ตุ่นปากเป็ด (Platypus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่แปลกและประหลาดที่สุดในโลก !!!
"Mammal" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มนุษย์เองก็เป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่อาจจะมีบางท่านแย้งว่าปัจจุบัน มนุษย์ได้มีการวิวัฒนาการ ก้าวข้ามไปสู่การเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงิน...!! บ้างแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่แปลกเท่าไรนัก และถ้าหากจะมีการตั้งคำถามว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดไหน ที่ออกลูกเป็นไข่ , เป็นสัตว์ที่มีพิษ , อีกทั้งสามารถอาศัยได้ทั้งบนบก และในน้ำ ติกต๊อกๆ ติกต๊อกๆ เฉลยเลยแล้วกัน ก็ ตุ่นปากเป็ด ไงครับ ..?? หากไม่เชื่อ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูข้อมูลของ "ตุ่นปากเป็ด" กันตามนี้ได้เลยครับ ^ ^
"ตุ่นปากเป็ด" (อังกฤษ: Platypus) เป็น สัตว์ประจำท้องถิ่นของ ออสเตรเลีย แม้ว่าตุ่นปากเป็ดจะมีเพียงสปีชีส์เดียว แต่มีชื่อเรียกมากมายหลายชื่อ เช่น watermole, duckbill, duckmole, duck-billed platypus และมีชื่อที่ชาวอะบอริจินตั้งให้อีกหลายชื่อ ได้แก่ mallangong, boondaburra และ tambreet พบตุ่นปากเป็ดเฉพาะในแถบตะวันออกของออสเตรเลียเท่านั้น ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) เช่นเดียวกับอีคิดนา
รายละเอียดเกี่ยวกับ "ตุ่นปากเป็ด"
- ตุ่นปากเป็ด ( Platypus ) เป็นสัตว์ประจำถิ่นของออสเตรเลีย
- ตุ่นปากเป็ด ยังถูกเรียกอีกมากมายหลายชื่อ เช่น ตุ่นน้ำ(watermole) ปากเป็ด(duckbill) ตุ่นเป็ด(duckmole) และduck-billed platypus
- ตุ่นปากเป็ด มีลักษณะรูปร่างที่แปลกประหลาด คือ มีรูปร่างคล้ายตัวนาก(แต่แบนกว่า) มีปากคล้ายเป็ด(แต่ยืดหยุ่นคล้ายยาง) มีหางแบนคล้ายตัว บีเวอร์(แต่ใช้เพื่อควบคุมทิศทางในการว่ายเท่านั้น ส่วนบีเวอร์ใช้โบกไปมาเพื่อเคลื่อนที่)
- ตุ่นปากเป็ด มีมือ และเท้าเป็นพังพืด ที่จะกางออกเมื่ออยู่ในน้ำเพื่อใช้ว่ายน้ำ แต่จะหุบเก็บเวลาเดินอยู่บนบก
- บริเวณเท้าหลังของ ตุ่นปากเป็ด จะมีเดือย ที่ มีรูตรงกลางเชื่อมไปยังต่อมพิษ แต่พิษนั้นไม่ร้ายแรงพอจะทำให้มนุษย์เสียชีวิต
- ตุ่นปากเป็ด มีท่าเดินบนบกที่แปลกประหลาด ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป คือ เดินขากางออกนอกลำตัว คล้ายสัตว์เลื้อยคลาน(ลองนึกถึงจระเข้เดิน) ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะเดินขาขนาดลำตัว(ลองนึกท่าเดินของ น้องหมา)
- ตุ่นปากเป็ด เป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงไม่กี่ชนิดที่ออกลูกเป็น ไข่
- ตุ่นปากเป็ด ยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีจำนวนโคโมโซมเพศ มากที่สุด ถึง 10 แท่ง โดยมนุษย์มีเพียง 2 แท่ง ( XY เป็นเพศชาย , XX เป็นเพศหญิง)
- ตุ่นปากเป็ด มีวิธีหาอาหารที่แปลกคือ ใช้ปากคุ้ยพื้นดิน แล้วใช้ประสาทสัมผัสในการตรวจหาคลื่นไฟฟ้า จากเหยื่อที่ปล่อยออกมา
ความไม่เหมือนใครของ "ตุ่นปากเป็ด" คือรวมความเหมือนของสัตว์ชนิดอื่นไว้ในตัวเอง
ดูหน้ากันให้เห็นจะๆ "ตุ่นปากเป็ด" สิ่งมีชีวิตที่มี วิวัฒนาการอันแตกต่าง และแปลกประหลาดไม่เหมือนใครในโลกนี้ !
ตุ่นปากเป็ดเพศผู้ ที่ข้อเท้าหลังจะมีเดือยยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยื่นออกมา เดือยของตุ่นปากเป็ดมีรูกลวงต่อไปยังต่อมพิษที่ต้นขา บริเวณใกล้ท่อสืบพันธุ์และขับถ่ายเวลาถูกคุกคามจากสัตว์อื่น ตุ่นปากเป็ดมักจะหลบหนีมากกว่าต่อสู้ นอกจากจวนตัวหนีไม่พ้นจริงๆ ในการต่อสู้ตุ่นปากเป็ดตัวผู้จะใช้เดือยพิษแทงและปล่อยพิษใส่ศัตรู สำหรับคน พิษตุ่นปากเป็ดไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้แผลบวม และเจ็บปวดสาหัสอยู่เป็นเวลานาน ว่ากันว่าอาจจะนานเป็นเดือนๆเลยทีเดียว แต่สำหรับสุนัข แมว และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ พิษนี้ทำให้ถึงตายได้
การหาอาหาร
ตุ่นปากเป็ด เป็นสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน แม้ตุ่นปากเป็ดจะเกิดและอาศัยอยู่บนบก แต่หากินและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น ลำธาร แม่น้ำ ทะเลสาบ ด้วยลำตัวที่เพรียว มีขาสั้น อุ้งเล็บแข็งแรง ใช้ขุดดินได้ดี เท้าคู่หน้าเป็นพังผืดติดกันทุกนิ้ว ตุ่นปากเป็ดใช้เฉพาะขาหน้าในการดึงตัวไปขณะว่ายน้ำ ขาหลังซึ่งมีพังผืดเพียงบางส่วนทำหน้าที่ร่วมกับหาง เป็นเพียงหางเสือบังคับทิศทางเท่านั้นเมื่อลงน้ำ พังผืดระหว่างอุ้งเท้าจะแผ่ออก เปลี่ยนเท้าเป็นพายที่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อตุ่นปากเป็ดอยู่บนบกมันจะพับพังผืดเก็บไว้ จะได้ใช้กรงเล็บขุดอุโมงค์ยาวๆได้ โดยพังผืดไม่เสียหาย ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ตุ่นปากเป็ดว่ายน้ำและดำน้ำได้ดีมาก ขณะดำน้ำหาอาหารมันจะส่ายปากไปมา เนื่องจากบริเวณปากมีหน่วยรับความรู้สึกเชิงประจุไฟฟ้าในการตรวจจับเหยื่อ
การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
ตุ่นปากเป็ด ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดปี ทั้งบนบกและในน้ำ และเนื่องจากตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงเป็นสัตว์เลือดอุ่น สัตว์เลือดอุ่นมีระดับอุณหภูมิของร่างกายคงที่ ไม่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมเหมือนสัตว์เลือดเย็น ในฤดูหนาว แม้ในวันที่หนาวเย็นมาก ตุ่นปากเป็ดก็ยังออกว่ายน้ำหาอาหาร ความจริงข้อนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตัดข้อสงสัยที่ว่ามันอาจจะเป็นจำพวกสัตว์เลื้อยคลานออกไปได้ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า เวลาอากาศหนาวเย็นสัตว์เลื้อยคลานจะลดอัตราเมแทบอลิซึมลง ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายของมันลดลง และทำให้มีอาการเซื่องซึม หากตุ่นปากเป็ดลดอัตราเมแทบอลิซึมลงด้วย มันก็คงไม่สามารถออกไปหาอาหารที่ก้นแม่น้ำได้
ในทางตรงกันข้าม อากาศยิ่งหนาว ตุ่นปากเป็ดก็ยิ่งต้องเพิ่มอัตราเมแทบอลิซึม เพื่อรักษาสมดุลระหว่างอุณหภูมิปกติของร่างกายและอุณหภูมิภายนอกเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เมแทบอลิซึมหรือการเผาผลาญอาหารนี้ต้องอาศัยพลังงาน ซึ่งปกติได้มาจากอาหาร แต่ในฤดูหนาวอาหารมักจะขาดแคลน ตุ่นปากเป็ดจึงต้องดึงไขมันที่สะสมไว้ในหางมาใช้ ตุ่นปากเป็ดใช้ระบบหมุนเวียนโลหิตมาช่วยลำเลียงความร้อน ความร้อนที่ได้จากการเผาผลาญอาหาร จะลำเลียงผ่านเส้นเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญ และลดการหมุนเวียนไปยังส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น ขาหลัง หาง และปาก นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยเก็บกักความร้อนไว้ได้มากก็คือขนหนานุ่มของมันนั่นเอง นอกจากกันน้ำแล้ว ยังเป็นฉนวนกันไม่ให้ความร้อนระบายออกจากร่างกายได้อีกด้วย นับว่าตุ่นปากเป็ดมีผ้าห่มกันหนาวที่ดีเยี่ยม
เป็นอย่างไรครับน่าทึ่งไหมครับ กับความรู้เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนประหลาดชนิดนี้ ^ ^