ยกฟ้อง 'สมคิด บุญถนอม' ฝันค้างแผนกลั่นแกล้งการเมืองของระบอบทักษิณ
2014-04-01 10:20:27

 

          จบสิ้นกระบวนความไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับคดีมหากาพย์อันแสนยาวนานกว่า 24 ปีในคดีเพชรซาอุฯ เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมพวกอีก 4 คน ได้แก่ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล พ.ต.อ.สุรเดช อุดมดี และ จ่าสิบตำรวจประสงค์ ทอรั้ง ในคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
       
          สำหรับนายโมฮัมเม็ด อัลรูไวลี เป็นนักธุรกิจเจ้าของบริษัทจัดหาแรงงาน ได้หายตัวไปอย่างลึกลับกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 หลังจากนั้นกรมตำรวจได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีนี้และมีการส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาแต่ทางอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเมื่อปี 2536
       
          ที่สุดแสบสันต์ก็คือการรื้อคดีขึ้นมาอีกครั้งในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จังหวะปล่อยหมัดทิ้งทวนก่อนพ้นจากตำแหน่งไปนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ด้วยการเซ็นคำสั่งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอนำหลักฐานคดีการหายตัวไปของโมฮัมเม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาและนายธนพิชญ์ มูลฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2553 ก่อนคดีจะขาดอายุความเพียง 1 เดือนเท่านั้น
       
          อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนมาดูสาระสำคัญในคำพิพากษาที่ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ยังเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาไม่น้อยเช่นกัน โดยศาลระบุว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงไม่น้าเชื่อถือกับพยานอื่นๆ ของโจทก์
       
                 ย้อนกลับไปยุค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้ลงทุนหาพยานหลักฐานใหม่ เป็นแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว (แหวนประจำตระกูลของอัลรูไวลี่) ที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก 1 ในทีมขอ พล.ต.ท สมคิดเก็บไว้ ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชชัย ภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากดีเอสไอให้เข้าโครงการคุ้มครองพยาน โดยนายตำรวจคนดังกล่าวอ้างเหตุผลที่กลับคำให้การและนำแหวนมามอบให้เป็นหลักฐานว่า เพื่อต้องการไถ่บาป เพราะรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป ทั้งนี้พนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่า ตำรวจคนดังกล่าวได้ไปทำพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้เหยื่อจริง ก่อนเข้าให้การ ชุดสืบสวนจึงให้น้ำหนักคำให้การพร้อมกันไว้เป็นพยาน

 

       
          การออกหมายจับของกมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งพิจารณาโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมเดียวกันนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเหตุไรจึงลงนามคำสั่งในวันสุดท้ายก่อนถูกย้ายเข้ากรุ เหตุไรจึงหยิบยกคดีที่มีพยานเพียงแค่นักเลงหัวไม้นำเรื่องราวในวงเหล้าไปปั้นเป็นคดีระดับชาติ
       
          สำหรับ พ.ต.ท.สุวิชชัย เคยเป็นลูกน้องของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ว่ากันว่าถูกล็อบบี้ให้มาเป็นพยานซัดทอด เพื่อแลกกับคดีหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาของศาลมีนบุรีที่ให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีฆ่านายฉัตรดำรงพรรณ ชัยเฉลิมภัค โดยในยุคที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอ มีการพา พ.ต.ท.สุวิชชัย พยานปากสำคัญเอาไปสอบสวนที่ดูไบอีกต่างหาก
       
          เป็นเช่นนี้แล้วคงจะอดกล่าวถึงข้อสังเกตของคดีนี้ไม่ได้ สังเกตได้ว่าผลัดเปลี่ยนมากี่ยุค กี่รัฐบาล คดีปริศนาการหายตัวของอัลรูไวลี่นักธุรกิจซาอุฯ ก็จะถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่เกือบทุกครั้ง
       
          ที่ผ่านมคดีนี้ดูเหมือนยังมีผู้เสียประโยชน์นำมาเล่นแบบไม่ยอมเลิกครั้งใดก็ตามเมื่อได้จังหวะสับเปลี่ยน หรือก้าวหน้าในอาชีพ บรรดาคู่แข่งหรือผู้หวังดีประสงค์ร้ายทั้งหลายก็จะออกข่าวดิสเครดิตทำลายเป็นระยะๆ
       
          ขณะที่หากกล่าวถึงชื่อ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม มักตกเป็นเป้าของระบอบทักษิณมาโดยเสมอ เพราะตอนที่ถูกดีเอสไอรื้อคดี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ก็บังเอิญแบบร้ายกาจที่กำลังอยู่ช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่โผโยกย้ายนายตำรวจใหญ่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ซึ่งเจ้าตัวกำลังจะย้ายจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พอดิบพอดี ทำให้ฝ่ายพลพรรคเสื้อแดงต่างสะใจ พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินการพักราชการ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอมทันที
       
          ยิ่งผลงานของ พล.ต.ท.สมคิด ที่ตอนนั่งตำแหน่งเป็น ผบช.ภ.5 คุมจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา ก็ยิ่งเล่นเอาคนเสื้อแดง ระบอบทักษิณดิ้นเป็นเจ้าเข้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำคดีบุกรุกป่าสบกก จังหวัดเชียงราย ที่ได้ไล่บี้นักการเมืองใหญ่ ผู้มีอิทธิพล บิ๊กข้าราชการใหญ่ที่มีเอี่ยว จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดากลุ่มคนเสือแดงจะไปโห่ไล่กดดันสร้างแผนการกำจัดออกจากพื้นที่บ่อยครั้ง
       
          นอกจากนั้นแล้ว พล.ต.ท.สมคิด ยังเป็นน้องชายของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตเลขานุการสำนักงาน คมช. ที่สำคัญยังเป็นหัวหอกคนสำคัญในการรบกับระบอบทักษิณ สำหรับผลงานที่ระบอบทักษิณควรจะจำไม่ลืมก็คือ พล.ต.ท.สมคิด ยังเป็นเจ้าของผลงานขุดรากถอนโคนทำคดีจนนายยงยุทธ ติยะไพัช อดีตประธานสภาฯ มือขวาของ นช.ทักษิณ เดี้ยงคาเขียงในคดีทุจริตเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงรายมาแล้ว ซึงเป็นที่มาของคดียุบพรรคพลังประชาชนในเวลาต่อมา
       
          ขณะเดียวกัน เมื่อโฟกัสไปที่ กลางน้ำกระบวนการยุติธรรม คดีนี้ก็ยังไม่พ้นเงื้อมมือการบงการโดยคนของระบอบทักษิณอยู่ดี โดยผลงานคือนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2553 ก่อนคดีจะขาดอายุความเพียง 1 เดือนเท่านั้น
       
          โดยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ซึ่งผลงานที่ผ่านมายังถูกตีตราว่าเป็นคนของระบอบทักษิณชัดเจน ซึ่งนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบันในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อดีตอัยการสูงสุดสมัยนั้นเป็นคนดันขึ้นมาให้นั่งเก้าอี้นี้กับมือ
       
          นอกจากนั้น ทนายความที่มาดูแลคดีก็หาใช่ใครอื่นคือนายเอนก คำชุ่ม ที่รับบทเป็นหัวหน้าทีมทนายคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียนั่นเอง โดยผลงานที่ผ่ามาคือ เป็นทนายส่วนตัวว่าความให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาทมาแล้ว
       
          แถมยังตั้งข้อสังเกตประเด็นการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาก่อนจะตัดสินคดี แต่ข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งที่ต้องรับฟังก็คือ ความเห็นของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ได้ระบุว่า ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนคือนายสมศักดิ์ ผลส่ง ได้นั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่ปี 2554 แต่มีเรื่องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวขัดระเบียบ สมัยที่เป็นหัวหน้าศาลสระบุรี และบังเอิญทางคณะกรรมการตุลาการมาสั่งพักราชการในเดือน ม.ค.2557 ช่วงที่อยู่ระหว่างทำคำพิพากษาพอดี การสั่งพักราชการถือว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงต้องให้รองอธิบดีศาลอาญาไปเป็นองค์คณะและทำคำพิพากษาร่วมกับผู้พิพากษาอีกท่านที่เป็นเจ้าของสำนวนอยู่เดิม ตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 จึงขอยืนยันว่าการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษามีกฎหมายรองรับ ไม่มีอะไรที่จะเป็นข้อสงสัย หรือทำไปโดยไม่มีเหตุผลหรือทำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
       
          ที่สุดแล้วจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอาจจะเป็นการปิดฉากของคดีอันยาวนานนี้ เพราะนับเป็นเรื่องยากที่ฝ่ายระบอบทักษิณจะหาทางสร้างพยานหลักฐานใหม่มายื่นอุทธรณ์คดีอีกครั้ง เนื่องจากพยานหลักฐานต่างๆ ชี้ชัดว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่ามิได้มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด และเชื่อขนมกินได้เลยว่าคงจะทำเอานายใหญ่และคนของระบอบทักษิณหมดอารมณ์ไปตามๆกัน

 

 

Credit: manager.co.th, dailynews.co.th, bangkokvoice.com, news.truelife.com


Admin : Maimai
view
:
1392

Post
:
2014-04-01 10:20:27


ร่วมแสดงความคิดเห็น