พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก
2014-04-08 12:32:44
ประเทศไทยได้ตรากฎหมาย กฎอัยการศึก เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) คือ “ กฎอัยการศึก ร.ศ.126 ” ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2450 จึงเป็นที่มาของ พระราชบัญญัติ " กฎอัยการศึก ร.ศ.126 " ซึ่งใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ร.ศ.126 นี้ มีเพียง 8 มาตรา และใช้อยู่เพียง 7 ปี ก็ได้ถูกยกเลิกโดย พระราชบัญญัติ " กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 " ทั้งนี้ก็เพื่อให้ สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
ปัจจุบัน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ได้ประกาศใช้จนถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 91 ปี ซึ่งมีรายละเอียดของพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก ฯ รวม ๑๗ มาตรา ดังนี้
พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗
นามพระราชบัญญัติ
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457"
[รก.2457/-/388/13 กันยายน 2457]
ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ
มาตรา 2 เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มี ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตรา หรือแต่บาง มาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่ง การใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่ว ราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความ ในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน
[ มาตรา 2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485]
ลักษณะประกาศ
มาตรา 3 ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้ กฎอัยการศึก
ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก
มาตรา 4 เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชา ทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาล ทราบโดยเร็วที่สุด
เมื่อเลิกต้องประกาศ
มาตรา 5 การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมี ประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ
อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา 6 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติ ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
[ มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]
อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา 7 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และ ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา คดีอาญา ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่าง ที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย
ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศ เช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นใน ศาลทหารก็ได้
[ มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]
มาตรา 7 ทวิ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ตามความใน มาตรา 7 นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้
[ มาตรา 7ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487]
มาตรา 7ตรี เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมี อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย
มาตรา 7ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487]
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ
มาตรา 8 เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะ เข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่
การตรวจค้น
มาตรา 9 การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้
(1) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจ ที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น
(2) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่ง หรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก
(3) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์
[ มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]
การเกณฑ์
มาตรา 10 การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้
(1) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่าง ทุกประการ
(2) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน สัตว์พาหนะ เสบียงอาหาร เครื่องศาตราวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหาร จะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง
การห้าม
มาตรา 11 การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้
(1) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน
(2) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บท หรือคำประพันธ์
(3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุ กระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์
(4) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย
(5) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของ อาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติ ดังกล่าวได้
(6) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด
(7) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษา ความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้น ออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด
(8) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศ ใช้กฎอัยการศึก
[มาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]
การยึด
มาตรา 12 บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราว เพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มี อำนาจยึดได้
การเข้าอาศัย
มาตรา 13 อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการ ทหารเห็นจำเป็นและใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ ทุกแห่ง
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่
มาตรา 14 การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำ ได้ดังนี้
(1) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้า แม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกันการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น
(2) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง
การขับไล่
มาตรา 15 ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใด หรือ จำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้
มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อ คำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ ไม่เกินกว่า 7 วัน
[ มาตรา 15ทวิ เพิ่มความโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]
ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้
มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วใน มาตรา 8 และ มาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่ง อย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกัน พระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรือง เป็นอิสรภาพและสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน
มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง
มาตรา 17 ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหาร มีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวกและ เรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือ จลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติม ให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศ กฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชบัญญัตินี้
พ.อ.สงบ แก้วเทศ ผู้จัดทำ webpage
สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
Admin : Chanya
view
:
1643
Post
:
2014-04-08 12:32:44
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น