ถ้าพูดถึงเจ้าหญิงล้านนาดารารัศมี เหล่าบรรดาพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ก็จะนึกถึงเรื่องเจ้านายเก่าๆ ของเมืองเหนือ ที่อยู่ในความทรงจำของท่าน เพราะเจ้าน้อยองค์นี้เป็นที่รักของชาวล้านนามากพอๆ กับที่ท่านรักและสิ่งที่ท่านทำให้กับบ้านเกิดของท่านในบั้นปลายชีวิต
ความรักเรื่องนี้เกิดท่ามกลางมรสุมแห่งการล่าอาณานิคม ซึ่งคุกคามอาณาจักรในอุษาคเนย์อย่างหนักช่วงศตวรรษที่ 19 ขณะนั้นสยามเป็นอาณาจักรเอกราชเพียงหนึ่งเดียว ที่หลุดรอดกรงเล็บของมหาอำนาจมาได้ แต่ก็ไม่วายที่จะโดนเฉือนดินแดนอย่างน่าหวาดเสียวเป็นระยะๆ
กรณีดินแดนที่เรียกว่าล้านนาหรือในปัจจุบันคือภาคเหนือตอนบนนั้น ต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า ล้านนามีสถานะเหมือนเวียงจันทน์ ที่ขณะนั้นเป็นประเทศราชของสยามด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักที่กรุงเทพฯ ทุกๆ 3 ปีเพื่อแสดงความจงรักภักดี ดังนั้นใครจะเอาความคิดของตนไปตัดสินว่าเชียงใหม่หรือล้านนาเป็นของสยามมานานแล้วผิดอย่างสิ้นเชิง…
เพิ่งจะมาเริ่มถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยามก็ต่อเมื่อเจ้าหญิงองค์นี้เข้าสู่ราชสำนักของกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2429 นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญอุษาคเนย์หลายท่านเคยกล่าวไว้ว่า ช่วงนั้นไม่เพียงเราโดนฝรั่งล่าอาณานิคมเท่านั้น สยามเองก็ใช้ลัทธินี้ล่าอาณานิคมกับประเทศราชเหมือนกัน เรียกว่า Internal Colonialism คือการพยายามรวบรวมและรักษาหัวเมืองประเทศราชของตน โดยพยายามทำให้หัวเมืองรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น เห็นได้ดังที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงวางรากฐานการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น
ยุคนี้ ความพยายามแสดงเขตแดนที่แน่นอนและการยืนยันอำนาจเต็มที่ในปริมณฑลรัฐทุกตารางนิ้วของรัฐสยามจึงเริ่มปรากฏชัดเจนเช่นเดียวกับรัฐสมัยใหม่ทางตะวันตก ต่างกับในอดีตที่ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่าอาณาเขตและอำนาจของรัฐจารีตสมัยเก่านั้นมีขอบเขตไม่แน่นอนเปรียบได้กับแสงเทียนที่ยิ่งไกลอำนาจก็ยิ่งมีแสงสว่างน้อยลง
แต่ไม่ว่าพายุและเกมต่อรองทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งตะวันตกจะเข้มข้นอย่างไร เจ้าหญิงองค์สุดท้องของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวพันและมีบทบาทใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ของสองอาณาจักรนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ทรงประสูติเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ.2416 ที่คุ้มหลวงกลางเวียง (ปัจจุบันคือบริเวณศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดเชียงใหม่)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่
ชีวิตวัยเด็กของเจ้าหญิง ซึ่งพระราชบิดามักตรัสเรียกว่า "เจ้าน้อย" ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ราชสำนักที่กรุงเทพฯ โดยที่เจ้าตัวนั้นไม่รู้มาก่อน จากบันทึกของ ดร.โรเบิร์ต แมคกิลวารี ที่ไปเยือนล้านนาในช่วงนั้น กล่าวถึงสภาพภายในราชสำนักเชียงใหม่ว่า "ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าเมืองซึ่งแสดงถึงฐานะที่เหนือผู้คนอื่นๆ ในบ้านเมืองเป็นการจำลองชีวิตจากราชสำนักกรุงเทพฯ"
จนปีพ.ศ. 2425 เกิดข่าวลือ ที่ส่งผลสะเทือนถึงชะตาชีวิต ทำให้เจ้าหญิงเมืองเหนือผู้นี้ต้องมาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 อย่างยากจะหลีกเลี่ยง มีคำร่ำลือสะพัดทั่วเวียงเชียงใหม่ว่า พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งคนมาทาบทามเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อขอรับพระราชธิดาน้อยเอาไว้ในพระอุปถัมภ์ หรือแปลให้ง่ายก็คือ รับเป็นพระธิดาบุญธรรมนั่นเอง
ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จ ทางราชสำนักที่กรุงเทพฯ ก็ร้อนๆ หนาวๆ ไปพอสมควร เนื่องจากสมัยนั้นดินแดนพม่าซึ่งอยู่ติดกับล้านนา โดนอังกฤษยึดไปเรียบร้อยแล้ว และฝรั่งอีกหลายชาติกำลังจ้องหัวเมืองเหนือของสยามตาเป็นมัน
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชาการ
หลังจากนั้นเพียงปีเศษ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชาการ ได้อัญเชิญตุ้มพระกรรณและพระธำมรงค์เพชร ของรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปพระราชทานแก่เจ้าดารารัศมีที่มีพระชนมายุเพียง 11พรรษา นัยว่าเป็นการหมั้น และยังโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้าพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตามแบบอย่างเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีทั้งที่เป็นเจ้านายล้านนาอีกด้วยเมื่ออายุ 13 ปี เพราะ รัชกาลที่ 5 ทรงรู้ทันเล่ห์กลนโยบายต่างประเทศของฝรั่ง ที่จ้องจะอ้างสิทธิเหนือดินแดนผ่านสายสัมพันธ์นี้
ในที่สุด พระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็นำพระราชธิดาลงมาถวายตัวเมื่อปี พ.ศ.2429 และหลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 28 ปี ชีวิตของเจ้าหญิงเมืองเหนือพระองค์นี้ ผ่านพบสิ่งต่างๆ มากมายจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำยิ่งของสองราชอาณาจักรในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนั้น
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในพระบรมมหาราชวังซึ่งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้จะเป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวง แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าสนมนางในคนอื่นที่อิจฉาและโดนดูถูกว่าเป็นเจ้า "ลาว" (คนสยามภาคกลางสมัยนั้นมองว่าคนเหนือรวมกันหมดว่าเป็นลาว) มีการกลั่นแกล้งสารพัดเหมือนกับละครน้ำเน่าในสมัยนี้เช่น เอาหมามุ่ยใส่ในห้องน้ำ เอาอุจจาระมาทิ้งในตำหนัก ไม่รวมการล้อเลียนซุบซิบต่างๆ นานา
พระตำหนักพระราชชายา
แผนผังบริเวณตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบรมมหาราชวัง
ตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในวังสวนสุนันทา
แผนผังตำหนักในวังสวนสุนันทา
แต่ยิ่งล้อเหมือนยิ่งยุ เจ้าดารารัศมีกลับภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของล้านนายิ่ง ปรากฏหลักฐานว่าภายในตำหนักของพระองค์นั้น ผู้คนล้วนแต่งกายแบบชาวเหนือทั้งสิ้น ในหนังสือสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็มีข้อความกล่าวถึงตำหนักนี้ว่า "ตำหนักเจ้าดารานับว่าแปลกกว่าที่อื่นทั้งสิ้น เพราะข้าหลวงนุ่งซิ่น ไว้ผมมวย แต่งกายอย่างชาวเมืองเชียงใหม่ พูดภาษาเมืองเหนือทั้งตำหนัก และเป็นที่เดียวที่มีเมี่ยงแจกกันกินเป็นประจำ"
นอกจากนี้เจ้าดาราฯ ยังสนพระทัยในวัฒนธรรมภาคกลาง มีการส่งเสริมให้ข้าหลวงเรียนหนังสือไทยภาคกลาง ดนตรีไทยและสากล และปรากฏว่าทรงเชี่ยวชาญการเล่นจะเข้มาก
ถึงแม้จะทรงมีสุนทรียภาพเพลิดเพลินกับศิลปะแขนงต่างๆ อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็แทบจะทนไม่ได้กับการโดนกลั่นแกล้งจากผู้อื่น ครั้งหนึ่งถึงกับตรัสว่าอยากจะเสวยลำโพง (มะเขือที่กินเข้าไปแล้วจะเกิดอาการคลุ้มคลั่ง) ให้รู้แล้วรู้รอดไป
...อนิจจาพระราชธิดาเมืองเหนือ จากบ้านมาไกลแล้วยังถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา แต่พระองค์ก็ไม่เคยที่จะไปทูลฯ ฟ้องในหลวง จนวันหนึ่งเรื่องไปถึงพระเนตรพระกรรณ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสห้ามปรามเจ้าจอมเหล่านั้น เรื่องจึงจบลงในที่สุด ด้วยรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักยิ่งว่าการที่ใครทำให้เจ้าดาราฯ ได้รับความลำบาก นอกจากจะขัดเคืองพระทัยของพระองค์แล้ว ยังไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนาด้วย
