แถลงการณ์! สภาทนายความ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของเด็ก”
2014-07-09 09:04:46

 

แถลงการณ์ของสภาทนายความฉบับที่ 15/2557เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของเด็ก 
 
 
 
     จากกรณีที่มีข่าวการทำทารุณกรรมกับเด็กหลายครั้งหลายครา และในรายล่าสุดเป็นการฆาตกรรมข่มขืนเด็กนักเรียนขณะเดินทางบนรถไฟเมื่อสองวันนี้  เป็นข้อเท็จจริงที่สรุปได้ว่าสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องของการปกป้องและคุ้มครองเด็กยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล  โดยเฉพาะปกป้องสิทธิเด็กและการบำบัดเยียวยาผู้ถูกกระทำคือเด็กกับครอบครัว รวมถึงการล่วงและละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวของเด็ก  
 
สภาทนายความจึงขอแถลงการณ์มาเพื่อขอให้บุคคล หน่วยงานราชการ ตลอดจนองค์กรอิสระต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือเยียวยาเด็กทั้งหญิงและชายให้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
 
1.  ในทุกครั้งเมื่อเกิดภยันตรายต่อเด็กไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำร้ายร่างกาย เรื่องการฆาตกรรม ผู้มีหน้าที่เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนควรที่จะต้องรีบเข้ามาตรวจสอบและพิเคราะห์ข้อเท็จจริงของการกระทำผิดกฎหมายหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยจะต้องคำนึงถึงการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นชื่อของเด็กหรือครอบครัวของเด็กที่ถูกทำร้ายที่ ที่จะส่งผลร้ายต่อไปภายภาคหน้าเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวของเด็กด้วย
 
2.  หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กจะต้องจัดสรรงบประมาณและดำเนินมาตรการต่าง ๆ สร้างความปลอดภัยให้กับเด็กอย่างจริงจังเพื่อให้ภยันตรายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กหมดสิ้นไปโดยเร็ว  โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งเสพติด สถานบันเทิง และภัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย และการเจริญวัยของเด็ก
 
3.  กรณีมีการประทุษร้ายไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายถึงแก่ชีวิต การข่มขืน หรือการทำทารุณอย่างอื่นใด ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายได้ตระหนักถึงหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นส่วนตัวของเด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ถูกกระทำแล้ว เด็กควรจะได้รับการคุ้มครองในเรื่องชื่อครอบครัวและความเป็นส่วนตัวจากการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนทุกแขนง
 
4.  กรณีที่มีการทำร้ายทำทารุณกรรมต่อเด็กในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการละเมิดทางเพศและฆาตกรรม พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุควรรีบรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่างให้พร้อม เพื่อการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางกฎหมายอย่างสูงสุดโดยเร็วตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และการดำเนินคดีทางศาลยุติธรรมในกรณีนี้ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วเช่นกัน การใช้ดุลยพินิจลงโทษตามความรุนแรงของการกระทำความผิดเป็นสิ่งที่เหมาะสม     
 
อนึ่ง ในการทำแผนประทุษกรรมซึ่งสภาทนายความเคยออกแถลงการณ์ไปแล้วครั้งหนึ่งว่าไม่ควรจะยึดถือเป็นหลักฐานในการรับสารภาพของผู้กระทำความผิด พนักงานสอบสวนควรจะงดเว้นการกระทำดังกล่าวเสีย เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ในทางรูปคดีแล้ว ก็จะเป็นการประจานพฤติกรรมที่เป็นผลทำให้เกิดความเสียหายเป็นรอบที่สองแก่เด็กและครอบครัว
 
5.  รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขององค์การสหประชาชาติ และตามกรอบกฎหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้มีมาตรการการปฏิบัติให้เป็นที่ชัดเจนและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถออกไปกำกับดูแลอย่างทั่วถึงไม่ให้กระจัดกระจายงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กจนขาดระบบการบริหารงาน และขาดบุคลากรที่ดี จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกันสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์8  กรกฎาคม  พ.ศ. 2557
 

Admin : Chanya
view
:
3094

Post
:
2014-07-09 09:04:46


ร่วมแสดงความคิดเห็น