จริงไม่จริง!? ป่าหิมพานต์และสัตว์ภายป่า
2014-06-19 10:47:31

           ในสมัยเรียนภาษาไทยหลายๆ คนอาจจะได้เรียนวรรณคดีไทยซึ่งถ้าเปรียบเทียบเป็นนิยายในยุคนี้ก็คงใกล้เคียงกับนิยายแฟนตาซีก็เป็นได้ แต่กระนั้นวรรณคดีไทยบางเรื่องก็เป็นที่อาจจะมีจริงอยู่บนโลกก็เป็นได้ อย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน ที่มีหลักฐานอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี กับอีกอย่างคือป่าหิมพานต์ที่ปรากฏในทั้งวรรณคดีและเรื่องไตรภูมิตามคติของศาสนาพุทธและฮินดู

 

 

           โดยป่าหิมพานต์นั้นเป็นดินแดนซึ่งเป็นรอยต่อซ้อนมิติระหว่างโลกทิพย์กับโลกมนุษย์นั้นเอง ซึ่งภายในป่าไม่ว่าพืชหรือสัตว์จะมีรูปร่างที่แปลกไปจากเมืองมนุษย์เรา ที่มีตำนานกล่าวไว้ว่าป่าหิมพานต์ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย (ประเทศอินเดีย) ทอดตัวต่ำลงมาในแดนมนุษย์ทับซ้อนมิติกันอยู่กับโลกมนุษย์ในหลายประเทศ และแถบสุวรรณภูมิทั้งหมด หลายคนเคยสงสัยบ้างไหม เมื่อเราได้ยินได้ฟังคนโบราณพูดถึงแดนลับแล แดนสนธยา ป่าหิมพานต์ โลกทิพย์ เหล่านี้ ผู้รู้ได้กล่าวว่าดินแดนทั้งหลายเหล่านี้นั้นก็คือ เป็นดินแดนที่อยู่บนโลกใบเดียวกันกับมนุษย์เรา เพียงแต่อยู่ต่างมิติกันหรืออยู่กันคนละคลื่นความถี่เท่านั้นเอง

 

           ซึ่งหากมนุษย์คนใดสามารถปรับให้คลื่นความถี่ของจิตตรงกันได้ เขาคนนั้นก็สามารถพบเห็นดินแดนต่างๆ ที่อยู่ซ้อนกันกับเราได้ ซึ่งบางพวกบางเหล่าก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา มีเลือด มีเนื้อ มีชีวิตจิตใจเหมือนเราทุกประการ เช่น มนุษย์ที่อยู่ในเมืองลับแล เขาเหล่านี้มีการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงเราทุกอย่าง แต่จะต่างกันก็ตรงที่ทุกคนในเมืองลับแลอยู่แบบธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเคร่งครัดในศีล 5 มากกว่ามนุษย์โลก แดนหิมพานต์ถือเป็นดินแดนที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดมีอิทธิฤทธิ์ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ ล้วนมีพลังอำนาจมหัศจรรย์ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของบรรดานักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ ยักษ์ ฤษี ชีไพร ผู้ทรงอภิญญาทางจิตกล้าแข็งทั้งหลาย อยู่กันอย่างสันติภาพไม่เบียดเบียนกัน

           และในบ้านเรานั้นก็มีอยู่หลายจังหวัดที่เป็นรอยต่อเชื่อมหรือที่เรียกว่า ประตูผ่านมิติ โดยบางคนอาจจะเคยได้ยินว่ามีคนพลัดหลงเข้าไปยังดินแดนต่างมิติกับเรา เช่น จังหวัดหนองคายเป็นรอยต่อกับเมืองบาดาล จังหวัดอุตรดิตถ์ก็เป็นรอยต่อกับเมืองลับแล แล้วตรงบริเวณป่าแถบกาญจนบุรีเป็นรอยต่อกับป่าหิมพานต์ เป็นต้น

 

           และแน่นอนว่าเพราะป่าหิมพานต์มีสิ่งชีวิตที่แปลกจากเราๆ นัก ที่บางคนอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ว่าสัตว์ในป่านั้นที่เด่นๆ นั้นมีอะไรบ้างมาดูกันได้เลย

 

 

 

           ปักษาวายุภักษ์ หรือ นกการเวก เป็นนกที่มีเสียงไพเราะอย่างมัน ที่เมื่อสัตว์ทุกชนิดได้ยินเมื่อไรก็จะหยุดฟังเสียงนั้นอย่างช่วยไม่ได้ ส่วนอาหารของนกการเวกกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัญจสุทนีว่ากินน้ำมะม่วงสุกเป็นอาหาร  แต่เพราะนกการเวกตามหายากจึงมีการเข้าในว่าอยู่แต่บนท้องฟ้ากินลมเป็นอาหารเลยมีการตั้งชื่อเรียกอีกชื่อว่า วายุภักษ์ อีกทั้งในวรรณดคีไตรภูมิพระร่วงก็ได้กล่าวว่าขนนกการเวกเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเนื่องจากสามารถกลายเป็นทองคำได้อีกด้วย

 

 

           ครุฑ ที่เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักที่มีรูปร่างครึ่งคนครึ่งนกอินทร์จนได้ชื่อว่าเป็นพญาแห่งนก แต่กระนั้นครุฑมักมีเรื่องบาดหมางกับนาคเป็นประจำอีกทั้งครุฑนั้นเป็นสัตว์ใหญ่ จึงมีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ

           และในทางความเชื่อศาสนาพุทธ ครุฑจัดว่างเป็นเทวดาชั้นล่างประเภทหนึ่งภายในการปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศใต้ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑเพราะทำบุญเจือด้วยโมหะ

 

 

 

           กินรี (ตัวเมีย) และ กินร (ตัวผู้) คืออีกหนึ่งสัตว์ในป่าหิมพาต์ที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นนกและมีปีกบินได้ ตามตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ชิงเขาไกรลาศ นับเป็นสัตว์ที่มีปรากฏในงานศิลปะของไทยมาก ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีการอ้างถึงกินรีด้วยเช่นกัน

           โดยต้นกำเนิดที่แท้จริงของกินรีนั้นเป็นมาอย่างไรนั้นยังไม่พบตำราไหนกล่าวไว้ชัดเจน แต่ในเทวะประวัติของพระพุธกล่าวไว้ว่า เมื่อท้าวอิลราชประพาสป่าแล้วหลงเข้าไปในเขตหวงห้ามของพระศิวะนั้น ท้าวอิลราชและบริวารถูกสาปให้แปลงเพศเป็นหญิงทั้งหมด ต่อมานางอิลาหรือท้าวอิลราชที่ถูกสาป และบริวารก็ได้เล่นน้ำอยู่ใกล้อาศรมของพระพุธ เมื่อพระพุธเห็นนางเข้าก็ชอบ รับนางเป็นชายา และเสกให้บริวารของนางกลายเป็นกินรี โดยบอกว่าจะหาผลาหารให้กินและจะหากิมบุรุษให้เป็นสามี แสดงว่า กิมบุรุษหรือกินนร และกินรีมีต้นกำเนิดมาจากการเสกของพระพุธ

 

 

 

           อรหัน (ออ-ระ-หัน) เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์อีกชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างตัวและปีกเป็นนก มี 2 เท้า แต่มีศีรษะเป็นมนุษย์หรือยักษ์ ลักษณะคล้ายกับกินรี โดยปกติมักพบตามภาพจิตรกรรมฝาผนังต่างๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือภาพลายรดน้ำตามตู้พระธรรม เป็นต้น

 

 

  

ภาพวาดนารีผล (ซ้าย) และ ภาพที่เป็นข่าวจริง (ขวา)

 

           นารีผล หรือ มักกะลีผล ที่เคยเป็นข่าวมีคนพบเจอนารีผลเมื่อหลายปีก่อน โดยตำนานของนารีผลมีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเวสันดรกับพระนางมัทรีพร้อมกับกัณหาและชาลีได้ถูกเนรเทศออกจากนครจึงเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์และบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั้น

           ที่ป่าหิมพานต์มีสัตว์ป่ามากมายอันตรายรอบด้าน ทว่าสัตว์ป่าทั้งหลายเมื่อได้รับเมตตาจิตจากพระเวสสันดรก็คลายความดุร้ายลงแล้วกลายเป็นมิตร นอกจากสัตว์ป่าทั้งหลายแล้ว ก็ยังมีดาบส ฤๅษี นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ ทั้งหลายอาศัยอยู่หรือไปมาอยู่เรื่อยๆ พระนางมัทรี ผู้มีรูปร่างโสภา บางครั้งออกหาอาหาร หาผลไม้ตามลำพังคนเดียว หากนักสิทธิ์ วิทยาธร ตลอดถึงฤๅษีมาพบเข้าอาจตบะแตก แล้วล่วงศีลได้

           ท้าวสักกะเทวราชได้เล็งเห็นเหตุร้ายนี้แล้ว พระองค์จึงเนรมิตต้นไม้วิเศษไว้รอบทิศ ณ ที่ไกล ก่อนถึงถิ่นแดน อันเป็นที่พำนักของพระเวสสันดรและนางมัทรีรวม 16 ต้น ต้นไม้วิเศษนี้จะออกผลที่มีรูปร่างเหมือนสตรี ผลโตเต็มที่จะมีทรวดทรงปานสาวงามแรกรุ่น แต่ผิวพรรณ ทรวดทรงองค์เอว รูปร่างหน้าตา งดงามปานเทพธิดา... เมื่อเหล่าบรรดาดาบส ฤๅษี นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ ทั้งหลายเดินทางมาพบเข้าจึงพากันไปเด็ดเพื่อเสพสังวาล ทำให้เหล่าบรรดาดาบส ฤๅษี นักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์หมดอิทธิฤทธิ์ลงเนื่องจากผลเสพสังวาลนารีผล ไม่สามารถเหาะไปต่อหรือออกมาได้ ทางเดียวที่จะออกมาก็ต้องบำเพ็ญเพียรใหม่จนแก่กล้าจึงจะออกไปได้

           และการที่ท้าวสักกะเทวราชเนรมิตต้นวิเศษทั้ง 16 ต้นนี้ก็เพื่อเป็นด่านป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแก่นางมัทรีให้เสื่อมเสียได้ แม้พระเวสสันดรและพระนางมัทรีจะเสด็จออกจากป่ากลับเข้าเมืองไปแล้ว ต้นนารีผลก็ยังคงมีอยู่ในที่นั้นตราบเท่าทุกวันนี้

 

 

ที่มา: วิกิพีเดียไทย และ legendto.blogspot.com        ที่มาภาพ: สื่ออินเตอร์เน็ต


Admin : Maimai
view
:
20018

Post
:
2014-06-19 10:47:31


ร่วมแสดงความคิดเห็น