วันอาภากร 19 พฤษภาคม ของทุกปี
2014-05-19 15:06:00
พระประวัติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระประสูติกาล พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุล อาภากร) ทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ ๕ นับลำดับ ราชสกุลวงศ์เป็นพระองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติใน พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ เวลา ๑๔.๕๗ และทรงเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์ทรงมีพระกนิษฐา และพระอนุชา ร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์
การศึกษา เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร (พูน อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษา ภาษาอังกฤษกับ Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์
ทรงรับราชการทหารเรือ
หลังจากที่เสด็จในกรมฯ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ จึงได้รับ พระราชทานยศ เป็น นายเรือโท (เทียบเท่า นาวาตรีในปัจจุบัน) ทั้งนี้ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จะให้เป็น ผู้บังคับการเรือปืน ที่กำลังจัดซื้อ คือ ร.ล.พาลีรั้งทวีป หรือ ร.ล.สุครีพครองเมือง ลำใดลำหนึ่ง ในขั้นแรก ทรงรับราชการ ในตำแหน่ง "แฟลคเลบเตอร์แนล" (นายธง) ของผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม เสด็จในกรมฯ ได้ทรงสำรวจการป้องกัน ลำน้ำเจ้าพระยา และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานต่อ ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ โดยละเอียด ทรงริเริ่มกำหนด แบบสัญญาณธงสองมือ และโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพล "พลอาณัติสัญญา" (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ พลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงพอพระทัย ในการปฏิบัติงานของ เสด็จในกรมฯ มาก ทรงยกย่องว่า ทรงมีความรู้จริง และมีความกระตือรือร้น ที่จะทำงาน
ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ เสด็จในกรมฯ ได้รับพระราชทานยศ เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่า นาวาเอกในปัจจุบัน) และได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวา ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในระหว่างวันที่ ๕ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้นต่อมา ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เป็น รองผู้บัญชาการ กรมทหารเรือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศ เสด็จในกรมฯ จากนาวาเอก เป็นพลเรือตรี และคงทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ครั้นในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พีธีสมรสพระราชทาน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเป็น พระราชโอรส ลำดับที่ ๔๕ในรัชกาลที่ ๔ และทรงเป็น พระอนุชา ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตา และสนิทสนมยิ่งนัก (ทรงเป็น "เสด็จตา" ของพระองค์เจ้าภาณุพพันธ์ยุคล)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงมีพระธิดาองค์โต หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ครั้นพอเสด็จในกรมฯ สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ กลับมารับราชการแล้วนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ได้ทรงสู่ขอพระธิดาองค์โต ของพระอนุชามาพระราชทานเสกสมรสให้
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานมงคลพิธี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ มีเลี้ยงน้ำชา ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และมีงานราตรีสโมสร ซึ่งถือว่า เป็นครั้งแรกที่พิธีเสกสมรส จัดงานราตรีสมโภชคู่บ่าวสาว ให้เชิญทั้งไทย ทั้งฝรั่ง มีการเต้นรำอย่างธรรมเนียมสากลด้วย เป็นพิเศษ และ พระราชทานวังใหม่ ให้ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม
แต่ทว่าเป็นที่สลดสะเทือนใจนัก เพราะหลังจากเสกสมรสไม่กี่ปีต่อมา ความรักของหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ กับเสด็จในกรมฯ ก็มิได้ราบรื่นงดงาม ตามพระประสงค์ของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ ทรงมีเหตุให้น้อยพระทัย พระสวามี ทรงดื่มยาพิษ สิ้นชีพิตักษัย
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงสลดพระทัยนัก เนื่องเพราะทรงเป็นผู้สู่ขอ ด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นพระปิตุลาโดยตรง ของหม่อมเจ้าหญิงอีกด้วย เหตุนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงมีพระเมตตา ต่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ของหม่อมเจ้าหญิงเป็นพิเศษ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นพระองค์เจ้า คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเป็น "หลานรัก" ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระเมตตาเอ็นดูเป็นพิเศษ
พระโอรสและพระธิดา
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระโอรสเกิดแก่หม่อมเจ้าทิพย์สัมพันธ์ พระชายา พระธิดาจอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ๒ พระองค์ คือ
๑. พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
๒. พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร
พระโอรสและพระธิดา อันเกิดแก่หม่อม ดังรายพระนาม ต่อไปนี้
๑. หม่อมเจ้าหญิง จารุพัตรา อาภากร
๒. หม่อมเจ้าหญิง ศิริมาบังอร (อาภากร) เหรียญสุวรรณ
๓. หม่อมเจ้า สมรบำเทอง อาภากร
๔. หม่อมเจ้าหญิง เริงจิตรแจรง อาภากร
๕. พันเอก หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร
๖. พลเรือเอกหม่อมเจ้าครรชิต อาภากร
๗. หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร
พระบิดาแห่งราชนาวีไทย
ถึงแม้ว่าเสด็จในกรมฯ จะทรงแก้ไข ปรับปรุง ระเบียบการศึกษา ให้มีความก้าวหน้า แต่สถานที่ตั้ง โรงเรียนนายเรือนั้น ไม่มีที่ตั้ง เป็นหลักแหล่งที่มั่นคง ต้องโยกย้าย สถานที่เรียนบ่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผล ประการหนึ่ง ที่ทำให้ผลการเรียน ของนักเรียนนายเรือ ไม่ดีเท่าที่ควร เสด็จในกรมฯ ทรงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปรับปรุงกิจการด้านนี้ ให้ก้าวหน้า จึงได้นำความขึ้น กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ เพื่อตั้งเป็น โรงเรียนนายเรือ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ที่ดินบริเวณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และได้ดัดแปลงเป็น โรงเรียนนายเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงนับว่า รากฐานของทหารเรือ ได้หยั่งลงแล้ว ในการนี้ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงกระทำพิธีเปิด โรงเรียนนายเรือ ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงพอพระราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก พระราชหัตถเลขา ในสมุดเยี่ยมของ โรงเรียนนายเรือ ความว่า
"วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไป ในภายน่า"
เสด็จในกรมฯ ได้ทรงวางรากฐาน ในอันที่จะสร้าง นายทหารเรือไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกความประสงค์ การตั้งโรงเรียนนายเรือ ของ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ทูลเกล้าฯ ถวายนายพลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้า อัษฎางค์เดชาวุธ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการ กรมทหารเรือ เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ว่า
"... ต่อมาเมื่อปี ๒๔๔๘ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้เสด็จดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษา ทหารเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อจัดการ โรงเรียน ได้ทรงเพิ่ม วิชาสามัญชั้นสูงขึ้น กับมีวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมบ้าง ส่วนวิชาการเดินเรือนั้น ก็ทรงให้คงอยู่ ตามความประสงค์เดิม แต่ขยายหลักสูตร กว้างขวางออกไป ทั้งทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกล ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย..."
ตามบันทึกนี้ จะเห็นได้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงปรับปรุง การศึกษาของ โรงเรียนนายเรือ ให้เจริญและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสด็จในกรมฯ ได้ทรงตั้ง โรงเรียน นายช่างกลขึ้น เป็นครั้งแรก เพราะทรงเห็นว่า เมื่อมี โรงเรียนนายเรือ ขึ้นมาแล้ว ก็สมควรจะมี โรงเรียนนายช่างกล ซึ่งเป็นของคู่กันอยู่ด้วย เสด็จในกรมฯ ได้รับผู้สมัคร ที่จะเรียนทางช่างกล จากนักเรียนนายเรือนั่น และปรากฏว่า มีนักเรียนมาสมัครเรียน ทางช่างกลกันมาก พอกับความต้องการทีเดียว
วิชาสำหรับนักเรียนช่างกล ที่ศึกษานี้ บางวิชาก็เรียนรวมกัน กับนักเรียนนายเรือ และบางวิชา ก็แยกไปศึกษาโดยเฉพาะ ส่วนระเบียบการปกครอง ก็เป็นไปแบบเดียวกับ นักเรียนนายเรือ
เมื่อมีโรงเรียนเพิ่มขึ้น เป็นสองโรงเรียน ทางราชการจึงได้รวมการบังคับบัญชา โรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน และตั้งเป็นกองบังคับการขึ้นใหม่ เรียกว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" คำว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" จึงปรากฏใน ทำเนียบทหารเรือ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และเพื่อขยายกิจการ ของโรงเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก ได้ทรงดำเนินการ จัดซื้อที่ดิน ด้านหลังของโรงเรียนนายเรือ ในขณะนั้น จนจรดคลอง วัดอรุณราชวราราม (เว้นทางหลวง) ทรงสร้างโรงงานช่างกล สำหรับฝึกหัด นักเรียนช่างกล และได้สร้างโรงอาหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ต่อกันไปจากโรงงาน บริเวณนอกจากนั้น ให้ทำเป็นสนาม ซึ่งต่อมาพื้นที่บริเวณ สนามด้านหน้าวัด โมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ก็ได้จัดสร้าง เป็นโรงเรียนจ่าขึ้น จึงทำให้บริเวณกว้างขวางขึ้นอีกมาก
อนึ่ง เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นว่า ควรจะได้ฝึกหัดให้ ทหารเรือไทยเดินเรือทะเล ได้อย่างชาวต่างประเทศ เพราะในสมัยนั้น คนไทยยังต้องจ้าง ชาวต่างประเทศ มาเป็นผู้บังคับการเรือ เป็นส่วนมาก สำหรับคนไทยที่มีความสามารถ เดินเรือทะเลบริเวณ อ่าวไทยได้ ก็มีแต่พวกอาสา จากบางคนที่อาศัยความชำนาญ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวด้วย หลักวิชาเลย ดังนั้นเสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงริเริ่มที่จะ ทำการฝึกหัด และสั่งสอนนายทหารเรือ ให้มีความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือทะเล มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นพระดำริที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ในทางการทหารเรือ ของราชนาวีไทย และทางกองเรือ ก็ได้ยึดถือแบบฉบับ อันดีงามนี้ ดำเนินการต่อมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
สิ้นพระชนม์ที่ชุมพร
เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ก็ได้กราบบังคม ลาออกจากราชการ ไปตากอากาศ เพื่อพักผ่อน รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทั้งนี้ก็เพราะ เสด็จในกรมฯ ทรงมีสุขภาพ ไม่สมบูรณ์ และประชวร พระโรค ภายใน อยู่ด้วย ทางกระทรวง ทหารเรือ ได้สั่งให้กระบวนเรือที่ ๒ จัด ร.ล.เจนทะเล ถวายเป็นพาหนะ และกรมแพทย์ทหารเรือ ได้จัดนายแพทย์ประจำพระองค์ ๑ นาย พร้อมด้วยพยาบาลตามเสด็จไปด้วย เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จไปประทับ อยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำ เมืองชุมพร ซึ่งเป็นที่เสด็จในกรมฯ ทรงจองไว้จะทำสวน ขณะที่เสด็จในกรมฯ ประทับอยู่ที่จังหวัดชุมพรนี้ ก็เกิดเป็นพระโรคหวัดใหญ่ เนื่องจากถูกฝน ทรงประชวรอยู่เพียง ๓ วัน ก็สิ้นพระชนม์ที่ ตำบลทรายรี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
Admin : Chanya
view
:
2335
Post
:
2014-05-19 15:06:00
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น