กว่า 69 ปีมาแล้ว ที่เหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่2 ได้เกิดขึ้นบาดแผลทางร่างกายและจิตใจของผู้คนที่เกิดทันเหตุการณ์ในครั้งนั้นคงจางหายไปตามกาลเวลา
การคัดเลือกเมืองของอเมริกา
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว รศ.ฉลองจึงเริ่มทำการค้นคว้าประกอบการทำงานวิจัยถึงเรื่องการระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา รศ.ฉลองกล่าวว่า เมืองที่อเมริกาคัดเลือกที่จะใช้ระเบิดปรมาณูในตอนแรกมีทั้งหมด 5 เมือง คือ เกียวโต ฮิโรชิมา นางาซากิ นิคาตะ และโคคุระ แต่เป้าหมายของการทิ้งระเบิดของอเมริกาคือต้องเป็นเมืองที่ยังไม่ถูกทำลาย มีประชากรหนาแน่น เพื่อการประเมินผลระเบิดปรมาณูและความเป็นระบบทางการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในขั้นแรกอเมริกาตัดเมืองเกียวโตออกเพราะเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเพราะหากทิ้งระเบิดไปอาจสร้างความแค้นใจให้กับชาวญี่ปุ่นมาก ต่อมาจึงตัดเมืองนิคาตะออกอีกหนึ่งเมืองเนื่องจากเป็นเมืองชนบทและเป็นเมืองทำนาผลิตข้าวประชากรไม่หนาแน่น จึงเหลือเพียงสามเมืองเท่านั้น ที่จะทิ้งระเบิดคือ ฮิโรชิมา นางาซากิ และโคคุระ
ระเบิดลูกแรกที่ฮิโรชิมา
ก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิด จะมีการบินตรวจสภาพท้องฟ้าว่าเปิด เห็นเป้าหมายในการทิ้งระเบิดเพียงใด เช้าวันที่6 สิงหาคม 2488 เครื่องบินของกองทัพอเมริกันบินตรวจสภาพฟ้าของเมืองฮิโรชิมา ปรากฎว่าเมืองฮิโรชิมาปลอดโปร่งฟ้าใส ดังนั้นเครื่องบินของกองทัพอเมริกันชื่อ “อีนอลา เกย์” (Enola gay) ได้บรรทุกระเบิดปรมาณูที่ชื่อ“ลิตเติ้ล บอย” (Little boy) มาทิ้งที่ฮิโรชิมา ณ เวลา 8.15 น. วิธีปลดระเบิดคือการตั้งเวลาให้ระเบิดกลางอากาศเพื่อให้รัศมีการทำลายแผ่วงกว้างให้มากที่สุด โดยระเบิดจะจุดระเบิดเมื่อทิ้งไปแล้ว 43 วินาที เทียบได้กับว่าระเบิดเหนือพื้นดิน 680เมตร เป้าหมายที่ทิ้งก็คือเหนือโรงพยาบาลชิมะกลางกรุงฮิโรชิมา แรงระเบิดทำลาย ในเขตพื้นที่เป็นรัศมี 10 กิโลเมตร ประชากรกว่า 66,000 คนเสียชีวิตทันที อีกประมาณ 70,000 คน บาดเจ็บจากรังสีความร้อนและในปลายปีเดียวกันมีการประมาณผู้เสียชีวิตประมาณ 140,000 คน
ระเบิดปรมาณู “ลิตเติ้ล บอย” หนัก 4 ตัน สูง 3.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.71 เมตร ใช้ ยูเรเนียม 235 หนักไม่ถึง 60กิโลกรัม เป็นระเบิดปรมารณูในระบบฟิชชั่น (Fission) (การแตกตัว) มีพลังระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT หนัก 15,000 ตัน
ลูกที่สองตามมาที่นางาซากิ
