มูลความผิดจำนำข้าว 10 ประการ
2014-04-21 11:17:51
ปลายเดือนนี้ ป.ป.ช.น่าจะมีมติชี้มูลความผิดกรณีนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตและความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
หากดูกันตามเนื้อผ้า ลองพิจารณาว่าโครงการนี้มีการกระทำไม่ชอบมาพากล หรือมีการทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยอย่างไร ก็จะคาดเดาได้ว่ายิ่งลักษณ์สมควรจะถูกชี้มูลหรือไม่?
1) โครงการรับจำนำข้าว หรือผูกขาดตลาดค้าข้าวโดยรัฐบาล?
รัฐบาลยิ่งลักษณ์อ้างว่าโครงการนี้เป็นการรับจำนำข้าว แต่ในพฤติการณ์จริง กลับเป็นการประกอบกิจการซื้อขายข้าวแข่งขันกับเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม โดยใช้เงินแผ่นดินมาซื้อข้าวราคาแพงกว่าเอกชนทั่วไป และดำเนินการขายราคาถูกกว่าเอกชนทั่วไป
เอกชนทั่วไปไม่สามารถทำได้เช่นนี้ เพราะถ้าทำก็เจ๊ง แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาเงินแผ่นดินของประชาชนทั้งประเทศมาใช้เป็นหน้าตักประกอบการ เมื่อขาดทุนนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่นำเงินภาษีของประชาชนมาชดใช้ ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดการค้าขายข้าว
นับเป็นการประกอบกิจการซื้อขายข้าวแข่งขันกับเอกชนโดยไม่เป็นธรรม ทำลายกลไกการแข่งขัน การค้าเสรีและระบบตลาด ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน อย่างชัดเจน
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการหลีกเลี่ยง เพื่อจะดำเนินการผูกขาดตลาดการค้าข้าวโดยรัฐบาลเอง
2) ดำเนินการบกพร่อง หรือนโยบายเปิดช่องให้มีการทุจริต?
นโยบายดังกล่าวถูกตักเตือน วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่เริ่มมีการประกาศนโยบายหาเสียงแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2523-2525 เคยมีการซื้อข้าวในราคาแพงกว่าตลาด แล้วก็เกิดการทุจริตเสียหายมากมายจนต้องยุติไป แล้วในยุคทักษิณก็มีการรับซื้อข้าวที่ราคาแพงกว่าตลาด แต่ไพล่ไปเรียกว่ารับจำนำข้าว ก็มีการทุจริตเสียหายอีกเช่นกัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับดำเนินนโยบายที่หนักข้อกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในปริมาณมหาศาล จนรัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดข้าวภายในประเทศ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเคยออกมาตักเตือน นักเศรษฐศาสตร์สถาบันต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ล้วนแต่เคยออกเตือนถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หน่วยงานตรวจสอบของกระทรวงการคลังเอง ก็ได้ทำหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการหลายครั้ง ระบุถึงปัญหาการทุจริตโกงกินและความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับเพิกเฉย ดำเนินโครงการเรื่อยมาถึง 5 ฤดูกาลผลิต ทำให้ความเสียหายบานปลาย ขยายวงกว้างอย่างร้ายแรง ถึงขนาดขาดทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท และติดหนี้ชาวนากว่าแสนล้านบาท
การทุจริตและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากนโยบายรับจำนำข้าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญ สุดวิสัย หรืออยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายรู้หรือสมควรรู้อยู่แล้ว แต่จงใจละเลย ละเว้น ดำเนินนโยบายที่เปิดช่องให้มีการทุจริตเสียหายแก่ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
3) ตอนรับซื้อข้าว มีการโกงอย่างไร?
