หนังหรือภาพยนตร์ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนที่ต้องการผ่อนคลาย แม้ว่าหนังบางเรื่องได้สร้างความกดดันก็ตามแต่ผลที่ได้คือความชื่นชมกับความสนุกในการดำเนินเรื่องนั้นเอง ทว่าหนังบางเรื่องก็สร้างจากเรื่องจริงต่างๆ เช่น ตำนาน, ประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งคดีฆาตกรรมโด่งดังอย่างเชื่อ Monster นำแสดงโดย ชาร์ลิซ เธอรอน ซึ่งสร้างมาจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่สร้างความผวาให้กับอเมริกา
แต่ก็ไม่ได้มีต่างประเทศเท่านั้นที่สร้างหนังจากคดีฆาตกรรม ประเทศไทยเองก็นำคดีฆาตกรรมมาสร้างด้วยเหมือนกัน เช่น
1. ฆ่ายัดกล่อง
คดีฆ่ายัดกล่องแล้วส่งศพมาทางรถไฟเป็นคดีจริงที่เกิดขึ้นในปี 2508 ซึ่งก็เป็นปีเดียวที่สร้างหนังขึ้นมา โดยที่ พ.ต.ท. อนุ เนินหาด (ปัจจุบันเป็น พ.ต.อ.) ถือว่าสะเทือนขวัญมาก ส่วนฆาตกรในคดีนี้คือ จรินทร์ สิทธิธรรม ฉายา “กระทิงแดง ศิษย์พระกาฬ” ส่วนผู้ตายคือเด็กชายกิมบั๊ก แซ่อึ้ง อายุ 15 ปี ไม่รู้ไปโกรธเกลียดอะไร เขาได้ฆ่าเด็กคนนั้นแล้วยัดกล่องกระทิงแดงไปทิ้งรถไฟสายเหนือกรุงเทพ เชียงใหม่ ด้วยสาเหตุเพราะเรียกค่าไถ่ไม่สำเร็จ แต่เมื่อถูกจับได้ก็รับสารภาพและเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน ทำให้ศาลลดจากการประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน
ส่วนการสร้างเป็นหนังนั้นใช้ฟิล์ม 16 มม. และฉายครั้งแรก 27 พฤษภาคม ปี 2508 กำกับโดย อัจฉราพันธ์ นำแสดงโดยปริม ประภาพร, แก่นใจ มีนะกนิษฐ์, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, เมืองเริง ปัทมินทร์ และกิติกร สุนทรปักษิณ
2. บุญเพ็งหีบเหล็ก
บุญเพ็งเป็นฆาตกรฆ่าหั่นศพแบบต่อเนื่องรายแรกของประเทศไทย และเป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการถูกบั่นศีรษะในปีร.ศ. 242 ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ส่วนฉายา “บุญเพ็งหีบเหล็ก” ได้มาจากเขาฆาตกรรมผู้หญิงและหั่นศพใส่หีบเหล็กโยนทิ้งน้ำ และเหยื่อของเขาล้วนแต่ตกหลุมสวาทของเขา เนื่องจากเขาเป็นคนรูปร่างดี ดูสุภาพอ่อนโยนและพูดจาดี อีกทั้งเรียนทางไสยเวทย์มา ตั้งสำนักหมอผีให้บริการดูดวง สะเดาะเคราะห์ และทำเสน่ห์ยาแฝด อยู่บริเวณคลองบางลำพู โดยเหยื่อของเขามีถึง 7 คน ก่อนที่จะถูกจับได้
ซึ่งเรื่องของเขาได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ถึง 2 ครั้งในปี 2510 และ 2523
1) บุญเพ็งหีบเหล็ก (2510) นำแสดงโดย สมบัติ-ปริศนา ชบาไพร-แมน-ชฎาพร-เปลวใจ-นาฎ-ทานฑัต-แป้น-แก้วตา-โกร่ง..สร้างโดย เทพนิมิตภาพยนตร์..กำกับการแสดงโดย พยุง พยกุล ฉายครั้งแรกวันที่ 10 สิงหาคม 2510 ที่โรงหนังเฉลิมบุรี
2) บุญเพ็งหีบเหล็ก (2523) นำแสดงโดย สมบัติ-ปริศนา ชบาไพร-สลิตตา กระแสนิธิ-ไพโรจน์-สมชาติ-ลักษณ์-รัตนาภรณ์-สุพรรณี-พิภพ-สีเทา-โกร่ง สร้างและกำกับการแสดงโดย พยุง พยกุล ฉายครั้งแรกวันที่ 21 ธันวาคม 2523 ที่โรงหนังเพชรเอ็มไพร์-เมโทร-สามย่าน
โดยหนังทั้งสองครั้ง ผู้สร้าง-ผู้กำกับก็เป็นคนเดียวกัน เพียงแต่รุ่นแรกสร้างเป็นหนัง 16 มม.พากย์สด ส่วนรุ่น 2 เป็นหนัง 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์ม การดำเนินเรื่องจะคล้ายๆ กัน ส่วนผู้แสดงเป็นตัว หมอบุญเพ็ง ฆาตกรที่ฆ่าคนใส่หีบเหล็กนั้น รุ่นแรกจะเป็น แมน ธีระพล แต่รุ่นที่ 2 จะเป็น ไพโรจน์ ใจสิงห์
นับว่าเป็นคดีที่โหดร้ายมาก พร้อมทั้งยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการประหารบุญเพ็งว่าไม่สามารถบั่นหัวได้ในครั้งแรก และศพของเขาก็ไม่เผาไหม้บริเวณรอยสัก ญาติเก็บกระดูกใส่เจดีย์ไว้ข้างอุโบสถ์วัด จนช่วงหลังเจดีย์ถูกรื้อออก ปัจจุบันทางวัดภาษีจึงได้ให้ช่างปั้นรูปปั้นจำลองไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2537 ตั้งไว้ในศาลเล็กๆ ติดกับวิหาร ซึ่งเป็นอนุสรณ์ว่าเขาเป็นนักโทษประหารคนสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2474
3. เตือนใจ คดีที่ไม่มีวันลืม
เตือนใจ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเตือนใจ พวงนาค นักศึกษาสาวซึ่งเรียนวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ที่มีบ้านพักอยู่ในซอยปุณณวิถี (สุขุมวิท 101) แถวบางจาก กรุงเทพฯ ซึ่งขณะเดินทางกลับเข้าบ้านในซอยลึกๆ ก็ถูกจิ๊กโก๋กลุ่มหนึ่งฉุดไปข่มขืนแล้วฆ่าทิ้งชิงทรัพย์อย่างทารุ¬ณ โดยได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นรอยกัดที่ร่างของเธอ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวกับหญิงสาวในยุคนั้นมาก ตำรวจจึงเริ่มสืบหาคนร้ายจากร่องรอยศพของเตือนใจจนจับฆาตกรได้ในที่สุด
โดยวันที่ออกฉายเรื่องนี้คือวันที่ 13 ตุลาคม 2522 ที่โรงหนังสยาม-ปารีส-พาราเมาท์-วอชิงตัน นั่นคือเรื่อง เตือนใจ คดีที่ไม่มีวันลืม นำแสดงโดย สุพรรษา-อรัญญา-มลฤดี-สุรสิทธิ์-รัตนาภรณ์-เทพ-ล้อต๊อก-ดลยา-ประกายดาว สร้างโดย อดุลย์โปรดักชั่น ของ สารวัตรอดุลย์ บุญเสรฐ และกำกับการแสดงโดย ดุลย์พิจิตร์
4. ไอ้ย่ามแดง
ไอ้ย่ามแดง เค้าว่ากันว่าเป็นเรื่องจริงที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีใครรู้เคยรู้จักไอ้ย่ามแดงในอดีต หรือ "นายกล่อม บางขุนนนท์" ชายบ้าเพราะชีวิตบัดซบที่ลูกตายเอาใส่ย่าม ตะเวรทั่วกรุงฯ เรื่องคือเอกและโทนเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่เด็ก หากเมื่อเติบใหญ่ชะตาชีวิตกลับเปลี่ยนผัน โทนได้เป็นปลัดอำเภอกลับมาดูแลบ้านเกิด ส่วนเอกกลายเป็นบ้าหลังลูกเมียถูกฆ่าตายด้วยนักเลงใจโหด และคอยตามฆ่าโจรเหล่านั้นอย่างไม่ปราณี โทนจึงต้องเลือกจะช่วยเพื่อนล้างแค้นแทนบุญคุณหรือจัดการเอกด้วยวิถีทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด
เรื่องนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2523 โดยสหมงคลฟิล์ม กำกับโดยเชาว์ มีคุณสุต แสดงโดยสรพงษ์ ชาตรี, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, มานพ อัศวเทพ, วลัยกรณ์ เปาวรัตน์, อุเทน บุญยงค์, ดวงชีวัน โกมลเสน
โดยเนื้อเรื่องคือสมัยยังเด็กๆ เอกและโทนเป็นเพื่อนรักกัน ครั้งหนึ่งโทนได้ทำความผิดและเอกก็ออกหน้ารับผิดแทน ความทรงจำในหนนั้นยังคงติดอยู่ในใจเมื่อทั้ง 2 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ โทน (อุเทน บุญยงค์) เข้าไปเรียนในเมืองกลายเป็นปลัดอำเภอ ส่วนเอก (สรพงษ์ ชาตรี) นั้นยังคงอาภัพถูกนักเลงใจโฉดพรากทั้งเมียและลูกไปจนกลายเป็นคนเสียสติถือย่ามแดงเดินไปมา ชาวบ้านแถวนั้นจึงเรียกว่าไอ้ย่ามแดง เมื่อกลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อนรักสองคนยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของกฎหมาย เอกออกตามล่าคนที่ทำคนไม่ดีกับลูกเมียของตนเอง ในขณะที่โทนยังเลือกไม่ได้ว่า บุญคุณในอดีตหรือหน้าที่อย่างใดจะสำคัญไปกว่ากัน
5. นวลฉวี
เมื่อเดือนกันยายนปี 2502 กลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งได้สังหาร นวลฉวี ตามคำว่าจ้าง แล้วนำศพมาทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานนทบุรี ซึ่งอีกสองวันต่อมา มีคนพายเรือมาพบศพและพบร่องรอยฆาตกรรมอย่างทารุณ บนนิ้วพบแหวนมีตัวอักษร ราชเดช และนำไปสู่การสอบปากคำ หมออุทิศ ราชเดช ก่อนจะนำไปสู่การจับกุมตัวในที่สุด
เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดังในยุคนั้น เนื่องจากคนที่จ้างวานเป็นถึงนายแพทย์และเป็นสามีของผู้ตาย จนมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครทีวีหลายครั้ง รวมถึงสะพานที่พบศพนวลฉวี โดยชาวบ้านก็เรียกชื่อตามนวลฉวีด้วยครับ
โดยในปี 2527 นก สินจัย หงษ์ไทย รับบทนวลฉวี พยาบาลสาวที่มีรักแท้โดยมี อภิชาติ หาลำเจียก นักแสดงหนุ่มในยุคนั้น ก่อนที่จะมาเอาดีทางการเมืองรับบทหมออุทิศ เรื่องนี้ทำให้ นก สินจัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำหญิงอีกด้วย
แล้วในปี 2546 บรรจง โกศัลวัฒน์ ได้นำเรื่อง นวลฉวี มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางไอทีวี โดยใช้ชื่อ "ปมรักนวลฉวี" นำแสดงโดย ใหม่ เจริญปุระ รับบทเป็น นวลฉวี, อำพล ลำพูน รับบทเป็น หมออุทิศ และ อภิชาติ หาลำเจียก มารับบทเป็น พ.ต.อ.วิบูลย์
6. ซีอุย
จากเรื่องจริงของฆาตกรโหด ซีอุย แซ่อึ้ง ที่ฆ่าเด็กและนำตับมาต้มกินในช่วงปี พ.ศ. 2497-2501 โดยมีเด็กอย่างน้อย 6 คนที่ถูกนายซีอุยสังหาร โดยซีอุยนั้นอาศัยเป็นชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทยและขึ้นฝั่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง แต่คนไทยที่นั่นนิยมเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย ซีอุยทำงานด้วยการรับจ้างทำสวนผักและรับจ้างทั่วไป มีนิสัยชอบเกาหัวและหาวอยู่เสมอๆ บุคลิกชอบเก็บตัว และนายซีอุยได้จับเด็กมาผ่าเอาตับมากินโดยเชื่อว่าเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ โดยได้ทำการฆ่าเด็ก 3 รายแรก ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุดท้ายถูกจับได้หลังจากคดีฆาตกรรมในจังหวัดระยอง ซึ่งสุดท้ายโดนจับขังคุกและประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2502 ก่อนถูกประหารซีอุยรับว่า เมื่อสมัยอยู่เมืองจีนได้ถูกเป็นเกณฑ์เป็นทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กินเนื้อมนุษย์เป็นครั้งแรกจากศพของเพื่อนทหารด้วยกันจึงติดใจในรสชาติ เนื่องด้วยไม่มีอะไรจะกิน ต่อมาศพของซีอุยถูกเก็บเพื่อนำมาตรวจสอบ โดยเก็บรักษาไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช โดยยังคงถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" ดังนั้นจึงมีผู้ใหญ่ใช้กลอุบายหลอกเด็กว่า ไม่ให้ไปเล่นนอกบ้านไกลๆ ไม่งั้นซีอุยจะมาควักตับไปกิน อยู่เสมอ
ทว่าขณะเดียวกันมีหลายคนเชื่อว่า ซีอุยถูกใส่ร้ายจากตำรวจว่าสัญญาว่าจะพากลับเมืองจีนหากตกลงว่าจะเป็นคนร้ายให้กับคดีนี้
แต่ความโหดร้ายของซีอุยนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกหยิบมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทยหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็ได้ตอกย้ำภาพความน่ากลัวของชายจีนรูปร่างผอมเกร็ง มีมีดสั้นเป็นอาวุธ ที่ใช้กระชากวิญญาณเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ และต้องกินหัวใจมนุษย์ทุกครั้งที่รู้สึกมีความต้องการ
และเคยมีการสร้างเป็นละครทีวีช่อง 5 ปี 2527 โดยกันตนา นำแสดงโดย เทอดพร มโนไพบูลย์ - ฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์ - ฐิติมา สุตสุนทร ส่วนในปี 2534 เป็นภาพยนตร์ ชื่อเรื่อง “นายซีอุย แซ่อึ้ง” โดยนำครูช่าง ชลประคัล จันทร์เรือง มาเล่นเป็นซีอุย ร่วมด้วย รณ ฤทธิชัย-ชลิต เฟื่องอารมณ์-โกวิท วัฒนกุล-ราม ราชพงษ์ -ชฎาพร รัตนากร กำกับการแสดงโดย บรรจง โกศัลวัฒน์
พอในปี 2547 นำมาสร้างอีกครั้งโดย แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส ซึ่งในสร้างนั้นไม่ได้ต้องการให้เกิดภาพและความเข้าใจซีอุยในแบบเดิม นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา แห่ง สยามสตูดิโอ และ บุรณี รัชไชยบุญ ผู้กำกับ ตีความอีกแบบโดยใช้ตัวละครนักข่าวผู้หญิงมาดำเนินเรื่อง ซีอุยภาคนี้ถูกมองโดยได้รับความเห็นใจมากขึ้น เรื่องนี้เล่นโดย ดาราชาวจีนครับ
แต่ในปัจจุบัน ความโหดร้ายจากการที่เด็กถูกกระทำและเป็นเหยื่ออาชญากรรมนั้น ยังคงดำรงอยู่ และอาจจะน่ากลัว กว่าเรื่องราวของซีอุยหลายเท่า เพียงแต่สังคมชินชากับความโหดร้ายดังกล่าวแล้วหรือไม่
7. ศยามล
เป็นเรื่องเกิดที่หัวหินปี 2536 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อพบศพศยามลครั้งแรก โดยพระภิกษุที่เดินบิณฑบาต เพราะพบว่ามีเด็กหญิงนั่งร้องให้อยู่ข้างๆ ศพแม่ แสดงให้เห็นว่าฆาตกรได้ฆ่าศยามล ต่อหน้าลูกน้อย คดีนี้จึงเป็นที่น่าสนใจมาก โดยเรื่องนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2538 กำกับโดย อภิชาติ หาลำเจียก และมี จอนนี่ แอนโฟเน่ แสดงเป็น นายแพทย์บัณฑิต ผู้จ้างวานฆ่าภรรยาตัวเอง นางศยามล ลาภก่อเกียรติ ต่อหน้าลูกสาววัย 2 ขวบ ช่วงนั้นก็เป็นที่วิจารณ์เหมือนกัน ที่หยิบยกมาทำหนังเร็วเกินไปรึเปล่า เพราะเป็นคดีสะเทือนขวัญและเพิ่งเกิดเรื่องได้ไม่นาน ครอบครัวของผู้เกี่ยวข้องอาจได้รับผลกระทบไปด้วย
8. เชอรี่แอน
จากคดีฆาตกรรมของเด็กสาวลูกครึ่งอายุ 16 ปี เชอรี่แอน ในปี 2529 และได้กลายเป็นคดี แพะประวัติศาสตร์ ของวงการยุติธรรมไทย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในการรับฟังพยานบุคคลในศาล ในปัจจุบัน และการที่กระบวนการยุติธรรมต้องชดเชยในกรณีตัดสินผิดพลาดแก่เหยื่อ ถูกสร้างเป็นหนังเมื่อปี 2544 กำกับโดย จรูญ วรรธนะสิน แสดงโดย รุ่งนภา บรู๊ค รับบท เชอรี่แอน และ ชฎาพร รัตนากร รับบท ทนายสาว, ปราบ ยุทธพิชัย ส่วนวันเข้าฉายคือ 9 พฤศจิกายน 2544
ซึ่งเนื้อเรื่องเป็นความรัก 4 เส้าของชาย 1 หญิง 3 ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่านวนิยายจน ความรัก ความหึงหวง ความอิจฉาริษยา ความโลภ นำไปสู่โศกนาฏกรรมการตายของเชอรี่แอน โดยพบศพเธอที่ป่าแสมริมถนนสุขุมวิทเก่า ใกล้บางปู และมีการจับกุมนาย วิชัย ชนะพานิชย์ นักธุรกิจพร้อมบริวารในฐานะผู้ต้องหาจ้างฆ่า แต่นายวิชัยรอดพ้นข้อหาได้อย่างหวุดหวิด แต่บริวาร 4 คนของเขาก็ถูกสร้างพยานเท็จหลักฐานปลอมจนถูกศาลขั้นต้นสั่งประหารชีวิต แพะทั้งหมดต้องถูกจองจำเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายในคุกไม่น้อยกว่า 6 ปี กว่ากระบวนการศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาภายใต้การรื้อฟื้นคดีของกองปราบจะพิสูจน์ได้ว่าทั้ง 4 คน เป็นคนผู้บริสุทธิ์ แต่เขาทั้ง 4 ล้วนพบกับสภาพครอบครัวแตกสลาย หนึ่งคนตายในคุก สองคนออกมาเสียชีวิตหลังพ้นจากเรือนจำไม่นาน เหลืออีกหนึ่งเดียวต้องอยู่อย่างพิการไปชั่วชีวิตและเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว เมื่อ 12 ตุลาคม 2555 เป็นผลจากระบบการสืบสวนผู้ต้องหาของตำรวจเลวเพื่อเค้นให้รับสภาพ และในที่สุดก็นำไปสู่การสืบหาติดตาม ไล่ล่า และ จับฆาตกรตัวจริง นายสมัคร ธูปบูชาการและนายสมพงษ์ บุญญฤิทธิ์ และผู้จ้างวาน นส.สุวิมล พงษ์พัฒน์ มาลงโทษจนสำเร็จ
9. คืนบาปพรหมพิราม
เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างจากคดีสะเทือนขวัญ ปี 2520 ที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนค่านิยมทางเพศที่ผู้ชายมองผู้หญิงเพียงเป็นวัตถุทางเพศ และกระทำต่อผู้หญิงคนหนึ่ง และกลายเป็นคดีอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ คดีหนึ่ง และกระทำโดยผู้คนหลายหลายอาชีพกว่า 30 ชีวิตที่มาเกี่ยวข้องกับคดีนี้
และเมื่อเรื่องนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2546 กำกับโดย มานพ อุดมเดช แสดงโดย พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ แสดงเป็นหญิงสาวผู้โชคร้าย และ สมภพ เบญจาธิกุล รับบทนายตำรวจ หนังเรื่องนี้ ฮือฮาพอสมควร เมื่อเข้าฉายครับ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเรื่องไปจาก คนบาป พรหมพิราม เป็น คืนบาป พรหมพิราม เนื่องจากถูกประท้วงอย่างหนักจากชาวอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่ถูกพาดพิงและไม่ยอมให้ภาพยนตร์เข้าฉาย
10. ฆ่าโปกปูน
เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงเช่นกัน โดยมีฆาตกรชื่อ เกียรติศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เป็นถึงครูดีเด่น ปี 2532 แต่เดือดร้อนเรื่องการเงินจนสวมวิญญาณมัจจุราชฆ่าลูกศิษย์วัยเพียง 12 ปี ชื่อทัศนีย์ แสงรัตนทองคำ ก่อนจะนำมายัดโลงไม้แล้วโบกปูนทับนำไปทิ้งน้ำ ทั้งๆ ที่เขาสนิทกับครอบครัวของเหยื่อนั้นยิ่งกว่าญาติสนิทและผลสุดท้ายถูกจับ ศาลลดจากการประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน
ต่อมาในปี 2546 ก็นำมาสร้างเป็นหนังแผ่น สร้างโดย RS Film แสดงโดย จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สามารถ พยัคฆ์อรุณ กำกับโดย ภาคย์
และในการจัดอันดับหนังไทยนี้ขออุทิศแด่ผู้สูญเสียในเหตุการณ์คดีสะเทือนขวัญ-ฆาตกรรมนี้ทุกราย
ที่มา: webboard.movie.sanook.com