หลังจากที่ระเบิดลงที่ฮิโรชิมาแล้ว อีกสามวันต่อมา คือในวันที่ 9 สิงหาคม 2488 เวลา11.02 น. ระเบิดปรมาณูชื่อ“แฟทแมน” (Fat man) ได้ถูกบรรทุกโดยหน่วยบินกองทัพอเมริกาและถูกทิ้งลง ณ เมือง นางาซากิ โดยการตั้งชนวนระเบิดให้ทำงาน ณ 600 เมตร เหนือพื้นดินเช่นเคย เมืองนางาซากิเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าเมือง เป้าหมายรองคือ เมือง โคคุระ (ความจริงเมืองที่จะต้องโดนระเบิดปรมาณูลูกที่สองคือเมืองโคคุระ แต่เนื่องจากเครื่องบินลาดตระเวณพบว่าน่านฟ้าเมืองโคคุระปิด มองไม่เห็นเป้าหมายชัดเจน จึงมีการเปลี่ยนเป้าหมายระเบิดไปที่เมืองนางาซากิ)ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันทีประมาณ 39,000 คน บาดเจ็บกว่า 25,000 คน แต่เมื่อถึงสิ้นปีในปีนั้นมีการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตถึง 70,000 คนซึ่งยังไม่รวมถึงคนอีกนับหมื่นที่ต้องทนทุกข์ทรมานและเสียชีวิตจากกัมมันตรังสีของระเบิดปรมาณูในเวลาต่อมาระเบิดปรมาณู “แฟทแมน” มีน้ำหนัก 4.5 ตัน สูง 3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.52 เมตร และใช้สารเคมี พลูโตเนียม 239 ที่ให้พลังงานระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT หนัก 21,000 ตัน
การรับรู้และปฏิกริยาต่อระเบิดปรมาณูในสังคมไทยปี 2488-2489
วันที่ 6 สิงหาคม 2488 เป็นวันที่ระเบิดปรมาณูทำลายเมืองฮิโรชิมา แต่สำหรับคนไทยกลับมีโอกาสรับรู้เรื่องระเบิดจนกระทั่งอีกสามวันต่อมา นั่นคือวันที่ 9 สิงหาคม 2488 โดยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ที่อ้างอิงจากแหล่งข่าวญี่ปุ่นโดยจากการตีพิมพ์ข่าวในวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ซึ่งมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพอดี จึงทำให้เกิดกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายควง อภัยวงศ์) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไดถ้ ามนายกรัฐมนตรีก็คือ ร้อยโท ประจวบ มหาขันธ์ (สส.อุดรธานี) เรื่องข่าวการระเบิดปรมาณู ซึ่ง นายควง ตอบว่ารัฐบาลทราบข่าวแต่ไม่มีข้อมูลและไม่สามารถชี้แจงได้ในขณะนั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อร้อยโทประจวบ ถามต่อว่าจะสามารถให้คำตอบได้หรือไม่ นายควง ตอบว่า “เมื่อตูมเข้ามาก็แหลกละเอียดไปหมด จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอะไร ถ้ามันมาอยู่เป็นก้อนก็รู้ แต่นี่มันตูมแล้วหาตัวไม่ได้” รศ.ฉลองให้ทัศนะว่าการตอบคำถามในแนวทางนี้คล้ายลักษณะการไม่สนใจต่อมนุษยชาติเท่าใดนัก
ในวันที่ 9 และวันที่ 10 สิงหาคม 2488 ยังไม่มีปฏิกริยาของรัฐบาลไทยต่อข่าวระเบิดปรมาณู แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม2488 มีรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ต่อท่าทีของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ระเบิดปรมาณู เมื่อโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นตัดสินใจยอมสงบศึกเนื่องจากระเบิดปรมาณู ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะได้รับข่าวการการระเบิดที่เมืองนางาซากิ และในวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งเมื่อ ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีได้มีการอภิปรายเรื่องระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ แต่ประเด็นอยู่ที่ความไม่พอใจที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นพร้อมยุติสงครามโดยที่ไม่ได้แจ้งไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรก่อน แต่ก็ยังไม่มีการอภิปรายถึงอานุภาพของระเบิดปรมาณูที่มีความเสียหาย และทำให้ผู้คนล้มตายมากเพียงใด เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือพิมพ์ต่อมาได้ลงข่าวเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูในเชิงของการค้นคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์และมีคุณกับชาวโลกในอนาคตได้เพียงใด แต่กลับไม่มีการนำเสนอระเบิดปรมาณูในเชิงลบ หรือในท่าทีของการทำลายล้างแต่อย่างใด
คนไทยคนเดียวที่มีโอกาสได้เห็นระเบิดปรมาณูตอนที่ระเบิด
อุรา หรือ ณรัฐ วิโรจน์เพชร คือคนไทยคนเดียวที่มีโอกาสได้เห็นระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และเป็นที่มาและประเด็นที่จุดประกายให้ รศ.ฉลอง สนใจที่จะศึกษาเรื่องระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ในหนังสือ นิทานชาวไร่ เล่มที่ 11หน้า 132 – 162 มีการกล่าวถึงการระเบิดที่ฮิโรชิมา โดยกล่าวถึงการทำงานของคุณอุราในญี่ปุ่น ข้อความบางตอนที่คุณอุราเล่าให้คุณสวัสดิ์ผู้เขียนหนังสือ นิทานชาวไร่ คือ
“ ตอนนั้นอยู่ในห้องทดลองโลหะที่โรงงานฐานทัพเรือของญี่ปุ่นที่เมืองคุเระ ห่างจากฮิโรชิมาไป 40 กิโลเมตร ในเวลา 8.15 น. เห็นแสงแปล๊บผ่านทางช่องลม ในใจคิดว่าคงมีไฟฟ้าลัดวงจร จึงสั่งให้ตัดสวิทช์ใหญ่เสีย ขณะนั้นก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินสะเทือนประมาณครึ่งนาที ประกอบกับหูอื้อพร้อมกัน ทุกคนจึงวิ่งออไปข้างนอก เมื่อมองไปทางเมืองฮิโรชิมาซึ่งห่างออกไปประมาณ 40 กิโลเมตร ก็แลเห็นความสีเทารูปเรียวเป็นลำตาลไม่มียอด ลอยคว้างเป็นกลางอากาศ (ยังไม่ใช่รูปเห็ด) ตกบ่ายจึงเห็นเป็นรูปเห็ดสีเทาลอยคว้างอยู่กลางหาว พอรุ่งเช้าก็มองไม่เห็นแล้ว”
คุณอุรา หรือคุณ ณรัฐ วิโรจน์เพชร เป็นลูกชายของพลตรีพระรณรัฐวิภาคกิจ (อุณห์ วิโรจน์เพชร) ซึ่งเป็นเจ้ากรมแผนที่ กับคุณหญิงผัน วิโรจน์เพชร คุณอุราเกิดวันที่ 2 กันยายน 2461 และเสียชีวิตในวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 ด้วยโรคตับล้มเหลว จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา8 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อเรียนจบอยากเข้าโรงเรียนนายเรือ แต่มีปัญหาทางกายภาพเลยไม่ผ่านเกณฑ์โรงเรียนนายเรือ แต่คุณพ่อส่งไปเรียนที่ญี่ปุ่นเพื่อมารับราชการทหารเรือในเมืองไทย ได้รับปริญญาตรีในปี 2484 จาก คิริว คอลเลจ ออฟ เทคโนโลยี และเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมโตเกียว โดยเป็นนักเรียนทุนของกองทัพเรือทางด้านโลหะ เมื่อกลับเมืองในในปี 2489 จึงรับราชการที่กรมอู่ทหารเรือจนถึงแก่กรรมในปี 2518
ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) , atcloud.com
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP