ในวันนี้เรื่องราวที่จะนำมาเสนอให้ทุกคนได้อ่านเกี่ยวกับตำนานไทยๆ กันบ้าง โดยตำนานในคราวนี้จะเรื่องของวรรณคดีไทยที่หลายคนอาจจะเคยเรียนและรู้จักบ้าง ซึ่งวรรณคดีไทยที่พูดถึงคือ "มัทนะพาธา" หรือ “ตำนานรักดอกกุหลาบ” นั้นเอง โดยเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2424 - พ.ศ.2468) พร้อมทั้งเป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น และเมื่อพ.ศ.2466 วรรณคดีสโมสร ได้ยกย่องว่าเป็นหนังสือแต่งดี เพราะทรงพระราชดำริให้ใช้คำฉันท์เป็นละครพูดอันเป็นของแปลกในกระบวนวรรณคดีและแต่งได้โดยยาก
สำหรับที่มาขอชื่อเรื่องนี้มาจาก “มัทนา” หรือ “มทน” ที่แปลว่า ความลุ่มหลงหรือความรัก ดังนั้นแล้วมันทนะพาธาจึงมีความหมายว่า ความเจ็บปวดและความเดือนร้อนเพราะความรัก
โดยเรื่องราวความเป็นมาของมัทนะพาธาซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นหนังสือที่แต่งดี ซึ่งใช้ฉันท์เป็นบทละครพูดซึ่งแปลกและแต่งได้ยาก นับว่าเป็นเรื่ิองที่มีตัวละครและฉากสอดคล้องกัน วัฒนธรรมภารตะโบราณและเข้ากับเนื้อเรื่องได้ดี
ซึ่งลักษณะการแต่งในเรื่องมัทนะพาธาใช้คำประพันธ์หลายชนิดแต่เน้นแต่งด้วยฉันท์ บางตอนใช้กาพย์ยานี กาพย์ฉบังหรือกาพย์สุรางคนางค์ และมีบทเจรจาร้อยแก้วในส่วนของตัวละครที่ไม่สำคัญ ทำให้มีลีลาภาษาที่หลากหลาย ตอนใดดำเนินเรื่องรวดเร็วก็ใช้ร้อยแก้ว ตอนใดต้องการจังหวะเสียงและความคล้องจองก็ใช้กาพย์ อารมณ์มากก็มักใช้ฉันท์เช่น ตอนที่สุเทษณ์ตัดพ้อและมัทนาเจรจาตอบใช้วสันตดิลก แสดงจังหวะรวดเร็วของถ้อยคำเสริมให้คารมโต้ตอบกันมีลีลาฉับไวและทันกัน
พูดมาถึงขนาดนี้แล้วก็เริ่มๆ ทราบความเป็นมาของพระราชนิพนธ์นี้แล้ว แต่ว่าเรื่องราวของมัทนะพาธานั่นเป็นยังไง หลายคนอาจจะไม่รู้หรือหลงลืมไปกับบทเรียนไปแล้ว ดังนั้นเราขอนำเรื่องย่อมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
เรื่องย่อของมัทนะพาธานั้นเป็นเรื่องสมมุตที่เกิดเหตุการณ์ในอินเดียโบราณ โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์บนสวรรค์ เทพบุตรสุเทษณ์หลงรักเทพธิดามัทนาแต่นางไม่ปลงใจด้วย สุเทษณ์จึงขอให้วิทยาธรมายาวินใช้เวทมนตร์สะกดเรียกนางมา มัทนาเจรจาตอบสุเทษณ์อย่างคนไม่รู้สึกตัว สุเทษณ์จึงไม่โปรด เมื่อขอให้มายาวินคลายมนตร์มัทนาก็รู้สึกตัวและตอบปฏิเสธสุเทษณ์ สุเทษณ์โกรธ จึงสาปให้เธอจุติไปเกิดบนโลกมนุษย์ มัทนาจึงขอไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ ดังนั้นแล้วสุเทษณ์กำหนดว่าให้ดอกกุหลาบดอกนั้นกลายเป็นมนุษย์เฉพาะวันเพ็ญเพียงวันและคืนเดียว ต่อเมื่อมีความรักจึงจะพ้นสภาพจากเป็นดอกไม้ และหากเป็นความทุกข์เพราะความรักก็ให้วิงวอนต่อพระองค์ พระองค์จะช่วย
และ ณ กลางป่าหิมะวัน ฤษีกาละทรรศินพบต้นกุหลาบจึงขุดไปปลูกไว้ที่อาศรม เมื่อมัทนากลายเป็นมนุษย์ก็เลี้ยงดูรักใคร่เหมือนลูก ท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งเมืองหัสตินาปุระเสด็จไปล่าสัตว์ ได้พบนางมัทนาก็เกิดความรัก มัทนาก็มีใจเสน่หาต่อชัยเสนด้วยเช่นกัน ทั้งสองจึงสาบานรักต่อกันและมัทนาไม่ต้องกลับไปเป็นกุหลาบอีก แต่เมื่อชัยเสนพามัทนาไปยังเมืองหัสตินาปุระของพระองค์ พระนางจัณฑีมเหสีของชัยเสนหึงหวงและแค้นใจมาก นางขอให้พระบิดาซึ่งเป็นพระราชาแคว้นมคธยกทัพมาตีหัสตินาปุระ จัณฑียังใช้ให้นางค่อมข้าหลวงทำกลอุบายว่ามัทนารักกับศุภางค์ทหารเอกของชัยเสน ชัยเสนหลงเชื่อจึงสั่งให้ประหารมัทนาและศุภางค์ แต่ต่อมาเมื่อชัยเสนรู้ว่ามัทนาและศุภางค์ไม่มีความผิดก็เสียใจมาก อำมาตย์เอกจึงทูลความจริงว่ายังมิได้สังหารนางและศิษย์ของพระกาละทรรศินได้พานางกลับไปอยู่ในป่าหิมะวันแล้ว ส่วนศุภางค์ก็เป็นอิสระเช่นกันและได้ออกต่อสู้กับข้าศึกจนตายอย่างทหารหาญ ชัยเสนจึงเดินทางไปรับนางมัทนา ขณะนั้นมัทนาทูลขอให้สุเทษณ์รับนางกลับไปสวรรค์ สุเทษณ์ขอให้นางรับรักตนก่อน แต่มัทนายังคงปฏิเสธ สุเทษณ์กริ้วจึงสาปให้มัทนาเป็นกุหลาบตลอดไป ชัยเสนมาถึงแต่ก็ไม่ทันการณ์ จึงได้แต่นำต้นกุหลาบกลับไปยังเมืองหัสตินาปุระ
ส่วนตอนที่เลือกมาให้เรียนกันนั้นอยู่ในองค์ที่ ๑ เมื่อมายาวินทำพิธีสะกดพามัทนามาพบสุเทษณ์ไปจนจบองก์เมื่อสุเทษณ์สาปมัทนา
ดังนั้นแล้วมัทนะพาธาจึงเป็นเรื่องที่สมมุติว่าเป็นกำเนิดของต้นกุหลาบ มีการผูกเรื่องให้เกิดความขัดแย้งซึ่งเป็นปมปัญหาของเรื่องกล่่าวคือ สุเทษณ์หลงรักมัทนา แต่มัทนาไม่รับรัก สุเทษณ์จึงกริ้ว มัทนาต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์เป็นการชดใช้โทษ เมื่อพบรักกับชัยเสน ความรักก็ไม่ราบรื่นเพราะมีอุปสรรคคือนางจันฑี มัทนาต้องถูกพรากไปจากชัยเสนและได้พบสุเทษณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่มัทนาก็ยังไม่เปลี่ยนใจจากชัยเสนมารักสุเทษณ์ เรื่องจึงจบด้วยความสูญเสีย สุเทษณ์ไม่สมหวังในความรัก ชัยเสนสูญเสียคนรัก และมัทนาต้องเปลี่ยนสภาพมาเป็นเพียงดอกกุหลาบ
ทั้งที่ทั้งนั้นไม่ว่าวรรณคดีหรือวรรณกรรมเรื่องใดๆ ต่างมีคุณค่าและแง่คิด โดยเรื่องมัทนพาธาจึงสอนได้รู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากความรัก รู้ถึงโทษของความรักนั่นเอง
ทีมา: panidavichuma.blogspot.com