ปธ.ศาลปค.สูงสุด ผุดไอเดียจัดตั้ง"ตำรวจศาล" (court marshal) คุ้มครององค์กรตุลาการ
2014-03-11 10:23:13
 
วันที่ 10 มีนาคม ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด  กล่าวในการแถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 13 ปี และประกาศเปิดทำการแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น ว่า  ตั้งแต่เปิดทำการศาลมาจนถึงวันที่31 ธ.ค. 2556 มีคดีรับเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมดจำนวน 94,920 คดี พิจารณาแล้วเสร็จจำนวน 74,000 คดี คิดเป็น 77.96% ของจำนวนคดีรับเข้าทั้งหมด 
 
ส่วนประเภทเรื่องที่ฟ้องต่อศาลปกครอง พบว่า 23% เป็นคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล วินัยฯ รองลงมาเป็นคดีเกี่ยวกับอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 17.71 % และคดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด คิดเป็น 17.64%   
 
ในปี พ.ศ. 2556 ถือเป็นปีที่มีคดีฟ้องรับสู่ศาลปกครองมากที่สุด  13,019 คดี  แต่จากการเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทำให้พิพากษาคดีแล้วเสร็จจำนวน 9,447 คดี และมีคดีคงค้างอยู่จำนวน 20,920 คดี เป็นคดีที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 2 ปี7,080 คดี คิดเป็น 74.94% ขณะที่ช่วงปี 2551 – 2555 มีคดีที่รับเข้าสู่ศาลเฉลี่ยปีละ 8,000 คดีเท่านั้น  
 
นับตั้งแต่ศาลปกครองเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2557 สำนักบังคับคดีปกครองได้รับคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดที่ต้องเข้าสู่การบังคับคดี 7,368  คดี โดยสามารถดำเนินการบังคับคดีแล้วเสร็จ 5,688 คดี  คิดเป็น 77.20%  ซึ่งขณะนี้เหลือคดีที่รอการบังคับอีกเพียง 1,680 คดี   ปี 2546  ศาลปกครองได้ปรับปรุงระบบการบังคับคดีอย่างเต็มที่  โดยจัดตั้งหน่วยบังคับคดี ในสำนักงานศาลปกครองภูมิภาคเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 56  เพื่อให้การบังคับคดีเป็นไปอย่างเต็มระบบด้วย   
 
ภายหลังการแถลงผลงานดังกล่าว  นายหัสวุฒิ  ยังกล่าวถึงกรณีสถานการณ์ที่มีผู้คุกคามข่มขู่ตุลาการว่า  ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นต่อองค์กรตุลาการเป็นจำนวนมาก  จากผลของการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรศาล ไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาปกป้อง 
 
"ผมเห็นว่าควรจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาคุ้มครององค์กรตุลาการนั่นก็คือตำรวจศาลหรือคอร์ทมาแชล (court marshal) แบบเช่นในต่างประเทศ โดยอำนาจหน้าที่ขึ้นตรงกับองค์กรศาล เพื่อให้เกิดการทำหน้าที่ของตุลาการศาลอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เหตุการณ์ที่ศาลยุติธรรมถูกระเบิด หรือการติดตามไปยังบ้านของตุลาการศาล ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น โดยศาลจะต้องเป็นผู้แต่งตั้งตำรวจศาลขึ้นเอง" 
 
นายหัสวุฒิ กล่าวแล้วว่า  อยากให้ตุลาการทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ มาร่วมพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ถึงการจัดตั้งตำรวจศาลขึ้นมาว่ามีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง จะต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากฝ่ายบริหารเช่นในต่างประเทศ  ซึ่งบุคลากรที่มาดูแลตุลาการจะต้องมีความเชี่ยวชาญและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี  ไม่ใช่การจัดจ้างเอกชนมาดูแลศาล  จะได้มีโอกาสเข้าพบประธานศาลฎีกาในช่วงกลางเดือนมี.ค.จะพูดถึงแนวคิดดังกล่าวคงยังบอกไม่ได้ว่าการจัดตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายในกี่ปี แต่ตนอยากให้มีการจัดตั้งหน่วยที่คอยปกป้ององค์กรตุลาการ
 
นายหัสวุฒิ  ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองว่า  ตนเห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดความเรียบร้อยได้ โดยทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นเสาหลักของบ้านเมือง
 
เครดิต มติชน

Admin : GK1551
view
:
1337

Post
:
2014-03-11 10:23:13


ร่วมแสดงความคิดเห็น