ภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT )
2014-04-29 11:01:07
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (อังกฤษ: Value Added Tax หรือ VAT) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า แวต เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน
จุดเริ่มต้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก
การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นผลมาจากเหตุผลในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ฐานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศมั่นคงขึ้นมาก ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตแล้ว ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการ ยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม
การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อระบบภาษีอากรของประเทศไทยเป็นการปฏิรูปภาษีการค้าครั้งใหญ่ ทำให้ระบบภาษีอากรของประเทศมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเอื้ออำนวยต่อการลงทุนการส่งออก และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความซ้ำซ้อนของภาระภาษีดังเช่นภาษีการค้า นอกจากนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดความเป็นธรรมและความสะดวกต่อการปฏิบัติตามของผู้เสียภาษีอีกด้วย
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
2.ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
3.ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
4.ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ฉบับที่ 43) ฯ ลงวันที่ 29 มกราคม พ . ศ . 2536
5.ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร
วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แบบคำขอที่ใช้ในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แบบ ภ.พ.01 ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(เขต/อำเภอ)
หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำหรับในจังหวัดอื่นขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(อำเภอ) ทุกแห่ง
2.เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1)คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ
(2)สำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว
(3)บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว
(4)สัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ และหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นเจ้าบ้าน, สัญญาซื้อขาย, คำขอหมายเลขบ้าน, ใบโอนกรรมสิทธิ์, สัญญาเช่าช่วง พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการและภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
(5)หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)
(6)หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นนิติบุคคล)
(7)บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว
(8)แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป และภาพถ่ายสถานประกอบการจำนวน 2 ชุด
(9)กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
กำหนดเวลาจดทะเบียน
1.ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบการมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การสร้างอาคารสำนักงานหรือการติดตั้งเครื่องจักร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
2.ผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษี-มูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่
(1)รายงานภาษีซื้อ
(2)รายงานภาษีขาย
(3)รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
3. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30
Credit : http://th.wikipedia.org/ , http://www.thaismesoft.com/?p=328
Admin : Chanya
view
:
1764
Post
:
2014-04-29 11:01:07
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น