ตำนาน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ตอนจบ)
2014-12-22 10:08:14

พิพิธภัณฑ์ที่นี่แบ่งเป็นสองส่วน  ส่วนแรก (คุกแดน 9 เดิม) เป็นห้องที่จัดแสดงเครื่องพันธนาการในสมัยโบราณ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อป้องกันการหลบหนี เช่น ตรวน กุญแจมือ โซ่ล่าม เหล็กครอบสะเอว โซ่พวงคอ ขื่อคา ตะโหงก กลัง และสมอบก เป็นต้น และแดน 9 แห่งนี้ ก็เป็นคุกที่เคยคุมขังนักโทษจริง จำลองแบบมาจากประเทศอังกฤษเครื่องมือต่าง ๆ มีตราบ่งบอกว่ามาจากอังกฤษจริง ๆ ตั้งแต่บานประตูจนถึงขั้นบันได ประตูทางเข้าจะเป็นระบบเปิดครั้งเดียวประตูนักโทษทุกบานจะเปิดพร้อมกันหมด ในห้องขังแสดงวิธีการทรมานแบบต่าง ๆ แบบโบราณเรียกว่าโทษทวะดึงษ์กรรมกรณ์ 32 ประการ คือ ทรมาน 11 วิธี และฆ่าให้ตาย 21 วิธี เช่นการใส่นักโทษไว้ในตะกร้อที่ตอกตะปูแล้วให้ช้างเตะ วิธีนี้เป็นวิธีทรมานรวมถึงการใช้เบ็ดเหล็กเกี่ยวคาง และดึงให้เกี่ยวขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือการทรมานให้สารภาพเช่นการตอกเล็บ บีบขมับ บีบเล็บ ให้เจ็บจนสารภาพออกมา การใช้โซ่ตรวนต่าง ๆ เรียกว่ามีทั้งวิธีการทรมาน การจองจำ และประจานเจ้าหน้าที่เล่าว่าวิธีการเหล่านี้เป็นยุคแห่งการลงโทษด้วยวิธีการแก้แค้นให้สาสมกับโทษที่ทำ แต่ในยุคปัจจุบันคือยุคแห่งการแก้ไขคือ นำนักโทษมาปรับพฤติกรรมให้เป็นคนดี

 

ส่วนต่อมาเป็นส่วนพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างเป็นรูปการลงโทษในสมัยโบราญ ส่วนห้องจัดแสดงห้องแรกของชั้นสอง เป็นห้องแสดงการประหารชีวิตแบบโบราญคือการตัดคอ มีหุ่นจำลองของเพชฌฆาตสองคนกำลังทำท่าเงื้อดาบ มีนักโทษนั่งกับพื้นถูกมัดกับหลักห้องต่อมาเป็นการประหารชีวิตด้วยปืน ซึ่งมีหุ่นจำลองที่สมจริงอีกเช่นกัน มีเสียงเล่าขั้นตอนการประหารชีวิต ตั้งแต่อ่านหมายศาลให้นักโทษทราบและลงชื่อรับทราบ และอีกหลายขั้นตอนห้องที่สามเป็นห้องเกี่ยวกับวิธีประหารล่าสุดก็คือ การฉีดยาพิษให้ตายวิธีการนี้นำมาจากสหรัฐอเมริกา ในห้องนี้มีการอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในวันที่ 12 ธันวาคม 2546 ประหารนักโทษจำนวน 4 คน และหลังจากนั้นยังไม่มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีนี้อีกเลยในประเทศไทย เพราะตรงกับปีมงคลของพระสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ หรือพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่น ๆ นักโทษประหารจึงได้รับอภัยโทษทุกปี

 

แดน 9 ซึ่งเคยเป็นอาคารเรือนนอน และคงสภาพเดิมไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะของอาคารห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องควบคุมผู้ต้องขัง และสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง เช่น การกินอยู่หลับนอน ในช่วงหนึ่งอาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นที่คุมขังนักการเมืองคนสำคัญของประเทศอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.2540

 

หลังจากชมส่วนของพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อย เราก็กลับมาสู่โลกปัจจุบัน ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นของสวนรมณีนาถ สวนสาธารณะที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ บรรยากาศความน่ากลัวของสถานที่ตั้งคุกแห่งแรกของประเทศไทยก็ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ผู้คนมากมายต่างหาเวลามาพักผ่อนกัน ณ สถานที่แห่งนี้ มีการพบปะนั่งพูดคุยกันตามเก้าอี้โดยรอบ คนที่ชอบออกกำลังกายก็มีพื้นที่ให้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะวิ่ง เตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล ไปจนถึงชมรมยกเว่ทก็มีในบริเวณสวนแห่งนี้ ไม่เหลือเค้าดินแดนที่กักขังนักโทษมานับพัน นับหมื่น นับแสนคน

 

ได้ยินมาแว่ว ๆ ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะปิดตัวลงในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็คงเหลือไว้เพียงสวนสาธารณะที่ปกปิดความเศร้าหมองของนักโทษไว้ตลอดกาล

 

 

Credit :ZOGZAG

By Admin Park

 

 


Admin :
view
:
10988

Post
:
2014-12-22 10:08:14


ร่วมแสดงความคิดเห็น