มาตรการซื้อขายข้าวของรัฐบาลในลักษณะดังกล่าว เปิดช่องให้มีการทุจริตทั้งในการซื้อ การเก็บสต๊อก และในการขายข้าวออกจากสต๊อก
ลักษณะการรับซื้อข้าวในหลายพื้นที่หลายจังหวัด ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐไม่คุ้นเคยต่อการดำเนินการค้าขาย การคัดเกรดและประเมินคุณภาพสินค้า บางพื้นที่ส่งเด็กจบใหม่ไปดูแล และไม่ใส่ใจที่จะดูแลรักษาประโยชน์ของส่วนรวมเนื่องจากตนไม่ได้เป็นเจ้าของเงินที่นำมาใช้ในโครงการ (แถมยังถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง) ทุกขั้นตอน-ทุกกระบวนการ จึงมีการทุจริตซ้ำซาก โดยความร่วมมือของโรงสีบางราย เช่น
กดราคาข้าวชาวนา ลงบัญชีไม่ตรงกับความจริง อาทิ ซื้อจากชาวนา 13 ตัน ตันละ 10,000 บาท แต่ลงบัญชีไว้ 10 ตัน ราคาตันละ 13,000 บาท เปิดช่องให้โกงข้าวเลือกจำนวน 3 ตัน ตามตัวอย่างข้างต้น อีกทั้งมีข้าวล่องหน ข้าวหาย ข้าวหมุนเวียน ข้าวราคาถูกจากชายแดนเข้ามาสวมสิทธิ กินส่วนต่างราคา ฯลฯ
4) การโกงขาออก หรือตอนขายข้าว โกงอย่างไร?
ความเสียหายมากที่สุดเกิดขึ้นตอนขาออก หรือตอนขายข้าวนี่เอง
มีการขายข้าวในราคาถูกพิเศษให้กับพ่อค้าเอกชน โดยอ้างว่าขายข้าวแบบรัฐบาลไทยให้รัฐบาลต่างประเทศ หรือจีทูจี (G to G) ไม่มีการประมูลแข่งขันราคา แต่หลักฐานข้อเท็จจริงชี้ชัดว่า เป็นจีทูจีเก๊ เพราะไม่มีหลักฐานการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีการจ่ายเงินผ่านแอลซี แต่จ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค ออกโดยธนาคารในประเทศ แถมใช้วิธีส่งมอบข้าวหน้าโกดัง ขายราคาหน้าโกดัง ซึ่งหากเป็นจีทูจีหรือการขายข้าวส่งออกก็จะขายที่ราคาที่ท่าเรือส่งออก (FOB) หรือราคาที่ท่าเรือประเทศผู้ซื้อ (CIF)
แทนที่รัฐบาลจะขายข้าวในราคาแพงที่สุด กลับกลายเป็นขายราคาถูกพิเศษให้พ่อค้าเอกชนที่มีเส้นสาย ซื้อข้าวราคาถูกกว่าท้องตลาดไปฟันกำไร หรือแม้กระทั่งทำตัวเป็นนายหน้า กินค่าหัวคิว ตันละหลายพันบาท
5) ในการกักเก็บข้าวไว้ในโกดัง มีความเสียหายอย่างไร?
จากเดิมชาวนาเก็บข้าวเปลือกไว้ตามยุ้งฉาง โรงสีแต่ละรายก็กักเก็บข้าวเปลือกไว้เอง กระจายกันไปทั่วประเทศ เมื่อได้ราคาที่พอใจจึงสีแปรสภาพแล้วก็จะรีบส่งให้พ่อค้าส่งออก ระบายไปสู่ผู้ซื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
การที่รัฐบาลทำตัวเป็นพ่อค้าผูกขาดข้าวเสียเอง และไปแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารที่เสื่อมสภาพง่ายกว่า ยิ่งมีภาระต้องกักเก็บข้าวสารจำนวนมหาศาลไว้ในโกดัง ทำให้ข้าวเสื่อมสภาพ เสียเปล่าโดยใช่เหตุ แถมมีต้นทุนค่าเก็บข้าว ค่าดอกเบี้ยมหาศาล
การที่รัฐต้องกักเก็บข้าวไว้เองจำนวนมหาศาล หลายสิบล้านตันนั้น ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรลงทุนสร้างโกดังเก็บข้าวโดยเอกชนที่พยายามเข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ บางส่วนยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้ร่วมหากินกับโครงการรับจำนำข้าว ทำธุรกิจกับรัฐบาล เกิดการทุจริตโกงกิน ร่วมกันกินร่วมกันโกง เกิดกรณีข้าวหายไปจากโกดังเสียเฉยๆ หรือแม้แต่ไฟไหม้โกดังเพื่อทำลายหลักฐานการทุจริต เป็นต้น
6) โครงการจำนำข้าว ทำลายคุณภาพข้าวไทยจริงหรือ?
