ถ้าใครเคยไปวัดบ้านไร่ หรือวัดหลวงพ่อคูณ จ.นครราชสีมา ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงต้องตื่นตาไปกับสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ของ “วิหารเทพวิทยาคม” อุทยานธรรมกลางน้ำที่เรียกว่าอลังกาล...งานสร้างอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการรวมใจของศิลปินและชาวบ้านมากกว่า 500 ชีวิต ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานพุทธศิลป์ล้ำค่า เพื่อบอกเล่าเรื่องราวธรรมะในแบบที่เข้าใจง่าย สู่พุทธศาสนิกชนผ่านงานสถาปัตยกรรมเชิงประติมากรรม/จิตรกรรม และเซรามิก ที่รวบรวมศิลปะไว้ถึง 4 แขนง ได้แก่ จิตรกรรม,ประติมากรรม,เซรามิก และวิศวกรรม รวมเรียกว่า “สามัคคีศิลป์”
“กรรมกรทางศิลปะและจิตวิญญาณ” คำพูดที่ดูถ่อมตัวของ เพี้ยง-สัมพันธ์ สารารักษ์ ผู้ออกแบบและที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมศิลปะของวิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ที่มาบอกเล่าเรื่องราวก่อนเข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ด้านการถ่ายทอดเรื่องราวของพระไตรปิฎกผ่านงานศิลปะร่วมสมัย
“ชีวิตนี้ไม่เคยทำงานด้านการออกแบบอะไรเลย ขนาดตัวเองยังไม่ออกแบบเลย เพราะเราเป็นจิตรกรทำงานวาดรูปเป็นหลัก ไม่มีความสามารถด้านสถาปัตย์ แต่เมื่อคุณเกรียงไกร จารุทวี ท่านรองประธานกรรมการวัดบ้านไร่ ที่เราคุ้นเคยและรู้จักเป็นอย่างดีมากว่า 20 ปี เป็นดั่งพ่อที่ค่อยชี้แนะเมตตาให้ในทุกด้าน ท่านบอกว่าอยากจะสร้างสถาปัตยกรรมอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ. นครราชสีมา หรือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยมีโจทย์หลักที่อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะที่เข้าใจง่ายๆ ซึ่งก็คิดว่าเราน่าจะออกแบบได้ แต่จะสร้างได้หรือเปล่าตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำ เพราะเราเองไม่มีความรู้ด้านสถาปัตย์ ก็เริ่มลงมือเขียนแนวคิดแบบร่างกันเป็นร้อย ๆ รูปเลยทีเดียว กว่าจะสรุปและให้เขาปั้นโมเดลขึ้นมาได้ แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือเรื่องราวของธรรมมะนี่สิ เพราะเป็นเรื่องที่ห่างตัวเรา หรือเรียกง่ายๆว่าศิลปินเองก็ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ แต่ยังโชคดีที่มีโอกาสถือว่าบุญยังมีเลยได้ทำ”
ศิลปินทุกคนต้องอ่านพระไตรปิฎก
“ใช่...พวกเราทุกคนต้องอ่านพระไตรปิฎกก่อน เพื่อให้เข้าใจความหมายและสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ที่จะถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้อง ช่วงแรกก็อาจจะยากหน่อย เพราะต้องอ่านพระไตปิฎกเป็นเล่มๆ หนาเตอะ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากไม่เข้าใจ มันก็สร้างสรรค์งานออกมาเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ ดีอย่างที่สมัยเรียนเป็นคนชอบสะสมหนังสือพระ หนังสือธรรมมะต่างๆ เวลาคุยกับเพื่อน ก็ต้องอ่านบ้างจะได้คุยกันได้ ปกติผมไม่ชอบอ่านหนังสือแต่ผมชอบซื้อหนังสือ ซื้อมาเก็บไว้ อ่านนิดๆหน่อยๆ ซึ่งพอได้รับมอบหมายงานนี้ ผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้ทำงานที่ชอบและได้ฝึกฝนทำความเข้าใจในหลักธรรมะมากขึ้น ”
สิ่งสำคัญของงานนี้ คือ การจัดวางดีไซน์ศิลปกรรมเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก เรียกว่าทั้งออกแบบดีไซน์และลงมือวาดด้วย ส่วนงานนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีการร่วมมือร่วมใจของพลพรรคศิลปินเพื่อนพ้องน้องพี่ ลูกศิษย์ลูกหาที่มาช่วยกันจนก่อเกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สวยงาม ทั้งงานภาพเขียน เซรามิก จิตรกรรม วิศวกรรม และปฏิมากรรม ถือเป็นความภูมิใจมากที่ “วิหารเทพวิทยาคม” จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ทุกคน ประชาชนทุกคน เด็กๆไปจนคนเฒ่าคนแก่ ก็สามารถเข้าถึงหลักธรรมในพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น
ด้าน “ขุนสว่าง อนุศิลป์” ผู้ควบคุมดูแลงานประติมากรรมทั้งหมดของวิหารเทพฯ บอกเล่าถึงความประทับใจผ่านสายตาที่มุ่งมั่นว่า “มันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย เริ่มแรกเกิดจากความเชื่อใจเพื่อนคือคุณเพี้ยงที่นำภาพสเก็ตมาให้ผมขยายเป็นโมเดล เป็นรูปสามมิติก่อนนำมาสร้างจริง ซึ่งแต่ละงานมันก็มีอุปสรรค์บ้าง แต่มาทำปูนปั้นที่วิหารเทพฯ นี้ อุปสรรคกลับน้อยมาก เราใช้เทคนิคงานปั้นสด คือใช้ปูนซีเมนต์ปั้นสด สิ่งที่น่ากลัวคือฝน หากตกลงมาจะโทษใครก็ไม่ได้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือตอนผมกำลังปั้นเห็นฝนมาดำมืดไปหมด คิดว่าต้องตกแน่แต่สุดท้ายไม่ตกไปตกรอบ ๆ วิหารเทพฯ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเกิดขึ้นหลายครั้งมาก ซึ่งถือเป็นบุญญาธิการของหลวงพ่อคูณ เพราะถ้าฝนตกก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมภูมิใจมากที่ได้สร้างศิลปะร่วมสมัยแห่งรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ในความหมายคือ รวมทุกอย่างที่เป็นศิลปะที่สัมผัสได้...ก้าวแรกการเดินทางมันค่อนข้างน่ากลัว ยากและลึก ซึ้งตรงนี้มีความหมายในหลักธรรมที่มาช่วยพยุง เพราะคนทำงานศิลปะมันสามารถทะเลาะกันได้ง่าย ๆ แต่เพราะมีหลักธรรมศิลปินทุกคนที่นี้จึงอ่อนน้อมและผ่อนปรน อภินิหารเกิดขึ้นได้จากความศรัทธา”
ความอลังกาลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาด “ธีระพงศ์ ทับทิม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกหนึ่งใน 5 ของผู้ดูแลควบคุมการจัดวางเซรามิก “เสน่ห์ของเซรามิกไม่มันไม่เหมือนใคร ความสวยงามเกิดจากการเรียงร้อยของวัสดุเคลือบเงาชิ้นเล็กก่อเกิดเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการที่วางไว้มันดูพิเศษและนุ่มนวลยามต้องแสงอาทิตย์ ซึ่งที่วิหารเทพฯนี้ ต้องบอกก่อนเลยว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนจริงๆ โดยเฉพาะชาวบ้านละแวกนี้ ที่มาเรียนรู้การติดเซรามิก ซึ่งทุกคนตั้งใจมาก เพื่อทำถวายหลวงพ่อคูณ มันมันใช่เล็กๆ แต่ใช้เซรามิกรวมๆมากขนาด 180 ตันเลยทีเดียว หรือราวๆ 20 ล้านชิ้นได้ ซึ่งตอนแรกไม่เชื่อว่าจะออกมาแบบนี้ มันเกินความคาดหมาย สวยงามอลังกาล และจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะของทุกคนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ที่นี้สอนธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยมาที่นี้ได้กลับไปข้อหนึ่งก็ยังดี”
ปิดท้ายกับผู้ดูแลและควบคุมงานโครงสร้างทั้งหมด ช่างนัท-สมยศ แพผึ้ง “วิหารเทพวิทยาคมสร้างขึ้นมาโดยไม่มีแบบสถาปัตย์มีแต่แบบโครงสร้าง โดยจะขึ้นรูปมาจากโรงงานที่กรุงเทพบางส่วน แล้วนำมาปรับให้ได้ขนาดและรูปแบบที่หน้างานอีกครั้งหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้มันลงตัวและสมบูรณ์ อย่างชั้นที่ 1 จะไม่มีแอร์จะใช้วิธีธรรมชาติให้ลมไหลเวียนเพื่อสร้างความเย็น แล้วหลังคาก็เป็นรูปกลีบมะเฟือง ที่รับลมได้เยอะถ่ายเทเร็ว ตอนนี้โครงสร้างทั้งหมดของวิหารเทพวิทยาคมเสร็จ 100% แล้ว ตอนนี้จะเป็นการพัฒนาพื้นที่รอบนอก คือในส่วนของสถานที่นั่งพัก, หมู่บ้านศิลปิน ฯลฯ ซึ่งผมว่าใครที่ได้มาที่นี้ชอบธรรมมะ ชอบถ่ายภาพ ความสวยงามของแต่ละมุมเพื่อเก็บเกี่ยวและบันทึกความทรงจำ รับรองว่าใช้เวลาวันเดียวไม่พอแน่นอนครับ”
สายธารแห่ง “สามัคคีศิลป์” เก็บเกี่ยวบุญเป็นพุทธบูชา
“ผมและเหล่าคณะทำงานรู้สึกดีใจมาก ที่คนศิลป์ต่างรวมตัวมาช่วยกันเยอะขนาดนี้ ผมมีหน้าที่ควบคุมดูแลในเรื่องของเนื้อหารูปแบบศิลปกรรมเทคนิค ทิศทางเรื่องราวต่างๆ ที่มาจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ต้องมีเนื้อหาควบคุมหมด จุดเด่นก็คือ การทำให้ศิลปะที่นี่เกิดขึ้นแบบไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอาชีพหรือน้องใหม่ นักศึกษา หรือน้องๆระดับเด็กนักเรียน เพียงแต่ตั้งใจและอยากมาสร้างงานร่วมกัน แม้กระทั่งชาวบ้านไร่ในชุมชน ที่พวกเราสอนเค้าติดเซรามิกต่างๆ นับสิบล้านชิ้นลงบนวิหาร ด้วยจิตศรัทธาเป็นพุทธศิลป์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการเก็บเกี่ยวบุญด้วยศิลปะเป็นธรรมบูชา ที่จะมีโอกาสซึมซับหลักธรรมทางศาสนาเข้าจิตใจไปด้วยในตัว ภายใต้ความสมัครสมานร่วมใจกัน หรือเรียกได้ว่าสามัคคีศิลป์” คุณเพี้ยง กล่าวปิดท้าย
วิหารเทพวิทยาคม จ.นครราชสีมา สถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมมะที่เข้าใจง่าย ผ่านงานศิลป์ร่วมสมัย..ที่ต้องเห็นด้วยตา เข้าถึงด้วยใจ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP