ยุทธหัตถี
2014-04-30 11:25:35

ยุทธหัตถี.....สงครามยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและชนชาติไทย

  

พระองค์ดำนำทัพจับอาวุธ              กระทำยุทธ์อริราชอย่างอาจหาญ

                     ไล่ข้าศึกริปูเหล่าหมู่พาล                       ที่รุกรานโรมรันห้ำหั่นกัน
                            ทรงจับสุวรรณภิงคารหลั่งธารไหล   ประกาศไม่ยอมขึ้นแข็งขืนเขา
                      พ้นสภาพเชลยเคยซบเซา                     ทรงกู้เอาเอกราชชาติคืนมา
                            ไม่ประมาทพม่าพวกข้าศึก              ทรงให้ฝึกทหารจนชาญกล้า
                      ถึงเตรียมรบก็เร่งรัดพัฒนา                    อยุธยารุ่งเรืองดั่งเมืองทอง
                           ไม่นานนักข้าศึกก็นึกเหิม                  ค่อยต่อเติมกำลังคลั่งผยอง
                       ยกรี้พลขุนศึกคึกคะนอง                       หวังครอบครองอยุธยาอีกคราคราว
                             พระมหาอุปราชฉกาจกล้า               ยกทัพมาเป็นระลอกกระฉอกฉาว
                       หนองสาหร่ายลือเลื่องเกิดเรื่องราว         แสงของ้าวฟันฟาดขาดพระองค์
                              ยุทธหัตถีวีรกรรมล้ำเลิศแท้            ข้าศึกแพ้ทัพพ่ายพิศวง
                        อยุธยาเลือดนองเพื่อครองคง               ไทยดำรงอิสรภาพตราบยาวนาน
                              สมเด็จพระนเรศวรมหาราช             พระเกียรติคุณประกาศเกินคำขาน
                        พระบารมีสถิตมั่นในดวงมาน                 ตลอดกาลภักดีมั่นนิรันดร    

               สงครามยุทธหัตถี เป็นการต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง ซึ่งเป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ ดังเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า และมีชัยในการกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น

ในการกระทำยุทธหัตถีนั้น บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ และจะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน
              ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมี หอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพ จะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด
              ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมก ไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวง บริเวณหนองสาหร่าย
            เช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้ มาแล้ว หรือ เคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่า หลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์ และจาตุรงค์บาท เท่านั้น ที่ติดตามไปทัน

          สมเด็จพระนเรศวร ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้ กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรง ของสองพระองค์หลงถลำเข้ามา ถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบ ของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึก จึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคย มาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว"
            พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าชน เจ้าพระยาไชยานุภาพ เสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ ชนพลายพัทธกอ เสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
            ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะรีเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน 

 

 

 

 
 
 
 
 
 

Admin : fasaiumi
view
:
2472

Post
:
2014-04-30 11:25:35


ร่วมแสดงความคิดเห็น