"พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" ช้างเผือกคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9
2014-09-08 18:30:00
 
 
ตำราพระคชศาสตร์กำหนดลักษณะสำคัญ ๗ ประการของช้างมงคลไว้ว่า จะต้องประกอบด้วย
 
๑.ตาขาว
๒.เพดานปากขาว
๓.เล็บขาว
๔.ขนขาว
๕.พื้นหนังขาวหรือสีอ่อนๆ ออกแดงคล้ายหม้อใหม่
๖.ขนหางขาว
๗.อัณฑโกสขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่
 
     ช้างที่มีลักษณะทั้ง ๗ ประการครบถ้วน เราเรียกว่า “ช้างสำคัญ” ส่วนช้างที่มีลักษณะมงคลไม่ครบ จะเรียกว่า “ช้าง
ประหลาด” หรือช้าง “สีประหลาด” และหากช้างมีหนังดำ มีงาลักษณะเหมือนปลีกล้วย และมีเล็บดำ จะเรียกว่า “ช้างเนียม” ซึ่งช้างทั้งสามประเภทนี้ ถือเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้ที่ครอบครองช้างประเภทใด จะต้องนำช้างนั้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นช้างทรงตามราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน โดยเรามักจะเรียกช้างทั้งหมดรวมๆ กันว่าเป็น “ช้างเผือก”
 
ถือกันมาแต่สมัยโบราณว่า ช้างเผือกถือว่ามีศักดิ์สูงเทียบชั้นเจ้าฟ้า และสัตว์ที่นิยมนำมาเลี้ยงคู่กับช้างเผือก มี ๒ ชนิด คือลิงเผือกและกาเผือก ถือกันว่าเป็นสัตว์คู่บุญของช้างเผือก จะช่วยป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้ และหากมีเหตุใดๆ เกิดขึ้นกับช้างเผือก จะเชื่อกันว่าเป็นลางร้าย
 
     ช้างเผือกที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ จะเรียกกันว่า “ช้างต้น” ซึ่งสมัยก่อน ช้างต้นมี ๓ ประเภทคือ
     ๑. ช้างศึกที่ใช้ออกรบ
     ๒. ช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นมงคลตามตำราคชลักษณ์แต่ไม่สมบูรณ์ทุกส่วน
     ๓. ช้างเผือกที่มีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ
และจากที่ปัจจุบัน ไม่มีศึกสงคราม ทำให้ความต้องการใช้ช้างศึกเพื่อการสงครามไม่มี ช้างต้นในยุคปัจจุบัน จึงหมายถึงช้างเผือกที่มีลักษณะอันเป็นมงคลนั่นเอง
 
กำเนิดของช้าง ก็สามารถบ่งบอกถึงความเชื่อว่า หากครอบครองช้างตระกูลใด จะส่งผลในทางใดให้กับผู้ครอบครองอีกด้วย ซึ่งกำเนิดของช้างนี้ มีตำนานกล่าวขานกันว่า เมื่อพระนารายณ์เสด็จลงมายังพิภพแล้วได้เนรมิตดอกบัวให้เป็นโลก และได้แบ่งกลีบดอกบัวเป็น ๔ ส่วน นำไปถวายพระพรหม พระอิศวร พระวิษณุ และพระอัคนี และมหาเทพทั้ง ๔ ได้เนรมิตกลีบบัวทั้ง ๔ ให้เป็นช้าง ๔ ตระกูล ได้แก่
 
 
ตระกูลพรหมพงศ์
พระพรหมเป็นผู้สร้าง หากมีช้างในตระกูลนี้มาสู่พระบารมี เชื่อว่าจะให้ความเจริญทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่างๆ แก่เจ้าของ
ลักษณะเด่นของช้างตระกูลนี้ คือมีเนื้อหนังอ่อนนุ่ม มีหน้าใหญ่ ท้ายต่ำ ขนอ่อนละเอียด เส้นเรียบ โขมดสูง คิ้วสูง น้ำเต้าแฝด มีกระเต็มตัว ขนที่หลังหู ปาก และขอบตามีสีขาว อกใหญ่ งามีสีเหลือง เรียวรัดงดงาม
 
 
ตระกูลอิศวรพงศ์
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง เมื่อมีช้างตระกูลนี้มาสู่พระบารมี จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญด้วยทรัพย์และอำนาจ
ลักษณะเด่นของช้างตระกูลนี้ มีผิวกายดำสนิท งาอวบ งอน เสมอกันทั้งสองข้าง เท้าใหญ่ น้ำเต้ากลม คอย่นเมื่อเยื้องย่าง อกใหญ่ หน้าเชิด
 
 
ตระกูลวิษณุพงศ์
พระวิษณุเป็นผู้สร้าง เมื่อมีช้างตระกูลนี้มาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะต่อศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหาร ธัญญาหารจะบริบูรณ์
ลักษณะเด่นช้างตระกูลนี้ มีผิวหนา ขนหนา เกรียน สีทองแดง อก คอ และคางใหญ่ หางและงวงยาว หน้าใหญ่ นัยน์ตาขุ่น และหลังราบ
 
 
ตระกูลอัคนิพงศ์
พระอัคนีเป็นผู้สร้าง ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมี บ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหาร มีผลในทางระงับศึกอันพึงจะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้ว และมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวงอันเกิดแก่บ้านเมืองและราชบัลลังก์
ลักษณะเด่นของช้างตระกูลนี้คือมีท่วงทีงดงาม เวลาเดินจะเชิดงวง อกใหญ่ ปลายงาทั้งสองจะโค้งพอจรดกัน มีสีเหลือง ขนสีขาวปนแดง และผิวกายมีสีใบตองตากแห้ง
 
 
 
สำหรับช้างเผือกทั้ง 10 เชือกในรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วย
        1.พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
        ช้างพลายเผือกโท ลูกเถื่อน นายแปลก คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พลโท บัญญัติเทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯถวาย เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒
       หลังจากสมโภชขึ้นระวางแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา)เป็นการชั่วคราว ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงช้างต้น ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙
        2.พระเศวตวรรัตนกรีฯ
        ช้างพลายเผือกลูกบ้าน ตกลูกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลอ่อนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจเอก นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙
        3.พระเศวตสุรคชาธารฯ 
        ช้างพลายเผือกลูกเถื่อน นายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการออำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกช้าง ๑๐ หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
        4.พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ
        ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อเจ้าแต๋น กรมป่าไม้ได้มาจากอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และอธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๙
        5.พระเศวตศุทธวิลาศฯ
        ช้างพลายเผือกลูกเถื่อน ชื่อบุญรอด คนงานของกรมป่าไม้ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้นำมาเลี้ยงไว้ ณ อุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐
        6.พระวิมลรัตนกิริณีฯ 
        ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขจร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน กรุงเทพฯนายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐
        7.พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ 
        ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อจิตรา นายมายิ มามุ ราษฎรบ้านกูมุง หมู่ที่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่บนเทือกเขากือซา นายวัชร สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่ออัญชัน สมโภช ขึ้นระวาง ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
        8.พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ 
        ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อภาศรี นายสุรเดช มหารมย์เจ้าของไร่ภาศรี ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอ ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านหนองปืนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายสมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์
        9.พระเทพวัชรกิริณีฯ 
       ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขวัญตา พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโลเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิชกำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์จำพวก อัฎฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์
        10.พระบรมนัขทัศฯ
        ช้างพลายเผือกเล็บครบ ลูกเถื่อน ชื่อดาวรุ่ง พระปลัดบุญส่งธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับช้างพัง"ขวัญตา" นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อครบกระจอก เป็น ช้างที่มีเล็บครบ ๒๐ เล็บ คือเท้าละ ๕ เล็บทั้ง ๔ เท้า
        "ช้างเผือก"ทั้ง 10 เชือก แสดงถึงพระบารมีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมี และมิใช่เรื่องแปลกที่พสกนิกรในพระองค์ มีความสุขมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ยาวนานกว่า 63 ปี...
 
 
 
"พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" เป็นช้างประจำพระองค์เชือกแรกซึ่งเป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง ได้รับพระราชทานนามเต็มว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามนาคบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกทลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า ๚"
 
        สำหรับพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2494 ถูกคล้องได้ที่ บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ เมื่อปี 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่อง และนายปลื้ม สุทธิเกิด(หมอเฒ่า) เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย โดยในตอนนั้น พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ชื่อว่า "พลายแก้ว" มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์ แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500
 
        ต่อมา พล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501 เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลปัจจุบัน
 
        พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ ที่สวนสัตว์ดุสิต และมีอาการดุร้ายมากขึ้น จนควาญช้างควบคุมไม่ได้ จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา จนกระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ มีพระราชเสาวณีย์ โปรดเกล้าฯให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระราชวังสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2519
 
        การนำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ไปยังโรงในโรงช้างต้น พระราชวังสวนจิตรลดา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกคอลัมน์ ข้าวไกลนา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 ไว้ว่า
        "...ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่ กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้น ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถือปลายเชือกที่ผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึง และดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์เข้าช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตรายกันมากอยู่ แต่ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้
        พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา.."
        ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547
 
 
 
 
 
 
 
และนี่คือ "พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" ช้างเผือกคู่พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9  ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ข้าพเจ้า เวปไซต์ตาโตดอทคอม 

Admin : Rapin
view
:
10757

Post
:
2014-09-08 18:30:00


ร่วมแสดงความคิดเห็น