เปิดคลิป บิ๊กทหาร-นักวิชาการรุ่นเก๋า ตั้งกลุ่มรัฐบุคคล หาทางออกประเทศ
2014-02-05 12:08:08
เปิดคลิป บิ๊กทหาร-นักวิชาการรุ่นเก๋า ประชุมตั้งกลุ่มรัฐบุคคล เพื่อหาทางออกประเทศ โดยในคลิปมีการพูดการทำหน้าที่ของทหารเกี่ยวกับการปฏิรูปและปฏิวัติประเทศ
เป็นคลิปที่ถูกส่งต่ออย่างมากมายและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเลยทีเดียว สำหรับคลิปที่ใช้ชื่อว่า "การประชุมและประกาศจัดตั้งกลุ่มรัฐบุคคล 28 ม.ค. 57" ซึ่งคลิปดังกล่าว ถูกโพสต์ขึ้นโดย "fmtv asoke" ของช่อง FMTV และได้ออกอากาศทางช่อง 13 สยามไท ทั้งนี้ คลิปได้บันทึกบทสนทนาระหว่างการประชุมหาทางออกประเทศ และได้จัดตั้งกลุ่ม "รัฐบุคคล" โดยมีอดีตนายทหารระดับบิ๊กและนักวิชาการหลายคนเข้าร่วมประชุม ที่สโมสรโปโลคลับ ลุมพินี
ทั้งนี้ เนื้อหาภายในคลิปการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าประชุมได้สลับสับเปลี่ยนกับแสดงความคิดเห็นและมีการถกเถียงกันเพื่อหาทางออกประเทศ โดยในบางช่วงบางตอนได้กล่าวถึงผู้นำเหล่าทัพที่ไม่แข็งแกร่งพออย่างที่ปรารถนา และที่ผ่านมาก็มีพวกทหารแตงโม มีการแบ่งรุ่นต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ เมื่อถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าทุกคนรักชาติและอยากให้เรื่องดังกล่าวจบเร็วที่สุด แต่จะทำอย่างไรนั้น เพราะว่าถ้าจบตอนนี้ก็จะเกิดความสุ่มเสี่ยง คงต้องรอเวลาที่จะให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ส่วนบางคนก็กล่าวไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องให้ประชาชนเป็นคนเรียกร้อง หรือต้องให้มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลล้มเหลวไม่สามารถบริหารงานได้ อย่างไรก็ตาม คลิปการประชุมดังกล่าว ยาวนานประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้มีบทสรุปของการประชุมในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน เว็บ siamintelligence ได้เปิดเผยรายชื่อของกลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมและตั้งกลุ่มรัฐบุคคล ซึ่งมีดังต่อไปนี้
ฝ่ายทหาร
พล.อ.สายหยุด เกิดผล
อดีต ผบ.สส. เกิด พ.ศ. 2465 ปัจจุบันอายุ 92 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นผู้ร่วมจัดตั้ง "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รอม.)" ในสมัยสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เมื่อ พ.ศ. 2508, ภายหลังเติบโตในสายทหารจนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วยังมีบทบาทวิจารณ์การเมืองอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นทหารนักวิชาการที่มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอดีตนายทหารกลุ่มนี้เคยมีข่าวว่าเป็นแนวร่วมสนับสนุน "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" (กปท.) ที่มีบทบาทในการชุมนุมช่วงปลายปี 2556 โดยชื่อสมาชิกที่เคยมีข่าวคือ พล.อ.สายหยุด, พล.อ.วิมล, พล.อ.อ.กันต์ นอกจากนี้ยังมี พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน, พล.ต.ท. สมเกียรติ พ่วงทรัพย์, นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ, และนายสนธิ เดชานันท์ อดีตผู้ว่าราชการ จ.สงขลา อย่างไรก็ตาม พล.อ.สายหยุด ได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปท.
พล.อ.วิมล วงศ์วานิช
อดีต ผบ.ทบ. เกิด พ.ศ. 2477 ปัจจุบันอายุ 80 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (ครั้งที่ 1 ในปี 2534) สมัยยังรับราชการถือเป็นรุ่นพี่ของ "ชุดปฏิบัติการพิเศษ" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี
พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์
อดีต ผบ.ทอ. เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 มีบทบาททางการเมืองโดยเป็นแกนนำของ นกปภ. (กลุ่มนายทหารนอกประจำการที่ภักดีต่อสถาบันฯ และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปลายปี 2556 โดย พล.อ.กันต์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม และมีรองหัวหน้ากลุ่มคือ พล.อ.วิมล, พล.ร.อ. วิเชษฐ, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ โดยกลุ่ม นกปภ. มีความเชื่อมโยงกับ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ "เสธ.อ้าย" อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม
พล.ร.อ. วิเชษฐ การุณยวนิช
อดีต ผบ.ทร. เป็นผู้บัญชาการทหารเรือระหว่าง พ.ศ. 2534-2536 และเคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาระหว่าง พ.ศ. 2535-2539 นอกจากนี้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคไทยรักไทยในระบบปาร์ตี้ลิสต์ อันดับที่ 87 (อ้างอิง) ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม นกปภ. ที่นำโดย พล.อ.กันต์
พล.ร.อ. สุรวุฒิ มหารมณ์
อดีต เสธ.ทร. เคยเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ และเกษียณราชการด้วยตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ
พล.อ.อ. เทอดศักดิ์ สัจจะรักษ์
อดีต เสธ ทอ. เป็นหนึ่งในบุคคลที่เคยมีชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปท. ถือเป็นหนึ่งในบุคคลแนวร่วม พธม. ที่บึกยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิใน พ.ศ. 2551 และยังถือเป็นจำเลยในคดีปิดล้อมสนามบินทั้งหมด 114 คนด้วย (อ้างอิง)
ฝ่ายพลเรือน
ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ปัจจุบันอายุ 84 ปี เป็นนักกฎหมายชั้นครู จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาเอกด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปารีส เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาคเอกชน สภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง
ศ.ดร.อมร ถือเป็นนักกฎหมายมหาชนผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญมากคนหนึ่งของประเทศไทย
ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ
นักวิชาการรัฐศาสตร์ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และเคยร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง คือ พรรคพลังใหม่ ภายหลังถือเป็นนักวิชาการคนหนึ่งในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ช่วงวิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2548-2549 เขาเป็นผู้เปิดเกมปฏิญญาฟินแลนด์ ซึ่งภายหลังได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของประเทศไทย อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เคยมีบทบาททางการเมืองโดยเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2531 นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อในเครือผู้จัดการมาโดยตลอด
หลังจากเหตุการณ์วิกฤตการเมืองปี พ.ศ. 2553 ศ.ชัยอนันต์ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (ชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน) ที่แต่งตั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คุณสุรพงษ์ ชัยนาม
อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" มีศักดิ์เป็นหลานลุงของ นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลายสมัย
สุรพงษ์ ชัยนาม เคยเป็นเอกอัครราชทูตของประเทศไทยประจำประเทศโปรตุเกส เวียดนาม และประเทศอื่นๆ รวม 5 ประเทศ ยังเคยเป็นอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
มีบทบาทด้านการเมืองโดยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องจากคดีปิดสนามบินเมื่อ พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนด้านนโยบายต่างประเทศของไทยอยู่บ่อยครั้ง
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด
Admin : Chanya
Admin : Chanya
view
:
1591
Post
:
2014-02-05 12:08:08
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น