ตะลึง! แม่น้ำเจ้าพระยาเค็มเกินมาตรฐานเป็นประวัติการณ์
2014-02-21 11:05:18
น้ำประปาเค็ม เหตุน้ำทะเลหนุนสูงเกินค่ามาตรฐานทุบสถิติปี 53 
 
 
รายการครอบครัวข่าวเช้า ช่อง 3 ได้นำเสนอข่าวน้ำประปาเค็มที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ปัญหาน้ำเค็มปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาลในช่วงฤดูแล้งหลายพื้นที่ ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านพื้นที่ที่ใช้น้ำบาดาลผลิตน้ำประปาจำนวนมากว่า ต้องทำความเข้าใจว่าโดยธรรมชาติแล้ว พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำเค็มสำหรับน้ำบาดาลจะมีอยู่ 2 แห่ง คือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในภาคกลางเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้นชั้นน้ำบาดาลที่นำมาใช้ได้ค่อนข้างจะอยู่ลึก โดยมีชั้นน้ำบาดาลอยู่ทั้งหมด 8 ชั้น ส่วนใหญ่ชั้นบนๆ จะเป็นน้ำเค็ม เช่นที่ จ.นครปฐม น้ำเค็มจะอยู่ถึง 7 ชั้น น้ำจืดอยู่ชั้นที่ 8
“แต่กรณีที่เกิดปัญหา น้ำประปาบาดาลเป็นน้ำเค็มหลายพื้นที่ในปัจจุบันนั้น ขอเรียนว่าไม่ใช่สาเหตุมาจากเรื่องภัยแล้งโดยตรง แต่เป็นเพราะบ่อเก่าไม่ได้รับการดูแลบำรุงรักษา ทำให้เกิดปัญหาบ่อแตก น้ำเค็มซึม หรือรั่วใส่ได้ น้ำบาดาลเป็นน้ำบริสุทธ์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ แทบจะไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเลย หากไม่มีการผิดพลาดทางเทคนิค เช่น ถูกน้ำเค็มจากบ่อใกล้เคียงซึมเข้าไป”
 
ปลัด ทส.กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาน้ำเค็มซึมในบ่อบาดาล คือ การเป่าล้างและฉีด ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะที่เจ้าหน้าที่ทำอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาบ่อน้ำบาดาลของบริษัทเอกชนที่ต้องใช้ผลิตน้ำดื่มออกมาจำหน่ายนั้น 6 เดือนก็จะมีการล้างและซ่อมแซมบำรุงรักษา 1 ครั้ง แต่ทราบมาว่าบ่อบาดาลที่ใช้ทำน้ำประปาของท้องถิ่นหลายที่ตั้งแต่ขุดใช้กันมา 4-5 ปี แทบจะไม่บำรุงรักษา ทำความสะอาดกันเลย ยิ่งช่วงหน้าร้อนแล้งที่ต้องใช้น้ำจากบ่อบาดาลมากกว่าเวลาอื่น การสูบน้ำขึ้นมาใช้มาก โอกาสที่บ่ออาจรั่ว เพราะก่อนหน้าไม่ได้บำรุงรักษาเลยย่อมมีมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ
 
ด้าน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า จากการวัดปริมาณค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี สูงทำลายสถิติปี 2553 ไปแล้ว คือ ช่วงนั้นปริมาณความเค็มเท่ากับ 1.21 กรัมเกลือต่อลิตร ปีนี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ วัดค่าความเค็มได้ 1.92 กรัมเกลือต่อลิตร พร้อมทั้งมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน 70 ชั่วโมง ติดต่อกัน
 
สำหรับค่าความเค็มในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร นอกจากนี้ ยังพบว่าระหว่างวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ น้ำทะเลจะหนุนสูงกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลต่อระดับความเค็มของน้ำในแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือน้ำจะหนุนเข้ามาลึกมากกว่าเดิม วิธีการแก้ปัญหาคือ การดูจังหวะการปิด-เปิดประตูน้ำ และการส่งน้ำจืดเข้าไปผลักดันน้ำ
 
“เวลานี้น้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ปล่อยน้ำออกมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มรวมกันวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร จากน้ำที่มีอยู่ในเวลานี้รวมกันทั้ง 2 เขื่อน 4,700 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อไหลผ่านมาเรื่อยๆ มาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จะเหลือเพียงแค่ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น เป็นเพราะระหว่างทางมีการนำน้ำไปใช้จนเหลือแค่นี้ ทำให้เรี่ยวแรงในการเอาน้ำจืดไปผลักดันน้ำเค็มน้อยมาก ถามว่า ทำไมไม่ปล่อยออกมามากกว่านี้ ก็เป็นเพราะต้องกันน้ำเอาไว้สำหรับใช้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะช่วงนั้นน้ำจะเค็มกว่านี้อีกหลายเท่า โดยในช่วงเวลานั้น จะต้องปล่อยน้ำให้ได้ถึงวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเดือนละ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะสามารถแก้ปัญหา หรือทำให้ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาให้น้อยที่สุดได้”
 
ถามว่าถึงตอนนั้นน้ำในเขื่อนจะมีพอที่จะเอามาดันน้ำเค็มไหม นายรอยลกล่าวว่า จะต้องวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำกันใหม่ซึ่งต้องทำร่วมกันหลายฝ่าย
 
Credit : ครอบครัวข่าว 3

Admin : Chanya
view
:
1803

Post
:
2014-02-21 11:05:18


ร่วมแสดงความคิดเห็น