ราชประเพณีว่าด้วยการ ”ถวายตัว”
2014-02-04 14:13:22
ราชประเพณีว่าด้วยการ ”ถวายตัว”
จากภาพคือ ลักษณะของธุปเทียนแพและภาพของเจ้านายฝ่ายในที่ประทับอยู่ในพระบรมหาราชวังกับเหล่าข้าหลวงที่ถวายตัวเข้ามาเป็นข้าทูลละอองพระบาทและภาพของแม่พลอยในขณะถวายตัวเป็นข้าพระบาทในเสด็จพระองค์หญิง
การถวายตัวก็คือ การเข้าไปเป็นข้าทูลละอองพระบาทในพระเจ้าอยู่หัวหรือเจ้านายฝ่ายใน(พระราชวงศ์ผู้หญิง) โดยธรรมเนียมการเข้าถวายตัวนั้นมีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาถวายตัวนั้นจะเป็นเด็กผู้หญิงลูกหลานขุนนางบรรดาศักดิ์ เพราะเมื่อบุตรหลานได้เข้าไปอยู่ในความดูแลของเจ้านายสตรีแล้วก็จะได้รับการศึกษาอย่างชนชั้นสูง เนื่องจากเจ้านายแต่ละพระองค์เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาแล้วในทุกๆด้าน รวมถึงด้านภาษาต่างประเทศอีกด้วย จึงเรียกได้ว่า วังหลวงนั้นเปรียบเสมือนศูนย์รวมความเจริญความทันสมัยเพราะมีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศที่คนภายนอกยากที่จะเข้าถึง
ในการถวายตัวแต่ละครั้งนั้นจะต้องเตรียมธูปเทียนแพ ให้ผู้ถวายเชิญเข้าไปถวายแก่เจ้านาย หลังจากนั้นเจ้านายก็จะถามผู้ปกครองว่า จะถวายเฉยหรือถวายขาด ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ การถวายเฉยจะคล้ายกับการเข้าไปอยู่โรงเรียนประจำ เมื่อเรียนจบก็สามารถกลับไปอยู่บ้านประกอบอาชีพมีครอบครัวตามที่อยากจะเป็นหรือจะเป็นข้าทูลละอองพระบาทต่อไปก็ได้
แต่หากเป็นการถวายขาดก็หมายความว่าผู้ที่ถูกถวายนั้นเมื่อได้รับการศึกษาเลี้ยงดูอย่างสตรีชั้นสูงแล้วก็จะเป็นข้าทูลละอองพระบาทอยู่ในวังหลวงต่อไป ผู้ปกครองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆนอกจากความเป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผู้ถูกถวายจะเป็นคนของเจ้านายพระองค์นั้นและเมื่อเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไป ก็ยังต้องตกเป็นเป็นมรดกของหลวงต่อไป หรือได้รับอนุญาตให้กราบบังคมทูลลาออกจากการเป็นข้าหลวง
เช่น จากสี่แผ่นดิน แม่พลอยได้ถวายตัวเข้าไปเป็นข้าพระบาทในเสด็จพระองค์หญิงเพื่อศึกษาอย่าสตรีชั้นสูง โดยการถวายตัวในครั้งนั้นเป็นการถวายขาด เมื่อแม่พลอยโตเป็นสาวแล้วเป็นที่หมายปองของคุณเปรมมหาดเล็กในรัชการที่5 คุณเปรมจึงเข้าไปกราบขอแม่พลอยมาเป็นภรรยาจากท่านเจ้าพระยาผู้เป็นพ่อของแม่พลอย แต่เจ้าพระยาไม่สามารถที่จะยกแม่พลอยให้ได้เนื่องจากถวายขาดให้แก่เสด็จพระองค์หญิงไปแล้ว..
ตอนต่อไปคือ ถวายตัว”มรดกหลวงจนวันตาย”
จากภาพด้านบนคือ สมเด็จพระพันปีหลวงกับรัชกาลที่6
จากภาพด้านล่าง งานมงคลสมรสพระราชทานนายแจ่มและคุณอุทุมพร
ขอขอบคุณ สายลมที่ผ่านมาoknation.net
ธรรมเนียมในราชสำนักแต่โบราณมานั้น ถือว่าบุคคลใดไม่ว่าชายหรือหญิงเมื่อได้ถวายตัวแล้วถือว่าบุคคลนั้นตกเป็นคนของหลวงหรือตกเป็นคนของเจ้านายพระองค์นั้น การที่จะโปรดให้ทำอย่างไรหรือย้ายไปอยู่ที่ใดจึงสุดแต่พระราชอัทธยาศัย เรื่องคนของหลวงนี้เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นดังตัวอย่างที่จะยกขึ้นมาให้เห็นภาพชัดเจนได้คือ เรื่องของนายแจ่ม สุนทรเวช กับคุณอุทุมพร วีระไวทยะ
เมื่อพระยาดำรงแพทยาคุณผู้เป็นบิดาได้ถวายคุณอุทุมพรเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระพันปีหลวงแล้ว คุณอุทุมพรก็ย้ายเข้าไปอยู่ในราชสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวง และโปรดให้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนราชินี เมื่อสำเร็จการศึกษาก็กลับไปอยู่ที่วังพญาไท ต่อมาสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตคุณอุทุมพรจึงได้กราบบังคมลากลับมาอยู่ที่บ้านกับคุณหญิงสงวนผู้เป็นมารดา เพราะพระยาดำรงแพทยาคุณเพิ่งถึงอนิจกรรมไป ทำให้คุณอุทุมพรได้รู้เริ่มรู้จักกับนายแจ่มและเกิดชอบพอกัน
แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ต้องจากกันเพราะคุณอุทุมพรต้องเดินทางไปนครปฐมกับมารดา การเดินทางไปนครปฐมคราวนี้ทำให้ท่านเจ้าคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้พบกับคุณอุทุมพรและได้จัดคนมาสู่ขอคุณอุทุมพรไปเป็นคุณหญิงของท่าน คุณอุทุมพรไม่ยอมเพราะตนรักชอบกับนายแจ่มอยู่แล้วจึงได้แจ้งให้นายแจ่ม ทราบข่าว เมื่อนายแจ่มทราบข่าวก็ไม่รู้จะหาทางออกได้อย่างไร สุดท้ายตัดสินใจหาโอกาสนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่6
เมื่อรัชกาลที่6 ทรงทราบความแล้วจึงมีรับสั่งให้คุณพนักงานไปเจรจากับคุณหญิงสงวน แต่คุณหญิงสงวนท่านว่า ได้ตกลงไปกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมแล้วว่าจะยกลูกสาวให้ เกรงจะเสียผู้ใหญ่ รัชกาลที่6จึงได้มีพระบรมราชโองการให้คุณหญิงสงวนไปเฝ้าฯ ซึ่งคุณอุทุมพรได้เล่าไว้ว่า"เมื่อกลับจากเข้าเฝ้าในวันนั้นคุณแม่เล่าทั้งน้ำตาว่า ในหลวงทรงอ้างสิทธิครอบครองในตัวดิฉัน โดยคุณแม่ได้ถวายขาดให้สมเด็จพระพันปีหลวงทรงชุบเลี้ยงมา เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงสวรรคตแล้วดิฉันก็ต้องเป็นมรดกตกทอดกลายเป็นคนของหลวงต่อไปหรือเรียกอีกอย่างว่า”ห้าม”
เหตุการณ์นี้ทำให้คุณแม่หมดสิทธิ์ที่จะเอาดิฉันไปยกให้ใคร ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า พวก“ห้าม”ถ้าใครอยากจะได้ก็ต้องทำหนังสือขอพระราชทานนำความทูลเกล้าฯเข้ามา ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ปฏิบัติมาแต่โบราณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานยกให้เสมอไป การที่จะพระราชทานหรือไม่นั้นย่อมสุดแต่พระราชวินิจฉัย แต่แล้วพระเจ้าอยู่หัวก็เห็นกับความรักของทั้งสองจึงโปรดให้นายแจ่มทำหนังสือขอเข้ารับพระราชทานคุณอุทุมพรมไปเป็นภรรยา และแล้วความรักของทั้งคู่ก็ได้สมหวังดังปรารถนา
Credit : Facebook คลังประวัติศาสตร์
Admin : Chanya
view
:
9471
Post
:
2014-02-04 14:13:22
ร่วมแสดงความคิดเห็น