เรื่องราวเศร้าๆ ยังคงเกิดขึ้นกับพระองค์ ในปีพ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมีทรงให้กำเนิดพระราชธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "เสด็จเจ้าน้อย" สร้างความปีติยินดีให้กับพระนางมาก (ช่วงนี้ได้รับการเลื่อนขึ้นเจ้าจอมมารดา) แต่ให้หลังเพียง 3 ปีเท่านั้น พระธิดาองค์น้อยก็เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุเพียง 3 พรรษา
ช่วงเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงมีพระราชสาสน์ลับส่วนพระองค์ถึงพระราชธิดาเล่าเรื่องที่อังกฤษจะขอรวมเอาล้านนาเข้ากับพม่า เจ้าดารารัศมีจึงทรงถวายพระราชสาสน์ดังกล่าวกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งก็ทรงพระราชทานต่อไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรเพื่อทรงปรึกษาหารือ
ก่อนที่สาสน์ฉบับนั้นจะได้รับการตอบไปยังพระราชบิดาด้วยลายพระหัตถ์ของพระนางว่า "หากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะทรงยอมให้เชียงใหม่ไปรวมอยู่ในเมืองขึ้นของอังกฤษแล้วไซร้ ก็ขอให้เตรียมพระองค์มารับศพของเจ้าจอมดารารัศมีที่กรุงเทพฯเถิด" ทำเอาเจ้าหลวงเชียงใหม่ต้องระงับสิ่งที่คิดจะทำลงไปทั้งหมดเพื่อ "เจ้าน้อย" ของพระองค์
จดหมายฉบับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจดหมายทองคำ สามารถช่วยรักษาอาณาเขตของสยามที่เหลืออยู่น้อยนิดไม่ให้ถูกเฉือนออกไปมากกว่านี้ และยังเป็นผลการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันยอดเยี่ยมของสมเด้จพระพุทธเจ้าหลวงอีกด้วย
เจ้าดารารัศมีทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นพระราชชายา ในตอนเสด็จกลับเชียงใหม่ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2451 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งพิเศษนอกเหนือจากพระมเหสีสี่องค์ ตามกฎมนเทียรบาลที่รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งพระราชทานเป็นพิเศษ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงกลายเป็นพระราชชายาพระองค์แรกและองค์สุดท้ายของสยามมาจนปัจจุบัน เพราะไม่ปรากฏว่ามีการพระราชทานตำแหน่งนี้แก่ผู้ใดอีก
ในการเสด็จกลับครั้งนั้น…สิ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วไปตระหนักว่าความรักความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชสวามีของพระราชชายาฯ นั้นอยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือกาลเวลาคือ การที่พระราชชายา ทรงบรรจงแก้มัดผมที่ยาวมากมาเช็ดพระบาทของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลลาที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งในธรรมเนียมล้านนา ถือว่าเป็นการถวายความจงรักภักดีสูงสุดในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ดุจเดียวกับที่มะเมี๊ยทำกับเจ้าน้อยศุขเกษมในอีกไม่กี่สิบปีถัดมา ก่อนจากกันไปตลอดกาล
ภายหลังจากพระราชชายาฯ เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2452 ให้หลังไม่กี่เดือน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเสด็จสวรรคต นำความโศกเศร้ามาสู่พระนางเป็นอันมาก มีผลให้หลังเสร็จงานพระบรมศพแล้ว พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมลารัชกาลที่ 6 ก็เสด็จกลับไปประทับที่พระตําหนักดาราภิรมย์ ครั้นมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2476 เวลา 15 นาฬิกา 14 นาที ณ ที่ คุ้มรินแก้ว สุดท้ายพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ท่ามกลางพร้อมด้วยพระประยูรญาติและผู้ที่เคารพรักทั้งหลาย รวมสิริพระชนม์มายุ 60 พรรษา 3 เดือน 13 วัน ทรงประทับอยู่ในเชียงใหม่ทั้งสิ้นรวม 18 ปี 11 เดือนเศษ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP