"เรือนหอบางยี่ขัน" อนุสรณ์แห่งความรัก
2014-08-07 11:51:00
ในสมัยรัชกาลที่5 หลวงชลภูมิพานิช ข้าราชการผู้น้อยลูกหลานชาวจีนผู้นี้เข้ารับราชการอยู่ที่กรมท่าซ้าย ในกระทรวงมหาดไทย วันหนึ่งหลวงชลภูมิพาณิชได้บังเอิญไปพบกับนางสาวส่วน บริเวณหน้าประตูวังหลวง หลวงชลภูมิพานิชเกิดมีใจรักและเสน่หาในตัวนางสาวส่วนตั้งแต่แรกพบ แต่ก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปสนทนาทำความรู้จัก ด้วยความที่เป็นชายหนุ่มไม่ค่อยกล้าจะแสดงออกหลวงชลภูมิพานิชจึงทำได้เพียงแค่แอบมอง และมายืนรอหน้าประตูวังหวังว่าจะได้พบนางสาวส่วนอีกสักครั้ง
จากภาพคือ พระยาชลภูมิพานิช
นางสาวส่วนผู้นี้แท้จริงแล้วเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งผู้เป็นแม่ได้นำมาถวายเป็นข้าหลวงตั้งแต่ยังเด็ก จึงได้รับการอบรมในราชสำนักเป็นอย่างดีทั้งในด้านวิชาการ ศิลปะ มารยาทจึงเป็นกุลสตรีทุกระเบียบนิ้ว และเป็นคนค่อนข้างจะถือเนื้อถือตัวเอาการ ไม่เปิดโอกาสให้ชายใดมาทำความรู้จักได้อย่างง่าย ด้วยเหตุนี้หลวงชลภูมิพานิชจึงไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักหรือพูดคุยเลย เมื่อถึงเวลาพักหรือเสร็จราชการหลวงชลภูมิพานิชเป็นอันต้องไปดักรอดูนางสาวส่วนอยู่ร่ำไป
บ้านบางยี่ขันในขณะถูกปล่อยร้างและได้รับการบูรณะเป็นโรงแรม
จนวันหนึ่งเรื่องความรักของข้าราชการหนุ่มผู้นี้ก็ได้ทราบไปถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่5 พระองค์จึงปรึกษากับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี สุดท้ายจึงมีพระบรมราชานุญาติให้ทั้งคู่ได้ลองทำความรู้จักและคบหาสมาคมโดยเริ่มจากการส่งจดหมายหากัน และพบเจอกันได้ในบางโอกาส ในที่สุด นางสาวส่วนจึงถวายบังคมลาจากการเป็นข้าหลวงเพื่อทำการสมรสกับหลวงชลภูมิพานิช เรื่องนี้สร้างความปิติยินดีให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังที่เอาใจช่วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกรมท่าซ้าย และราชสำนักสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ด้วยความรักนี้ หลวงชลภูมิพานิชจึงสร้างเนื้อสร้างตัวเก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างเรือนหอริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่หญิงผู้เป็นที่รัก ซึ่งต่อมาเรียกว่า "บ้านบางยี่ขัน"โดยมีโจทย์ในการออกแบบคือ"ความรัก"เพื่อให้สถาปนิกชาวยุโรปออกแบบ เรือนหอหลังนี้สร้างแล้วเสร็จในปี2466 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่6 และเป็นช่วงเวลาที่หลวงชลภูมิพานิชเจริญก้าวหน้าในราชการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลภูมิพานิช นางสาวส่วนจึงได้รับพระราชทานเครื่องราชฯชั้นคุณหญิงตามศักดิ์ของสามี พร้อมทั้งได้รับพระราชทานนามสกุลประจำตระกูลคือ “อเนกวณิช” ท่านพระยากับคุณหญิงครองรักกันอย่างมีความสุขพร้อมพยานรักที่น่ารักอีก10คน
ทายาทของท่านอาศัยอยู่ในบ้านบางยี่ขันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงยุคที่ผู้คนไม่นิยมสัญจรทางเรือ แต่เปลี่ยนไปขับรถยนต์แทน ด้วยอาณาเขตของบ้านบางยี่ขันที่มีทางเข้าออกแค่ทางเรือเท่านั้นจึงทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ในปี2487นายปานจิดต์บุตรชายคนที่7จึงตัดสินใจขายบ้านบางยี่ขันให้แก่กลุ่มมุสลิมบางกอกน้อย เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนราชการุญ ซึ่งต่อมาได้ปิดกิจการไป
กว่า 50ปี ที่เรือนหอหลังนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างปัจจุบันบ้านบางยี่ขันได้รับการบูรณะใช้เวลาทั้งหมด 20 เดือน ด้วยเงินทุนกว่า 100 ล้านบาท อาจารย์วิชัย พิทักษ์วรรัตน์ และทีมงานทุกคนที่ร่วมมือกันนำคฤหาสน์หลังงามที่อวลไปด้วยความรักหลังนี้ กลับมาให้ทุกคนสามารถเข้าไปชื่นชมได้อีกครั้ง
คุณปรียาธร พิทักษ์วรรัตน์กล่าวว่า “เราตัดสินใจเปิดเป็นบูติคโฮเต็ลขนาดเพียง 17 ห้อง เพราะเราไม่ทำเกินพื้นที่เก่าของจริง” ทุกอย่างที่คุณเห็นวันนี้ ล้วนคือความเป็นมาของจริงของบ้านหลังนี้ตั้งแต่ดั้งเดิมที่เราพยายามเก็บรักษาไว้ ชีวิตของคนไทยโบราณสมัยเกือบ 100 ปีก่อน ถูกนำมาเล่าใหม่ในสถานที่แห่งนี้
จากภาพคือ บริเวณวงกลมสีแดงคือ บ้านบางยี่ขัน วงกลมสีเขียวคือ ท่าเรือพระอาทิตย์ เส้นตรงสีแดงคือสะพานพระรามแปด เส้นตรงสีเขียวคือสะพานพระปิ่นเกล้า
ตอนอดีตและ ปัจจุบัน
ปัจจุบันบ้านบางยี่ขันได้รับการบูรณะเป็นโรงแรมหรู โดยยังคงเสน่ห์ของความเป็นเรือนหอที่สร้างขึ้นจากความรัก โรงแรมหรูแห่งนี้ชื่อว่า Praya Palazzo หมายถึงคฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช ที่มองด้วยตาเปล่าก็สามารถรับรู้ได้ว่าบ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากความรัก
ที่มา: ประวัติความเป็นมาบริเวณพนังห้องอาหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ โรงแรมพระยาพาลาสโซ่
Admin : Chanya
view
:
4347
Post
:
2014-08-07 11:51:00
เครดิต : อ.หนวดแว่น
ร่วมแสดงความคิดเห็น