพร้อมรับข้อเสนอไปพิจารณาทบทวนมติเดิม เพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนแก๊สเอ็นจีวีที่เพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ว่าอาจอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสารเกิน 1 บาท เนื่องจากการประชุมก่อนหน้านี้เป็นการพิจารณาก่อนที่กระทรวงพลังงานจะปรับขึ้นเอ็นจีวี
 
 
     นายพงษ์ไชยกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไม่ให้ผู้ประกอบการหยุดเดินรถเพราะประชาชนจะเดือดร้อน แต่จะหาข้อสรุปทันใน 1 สัปดาห์ตามที่เรียกร้องหรือไม่ ต้องขอหารือก่อน แต่ในส่วนของกระทรวงคมนาคมอยากให้รอราคาพลังงานนิ่งก่อน และค่อยมาพิจารณารอบเดียว เพราะ ทราบว่ากระทรวงพลังงานอาจขึ้นเอ็นจีวีไปเรื่อยๆ จนถึง กก.ละ 15 บาท แต่หากผู้ประกอบการรอไม่ได้ อาจพิจารณาให้เร็วที่สุด และอาจใช้วิธีทยอยปรับขึ้นเป็น 2 รอบ ตามราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลง
 
     ด้านนางภัทรวดีกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาขึ้นค่าโดยสาร 3 บาทให้ทันภายใน 1 สัปดาห์ หรือก่อนวันที่ 10 ก.พ.นี้ ไม่เช่นนั้นอาจเห็นผู้ประกอบการรถร่วม 2,500 คันทยอยหยุดวิ่งให้บริการ แต่ไม่ใช่หยุดเพราะเป็นการประท้วง แต่มาจากการไม่มีเงินเติมแก๊ส และต้องขออภัยประชาชนด้วยหากต้องทำให้เดือดร้อน ส่วนหากรัฐบาลจะให้ขึ้นค่าโดยสารก่อน 1 บาท ในวันที่ 10 ก.พ.นี้ ผู้ประกอบการก็ไม่พอใจกับแนวทางนี้ และรัฐต้องชี้แจงเหตุผลให้รับทราบได้ เพราะหากขึ้นไปแล้วจะให้ขึ้นอีกรอบ จะอธิบายสังคมได้ลำบาก และผู้ประกอบการรถร่วมจะดูเหมือนเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนผู้ใช้บริการทันที
 
 
     “ที่มาเรียกร้องเพราะผู้ประกอบการทนไม่ไหว จริงๆที่ต้องทนรับสภาพการขาดทุนมานานตั้งแต่ปี 51 โดยรัฐบาลไม่เคยเหลียวแลเพียงแต่บอกให้ช่วยตัวเองไปก่อน ผิดกับผู้ประกอบการแท็กซี่ที่โชคดีได้ขึ้นราคาไปแล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่ทราบว่าเมื่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้รถเมล์ขึ้นค่าโดยสารไปแล้ว 1 บาท แต่ทำไมถึงไม่บอกให้ประชาชน รับทราบ และผู้ประกอบการก็มีการพิมพ์ตั๋วรอแล้ว ด้วย แต่ก็ยอมรับว่าราคานี้ไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริง เพราะเป็นการนำผลจากปี 55 มาใช้ ซึ่งราคาเอ็นจีวียังถูกอยู่” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางกล่าว
 
     ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า นโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี 2 ครั้งหลังรวม 1.50 บาทของกระทรวงพลังงาน ส่งผลกระทบทำให้รายจ่ายผู้ขับขี่แท็กซี่เพิ่มขึ้นวันละ 100 บาท ทำให้ต้องวิ่งแบบขาดทุนมาตลอด และยังถือว่าเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเองของหน่วยงานในรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับแท็กซี่ โดยอนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นค่าโดยสาร 13 เปอร์เซ็นต์ เพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร และปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการให้กับประชาชน แต่กระทรวงพลังงานกลับใช้มาตรการเพิ่มรายจ่ายให้แท็กซี่
 
 
     ทั้งนี้ ระหว่างที่แท็กซี่รอการปรับขึ้นราคาระยะที่ 2 ในเดือน เม.ย.2558 กระทรวงพลังงานก็ได้ปรับ ราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไปอีก ดังนั้น แท็กซี่จะขอให้กระทรวงคมนาคมปรับเพิ่มเพดานการขึ้นค่าโดยสารระยะที่ 2 จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 13 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และขอให้ประสานกระทรวงพลังงานให้ระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีในครั้งต่อไป รวมทั้งหามาตรการเยียวยาจากการปรับขึ้นเอ็นจีวี 2 ครั้ง หลังที่ผ่านมาด้วยการเพิ่มวงเงินชดเชยจาก กก.ละ 3 บาท เป็น 4.50 บาท เพื่อให้ครอบคลุมกับราคาพลังงาน ที่เพิ่มขึ้นรวม กก.ละ 1.50 บาท
 
     “หากรัฐบาลไม่อนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นราคาระยะที่ 2 อีก 13 เปอร์เซ็นต์ ตามที่เราขอ หรือไม่มีมาตรการอุดหนุนราคา เราเชื่อว่าปัญหาเดิมๆในการใช้บริการแท็กซี่ของประชาชนทั่วไปจะต้องกลับมาอีก อย่างแน่นอน เช่น การปฏิเสธผู้โดยสาร การให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพรถที่ให้บริการเก่า เราจะให้เวลากระทรวงคมนาคมพิจารณาสักระยะ หากพ้นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วยังไม่ได้คำตอบ ผมจะเรียกสมาชิกในเครือข่ายประชุมเพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวต่อไป” ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯกล่าว
 
     ต่อมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับราคารถร่วม ขสมก. เพราะไม่ได้มีการปรับมานาน 6-7 ปี แต่จะให้ปรับเท่าไรขอดูข้อมูลประกอบก่อน โดยจะเร่งพิจารณาให้ทันภายในวันที่ 10 ก.พ.นี้ ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลาหากจะประกาศให้ปรับราคาอาจเป็นช่วงวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ยังได้ แต่ขอดูข้อมูลทั้งหมดให้รอบด้านก่อน พร้อมกับขอร้องอย่าเพิ่งหยุดเดินรถเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ เรื่องนี้กระทรวงพร้อมจะพิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
                     ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่ทันภายในเดือนนี้ แต่เบื้องต้นทางกระทรวงได้อนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว 1 บาท โดยรถร้อนจาก ราคา 8 บาท ขึ้นเป็น 9 บาท รถปรับอากาศ จากราคา 11-12 บาท เพิ่มเป็น 13-14 บาท มีผล 10 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ราคาหน้าตั๋วยังคงราคาเดิม
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร  ben bryant / Shutterstock.com

Admin : Chanya
view
:
2001

Post
:
2015-02-09 10:20:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น