นโยบายนี้ทำลายกลไกตลาดที่เคยช่วยพัฒนาคุณภาพข้าวของไทยให้อยู่ในอันดับที่ดีที่สุดของโลก เพราะผลจากนโยบายทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งไม่ประสงค์ปลูกข้าวคุณภาพดีพันธุ์พื้นเมืองของไทย ที่ใช้เวลาเพาะปลูกยาวนานกว่า แต่หันมาปลูกข้าวนาปรังที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 90-100 วัน แต่คุณภาพต่ำกว่า
เพราะไม่ว่าคุณภาพข้าวอย่างไรก็จะขายข้าวได้ราคาที่รัฐบาลรับซื้ออยู่ดี
กลายเป็นว่า ชาวนาเร่งผลิตข้าวโดยเน้นปริมาณ ไม่สนใจคุณภาพ เพื่อนำมาขายให้รัฐบาล ในที่สุด ประเทศไทยก็เต็มไปด้วยข้าวคุณภาพด้อยกว่าเดิม คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ภาพลักษณ์ของข้าวไทยที่เคยได้ชื่อว่ามีคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกก็เสียหายไปด้วย ผลสุดท้าย ก็ไม่สามารถขายออกไปสู่ตลาดโลก
เปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย แย่งชิงตลาดข้าวคุณภาพดีไปจากประเทศไทย
ภาพลักษณ์ ความเชื่อถือ ความเป็นผู้นำตลาดข้าวคุณภาพดีนั้น เราใช้เวลาสร้างสมมานานหลายสิบปี กว่าจะได้รับการยอมรับ แต่กลับต้องถูกทำลายลงไปภายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี
7) นโยบายจำนำข้าว ทำลายกลไกการค้าข้าวอย่างไร?
เมื่อรัฐบาลทำตัวเป็นผู้ผูกขาดการค้าข้าวในประเทศ โดยข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือของรัฐ บรรดาโรงสีและผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็จำต้องหันมาทำธุรกิจกับรัฐบาล
โรงสีส่วนใหญ่กลายมาเป็นผู้รับจ้างรัฐบาล สีแปรสภาพ ไม่มีแรงจูงในพัฒนาคุณภาพการสี การแปรรูป หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็หันมาร่วมกันโกง แลกกับการได้เข้าร่วมโครงการ
พ่อค้าผู้ส่งออก จากที่เคยหาตลาดข้าวต่างประเทศก่อน หาออร์เดอร์สั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศก่อน แล้วจึงมารับซื้อข้าวในประเทศ ผสมข้าวให้ได้ตามความต้องการของตลาดนั้นๆ แต่เมื่อรัฐบาลรับซื้อข้าวไว้ในมือของรัฐเกือบหมด ผู้ส่งออกจึงไม่มีความมั่นใจที่จะหาออร์เดอร์จากต่างประเทศ เพราะข้าวในประเทศไทยไปอยู่ในโกดังของรัฐเสียเกือบหมด
น่าเสียดาย ผู้ส่งออกหลายรายของไทยมีลูกค้าต่างประเทศที่เป็นเจ้าประจำ เมื่อไม่สามารถหาข้าวจากภายในประเทศไทยได้ ก็หันไปซื้อข้าวในต่างประเทศ ส่งออกไปขายแทนข้าวในประเทศไทย กลายเป็นไปช่วยพัฒนาและส่งออกข้าวให้ประเทศเพื่อนบ้าน
บางรายมีศักยภาพสูง ถึงกับไปลงทุนพัฒนาการผลิตข้าว การปลูกข้าว ในต่างประเทศเสียเลย
แต่ผู้ส่งออกบางรายที่มีเส้นสายการเมือง ยอมร่วมทุจริตโกงกิน ก็หากินกับข้าวในโกดังของรัฐบาลต่อไป
นโยบายจำนำข้าวจึงทำให้ความาสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยตกต่ำลง
8) กระทบตลาดต่างประเทศของข้าวไทยอย่างไร?
นโยบายจำนำข้าวทำลายกลไกการค้าและการแข่งขันการค้า มีผลทำให้ไทยสูญเสียตลาดโลกไปในที่สุด
การส่งออกข้าวไทยตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งปริมาณข้าวที่ส่งออก และมูลค่าข้าวที่ส่งออก
จากที่เคยส่งออกข้าวปีละกว่า 10 ล้านตัน เหลือไม่ถึง 6 ล้านตัน จำนวนเงินที่ได้จากการขายข้าวก็ลดลง
ลูกค้าที่เคยซื้อข้าวไทย หันไปซื้อข้าวจากอินเดีย เวียดนาม ที่แซงขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวหมายเลขหนึ่งและสองของโลกตามลำดับ
การสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกของข้าวไทย นับเป็นปัญหาใหญ่ เพราะใช่ว่าจะได้กลับคืนมาง่ายๆ เหมือนที่ถูกทำลายลงไป
9) จำนำข้าว “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ทำไมไม่ได้ผลดีเหมือนราคาคุยของทักษิณ?
ปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นบทพิสูจน์ ยืนยันว่า วิธีคิด วิธีการแบบที่ทักษิณคุยโม้โอ้อวดมาตลอดนั้น ผิดมหันต์
ทักษิณคุยโวว่า ไทยเราผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก เราต้องกำหนดราคาส่งออกได้เอง ให้รัฐซื้อข้าวมากักตุนไว้ ปั่นราคาตลาดโลกให้สูงขึ้นตามราคาที่รัฐบาลไทยกำหนด
ในความเป็นจริง ปริมาณข้าวที่ซื้อขายกันระหว่างประเทศ คิดเป็นเพียง 6% ของปริมาณข้าวที่ผลิตกันทั้งหมดในโลก
ไทยเคยส่งออกข้าวมากที่สุด คือ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ค้าก็จริง แต่ก็คิดเป็นเพียง 2% ของข้าวที่ผลิตทั้งหมดในโลก
ประเทศจีน หรืออินเดีย ปลูกข้าวปริมาณมากกว่าไทย เพียงแต่เขาบริโภคเองเสียส่วนใหญ่ ส่งออกน้อยกว่าไทยเท่านั้นเอง
ประเทศส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวนั้น เขาปลูกข้าวไว้กินกันเองภายในประเทศ
เพราะฉะนั้น ถึงไทยเรากักเก็บข้าวไว้ในโกดัง เล่นตัว ไม่ขายข้าวออกมาสู่ตลาดโลก ก็จะไม่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เพราะเมื่อใดที่ราคามีแนวโน้มจะสูงขึ้น บรรดาประเทศที่ปลูกข้าวอยู่ก็จะเพิ่มการผลิตข้าว โดยเปลี่ยนพื้นที่ที่ปลูกพืชอย่างอื่นมาปลูกข้าวแทนทันที ซึ่งใช้เวลา 90-100 วันก็สามารถเพิ่มผลผลิตออกมาขายได้แล้ว อีกทั้ง ผู้บริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตในโลก หากข้าวราคาแพง ผู้บริโภคก็จะหันไปบริโภคอย่างอื่น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด มันฝรั่ง ฯลฯ ดังเช่นที่รัฐมนตรีกิตติรัตน์ มาเรียนรู้ในภายหลัง ถึงอุทานว่า ตลาดคาร์โบไฮเดรตใหญ่โตมหาศาล ด้วยเหตุนี้ราคาข้าวในตลาดโลกจึงไม่สูงขึ้นตามความหลงผิดของทักษิณ
เรื่องนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมาพูด แต่ผมได้เตือนไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว
รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงผิดเองที่ไปเชื่อหรือทำตามตัณหาของทักษิณ ดำเนินนโยบายที่มีการทุจริตโกงกิน และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง
10) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะต้องรับผิดชอบอย่างไร?
การทุจริตและความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าว เป็นเรื่องที่ยิ่งลักษณ์อยู่ร่วมและดำเนินการมาตั้งแต่ต้น
ไม่สามารถจะโบ้ยความผิดไปให้ใครอื่นได้เลย
ความรับผิดชอบของนักการเมืองในเรื่องนี้ มีอย่างน้อย 2 ระดับ
ความรับผิดชอบทางจริยธรรม คุณธรรม เป็นสำนึกรับผิดชอบพื้นฐาน เป็นความละอายเฉพาะตัว ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่พึงจะต้องมีจิตสำนึกได้เอง ตัดสินใจได้เอง เกิดความละอายแก่ใจตนเอง
กรณีเรือล่มที่เกาหลีใต้ ปรากฏว่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนที่พาเด็กนักเรียนเดินทางไปกับเรือดังกล่าวได้ลงโทษตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะเกิดความละอาย รู้สึกผิด เกินกว่าจะอยู่สู้หน้าใครอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ ในทางกฎหมายตนเองอาจไม่ต้องรับผิดเลยก็ตาม
เทียบกับการดำเนินโครงการจำนำข้าว เกิดการทุจริตโกงกิน สร้างความเสียหาย ทำลายระบบการผลิตการค้าข้าวของไทยจนอัปปางลง ชาวนาฆ่าตัวตายไปกว่า 10 คน แต่นายกรัฐมนตรีผู้หาเสียงเอากับนโยบายนี้กลับไม่มีสำนึกของความละอาย ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย
ความรับผิดทางกฎหมาย การรับซื้อข้าวราคาแพงกว่าตลาด เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดตัดตอนการค้าข้าวนั้น เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน
การทุจริตโกงกินในทุกขั้นตอนของโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขาเข้า-ขาออก การเก็บสต็อกข้าว การระบายข้าว ล้วนแต่ทำให้มีการโกง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับดำเนินโครงการต่อเนื่องมาถึง 5 ฤดูกาลผลิต ไม่สนใจการทักท้วงของผู้ใด องค์กรใด รวมทั้งการอภิปรายในรัฐสภา นอกจากเกิดการทุจริตแล้ว ยังทำลายระบบการผลิตและการค้าข้าว คุณภาพข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินมูลค่ามหาศาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมรู้ แต่จงใจละเว้น ปล่อยปละละเลย ดำเนินโครงการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อไป เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนบางกลุ่ม น่าจะเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด ผิดกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช.
การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นับเป็นการกระทำที่อุกอาจ นอกจากจะสร้างความเสียหายร้ายแรงแล้ว ยังสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบผิดๆ ปลุกปั่นให้ชาวนาเห็นผิดว่าโกงก็ได้แต่ขอให้แบ่ง ซึ่งเป้นอันตรายต่อความอยู่รอดของประเทสชาติในระยะยาวอย่างยิ่ง
บทสรุป...
เมื่อพิจารณากันตามเนื้อผ้า ดูตามข้อมูลข้อเท็จจริง พฤติการณ์และความเสียหายจากการดำเนินนโยบายจำนำข้าวแล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะถูกชี้มูลความผิด ถูกดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถูกถอดถอนในวุฒิสภาด้วย
ตรงข้ามกับที่ ศอ.รส.แถลงการณ์คุกคาม ป.ป.ช. กล่าวหาทำนองว่า ป.ป.ช.บางคนทำงานไม่ตรงไปตรงมา จ้องจะชี้มูลเอาผิดยิ่งลักษณ์ ทั้งๆ ที่ หากดูกันตามพฤติกรรมความเสียหายจริงๆ แล้ว ถ้าลอง ป.ป.ช.คนไหนไม่กล้าชี้มูลความผิดของยิ่งลักษณ์สิ ถึงจะเป็นเรื่องผิดปกติ
กรณีจำนำข้าวนี้ ป.ป.ช.ไต่สวนสอบสวนมานานเกือบ 2 ปี ถึงเวลาชี้ขาดเพื่อยุติความเสียหายของประเทศชาติได้แล้ว!
เครดิต แนวหน้า
Admin : GK1551
view
:
1865
Post
:
2014-04-21 11:17:51
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น