กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชน ระวัง 6 โรคอันตรายหน้าร้อน ทั้งโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 2 แสนราย ชี้อากาศร้อนทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ประชาชนต้องระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เป็นประจำทุกปี
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะ นี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน หลายพื้นที่อาจร้อนจัดและประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเฉพาะแบคทีเรียอย่างมาก ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า
และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลทุกแห่ง ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีรายงานผู้ป่วย ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วออกสอบสวนควบคุมโรคทันที และดูแลปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหาร และจัดหาน้ำสะอาด โดยเน้นการล้างตลาดทุก 2 สัปดาห์ ใส่คลอรีนในแหล่งน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน และเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ แจ้งเตือนประชาชนทั่วประเทศพร้อมคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว เพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วยลงให้ได้มากที่สุก
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเดินอาหารในช่วงฤดูร้อน ขอให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ โดยยึดหลักง่ายๆ ได้แก่ กินร้อน คือกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากยังไม่กินต้องเก็บในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนกิน ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม และดื่มน้ำสะอาดเช่นน้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายอย.รับรอง ซึ่งเป็นน้ำที่ผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรค ติดต่อสำคัญที่เกิดในฤดูร้อนประกอบด้วย โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ ในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 28 กุมภาพันธ์ 2553 พบผู้ป่วยรวม 200576 ราย เสียชีวิต 14 ราย ที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 183339 ราย เสียชีวิต 12 ราย รองลงมาคืออาหารเป็นพิษ 14897 ราย เสียชีวิต 1 ราย
สาเหตุการติดเชื้อทั้ง 5 โรคดังกล่าว เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ น้ำตก รวมทั้งอาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาการส่วนใหญ่มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลเบื้องต้นภายหลังมีอาการดังกล่าว ในระยะแรกควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออา ร์เอส
โดยใช้ ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มี ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็นในปริมาณ 1 ขวดน้ำปลากลมแทน โดยต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารเหลว เช่น น้ำข้าว น้ำแกงจืด หรือข้าวต้ม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า ส่วนโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สำคัญ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งพบได้ตลอดปีแต่มีแนวโน้มคนถูกสุนัขกัดจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน โดยปี 2552 พบผู้ป่วยทั้งหมด 23 ราย เสียชีวิตทุกราย ส่วนในปี 2553 นี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 7 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกสุนัขมีเจ้าของที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกัด และไม่ได้ไปหาหมอ คนที่ถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 1-10 ปี โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก สัตว์นำโรคที่พบมากสุดคือ สุนัข รองลงมาเป็นแมว และอาจพบในสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น หมู ม้า วัว ควาย และสัตว์ป่า เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น
สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า สังเกตได้จากมีนิสัยผิดไปจากเดิม เช่น มีอาการตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า กินอาหารน้อยลง ไวต่อแสงและเสียง ซึ่งต่อมาสัตว์จะเป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักและตายภายใน 10 วันนับจากแสดงอาการ โรคพิษสุนัขบ้านี้ไม่มียารักษา เมื่อมีอาการป่วยแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย
การป้องกันมี 2 วิธี คือ การป้องกันในสัตว์ โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง ในปีแรกควรฉีด 2 ครั้ง และการป้องกันในคน โดยไม่เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ระวังบุตรหลานไม่ให้ถูกกัด ใช้คาถา 5 ย. คือ อย่าแหย่สุนัขให้โมโห อย่าเหยียบสุนัข อย่าแยกสุนัขกัดกัน อย่าหยิบชามอาหารปรือลูกสุนัข และอย่ายุ่งกับสุนัขแปลกหน้าหรือไม่ทราบประวัติ หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์
ที่มา: tankmo.com
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP