ที่มาของปลาดอลลี่ ที่แม่บ้านควรรู้ไว้
2014-06-17 09:00:00
ปลาดอลลี่ คนไทยโดนต้มจนสุก ขึ้นโต๊ะจีนราคาแพงๆ ที่แท้เป็น "ปลาสวายธรรมดา" จากเวียดนาม อย่างไรก็ตามจะไปโทษเอกชนผู้ขายก็ไม่ได้เพราะเขาเขียนชื่อการค้าเป็นภาษาอังกฤษ Pangasius Fillet แถมมีชื่อวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าเป็นปลา Pangasius Hypophthalmus
ผู้ขายระบุชื่อว่าเป็น "ปลาดอร์ลี่แล่" กำกับภาษาอังกฤษว่า Pangasius Fillet (Pangasius Hypophthalmus) เป็นการให้ข้อมูล "ถูกต้องแต่ไม่ครบถ้วน" อาจสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นปลาทะเล หรือปลาชนิดใหม่ เพราะผู้บริโภคทั่วๆไปไม่ได้จบการศึกษาวิชา Fisheries หรือ Zoology แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นค้าชนิดเดียวกันที่อเมริกา (ภาพข้างล่าง) เขาระบุรายละเอียดชัดเจนว่าเป็นปลาเลี้ยงจากฟาร์มในประเทศเวียดนาม ใช้ชื่อการค้าว่า Swai เพื่อให้ผู้บริโภคชาวมะกันทั่วๆไปได้ทราบ
จริงๆแล้วคนขายเขาก็ไม่ได้หลอกเพราะเขียนภาษาอังกฤษ พร้อมกำกับด้วยศัพท์วิทยาศาสตร์ไว้เห็นชัดๆว่า Pangasius hypophthalmus แต่ผู้บริโภคทั่วไปไม่ทราบว่านี่คือ "ปลาสวายธรรมดา" ในฐานะที่ผมเรียนจบปริญญาวิทยาศาสตร์สาขาเกษตร และทำงานด้านนี้มา 35 ปี จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และเมื่อครั้งที่เป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม ระหว่างปี 2545 - 2550 ก็คุ้นเคยกับโครงการส่งเสริมเลี้ยงปลาชนิดเดียวกันนี้ที่แม่น้ำโขง โดยใช้งบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัด หรือเรียกเล่นๆในสมัยนั้นว่างบผู้ว่าราชการจังหวัด ซีอีโอ
ด้วยความที่ผมถูกสอนมาตลอดอายุราชการให้ทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชน จึงจำเป็นต้องเอาข้อมูลที่เป็นจริงมาเผยแพร่ให้เราๆท่านๆได้รับทราบ ถือว่าเป็นการตอบแทนและขอบคุณสังคมไทยที่ผมเคยได้รับทุนรัฐบาลที่มาจากภาษีของพี่น้องร่วมชาติ ไปฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศหลายครั้ง อีกทั้งบำนาญที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากภาษีของท่านทั้งหลาย
ทำความรู้จัก "ปลาดอร์ลี่" ตัวจริง กับ ย้อมแมว
เปรียบเทียบระหว่างปลาดอร์ลี่ ฟีเลย์ (John Dory Fillets) ของฝรั่ง กับปลาดอร์ลี่แบบไทยๆ ถ้าว่ากันตามกฏหมายเราคงเอาผิดผู้ขายใน ประเทศไทยไม่ได้ เพราะกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคของไทยไม่ละเอียดเท่าของอเมริกา ผมคุ้นเคยกับกฏหมายอเมริกันที่นั่นคนเขาหัวมดหัวหมอมาก ขนาดแค่เดินตกกระไดโรงแรมก็ยังจะฟ้องเอาเงินค่าบาดเจ็บ กินกาแฟเจอแมลงวันตัวเดียวก็ยังฟ้องร้องให้ห้างที่ขายกาแฟต้องชดใช้เงินจำนวนไม่น้อย กฏหมายแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเพราะเขาเจตนาจะคุ้มครองผู้บริโภคด้วยความบริสุทธิใจ แต่คนบางคนหัวหมอหาช่องโหว่ของกฏหมายเอาไปใช้ประโยชน์ในการฟ้องร้องแบบเกินเลยเกินเหตุ ดังนั้นการจะไปโทษผู้ขายว่าทำไมไม่ระบุว่านี่คือ "ปลาสวายเนื้อขาว" ก็ไม่ได้ เพราะกฏหมายของเราไม่ได้ละเอียดขนาดนั้น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริโภคว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ
คนไทยโดยทั่วไปรังเกียจปลาสวายเพราะเนื้อเหลืองไม่น่ากิน แต่พอไปเห็นปลาที่ใช้ชื่อว่า "ดอลลี่" เนื้อออกสีขาวอมชมพู ดูสวยงามน่ากิน ก็ยอมจ่ายเงินราคาแพงๆเพราะคิดว่านี่แหละของดี ปลาดอร์ลี่ตัวจริงเสียงจริงเป็นปลาทะเล ส่วนปลาดอร์ลี่แบบไทยๆคือปลาสวายอยู่ในน้ำจืดเลี้ยงในบ่อตามริมแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนาม งานนี้พี่ไทยเงิบเบยทีเดีย
เนื้อหาและภาพประกอบจาก yclsakhon.com
Admin : Chanya
view
:
3880
Post
:
2014-06-17 09:00:00
ร่วมแสดงความคิดเห็น