ผอ.ศรส. ชี้คนกรุงเทพฯ ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง วอนผู้ชุมนุมอย่าขัดขวาง
2014-01-31 14:15:48
 
ศรส. ย้ำเชิญชวนประชาชนไปออกเสียงเลือกตั้ง จัดหน่วยพิเศษหมายเลข 1599 , 1197 ให้ข้อมูลจราจร-ความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอด 24 ช.ม. เตือนอย่าขัดขวางการเลือกตั้งตามคำชักชวนของ กปปส. เพราะมีความผิดฉกรรจ์ โทษจำคุก 1-5 ปี หากประชาชนพบเห็นการขัดขวางหรือถูกขัดขวางการเลือกตั้งขอให้แจ้งตำรวจ
 
วันนี้ (31 ม.ค.57) เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. แถลงผลการประชุม ศรส. ประจำวันซึ่งมีมติที่สำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้
 
เรื่องที่ 1 ผลการขอเข้าเจรจากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. 
ตามที่ ศรส. ได้มีมติจัดชุดเจรจากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เพื่อขอไม่ให้ทำการขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น พล.ต.ท. จักรทิพย์ ชัยจินดา หัวหน้าคณะเจรจาได้แจ้งว่า ได้พยายามติดต่อผ่านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ แล้ว ได้รับคำตอบว่า นายสุเทพฯ ไม่ขอเจรจาด้วย พล.ต.ท. จักรทิพย์ฯ จะได้พยายามนัดหมายต่อไปเท่าที่เวลายังมีอยู่
 
เรื่องที่ 2 ศรส. ขอเชิญชวนประชาชนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง 
ศรส. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง โดยนอกจากจะเป็นการใช้สิทธิแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ด้วย การไม่ไปใช้สิทธิจะทำให้ต้องเสียสิทธิบางประการตามกฎหมาย ศรส. จะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งจะมีชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าแก้ไขสถานการณ์ตามความจำเป็นอีกด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทาง ศรส. ได้จัดตั้งหน่วยพิเศษเพื่อให้ข้อมูลการจราจรและความปลอดภัยต่าง ๆ แก่ประชาชนที่หมายเลข 1599 และ 1197 ตลอดเวลา
 
นอกจากนี้ ทาง ศรส. ได้ประสานการปฏิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพภาค ที่จะดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั่วประเทศด้วยแล้ว การที่ กปปส. ประกาศจะระดมคนออกมาชุมนุมในท้องถนนและปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งและสำนักงานเขตทั่วทั้ง กทม. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นั้น ศรส. ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่าได้ออกมาชุมนุม เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ประการสำคัญจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชนด้วยกัน กรณีการขัดขวางการเลือกตั้งจึงไม่ใช่เรื่องการเมืองกับการเมือง แต่เป็นการขัดขวางสิทธิของประชาชนด้วยกัน
 
อนึ่ง ศรส. ขอแจ้งเตือนประชาชนว่า การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความผิดที่มีโทษฉกรรจ์ โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 5 ปี ตามมาตรา 152 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ดังตัวอย่างเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสมุทรสาครได้อนุมัติหมายจับดำเนินคดีกับผู้ไปขัดขวางการเลือกตั้งแล้วด้วย ซึ่งจะมีการดำเนินคดีกับทุก ๆ รายที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งภายในกำหนดอายุความ จึงขอร้องประชาชนอย่าได้ไปขัดขวางการเลือกตั้งตามคำชักชวนของ กปปส. เป็นอันขาด เพราะท่านจะมีความผิดติดตัวอย่างแน่นอน โดย ศรส.จะจัดเจ้าหน้าที่บันทึกภาพผู้กระทำผิดไว้ทั้งหมด รวมทั้ง ศรส. ขอให้พี่น้องประชาชนที่พบเห็นการขัดขวางการเลือกตั้งหรือถูกขัดขวางการเลือกตั้งถ่ายภาพไว้แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลา หรือที่ หมายเลข 1599
 
เรื่องที่ 3 ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ พร้อมเปิดให้บริการประชาชน
ขณะนี้ ศรส. กับส่วนราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดการให้บริการมาระยะหนึ่งจนเกิดความเดือดร้อนกับประชาชนอย่างมากนั้น นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป จะได้ทยอยเปิดส่วนราชการให้กลับมาให้บริการประชาชนตามปกติได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นบางสถานที่ที่อยู่ใจกลางการชุมนุมก็อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการได้จัดเจ้าหน้าที่เป็นชุดรักษาความเรียบร้อยของสถานที่ในลักษณะชุดผสม ทั้งข้าราชการ ตำรวจ และทหาร ดูแลความเรียบร้อย และยังมีชุดเจ้าหน้าที่เคลื่อนที่เร็ว สนับสนุนในแต่ละสถานที่ทำการด้วย
 
เรื่องที่ 4 การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนจากการชุมนุมของ กปปส. 
ศรส. ได้รับรายงานว่ามีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายจากการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ได้เข้าไปแจ้งลงบันทึกประจำวันตามสถานีตำรวจต่าง ๆ จำนวนมาก เพื่อจะได้นำบันทึกประจำวันไปใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคาร บริษัท ห้างร้าน และคู่สัญญาต่าง ๆ ซึ่ง ศรส. ขอขอบคุณธนาคาร บริษัท ห้างร้านและกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่ง ที่ยินดีให้การช่วยเหลือ ผ่อนผันด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส. และ ศรส. ขอแจ้งประชาชนท่านใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีตำรวจพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
 
เรื่องที่ 5 การขอศาลออกหมายจับแกนนำ กปปส.
เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศรส.จึงมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการขอหมายจับแกนนำ กปปส. ที่กระทำผิดกฎหมายต่อไป โดยได้ยื่นขออนุญาตศาลอาญาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวานนี้คือวันที่ 30 มกราคม 2557 รวม 19 ราย โดยครั้งนี้ได้เสนอพยานหลักฐานต่อศาลอย่างครบถ้วนว่าหลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แกนนำ กปปส. ก็ยังคงกระทำผิดโดยการร่วมกันไปปิดล้อม กีดกัน ขับไล่ ไม่ให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง และศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องในวันนี้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นมา ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
 
นอกจากนี้ ศรส. ได้สั่งการให้สถานีตำรวจทุกแห่งทุกท้องที่ เร่งรัดดำเนินคดีกับบุคคลใด ๆ ที่ไปทำการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา และที่อาจจะเกิดการกระทำผิดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ด้วย
 
พร้อมกันนี้ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการเตรียมแผนรองรับหากศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า คำสั่งคุ้มครองของศาลแพ่งยังมีหลายประเด็น ถ้าคุ้มครองเฉพาะเรื่องการใช้กำลัง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น ศรส. ไม่มีปัญหา เพราะว่า ศรส. ไม่ใช้กำลังอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคำสั่งคุ้มครองการบังคับใช้ทั้งหมดเลย ที่ประชุม ศรส. ได้หารือกันแล้วว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศโดยการประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจะคงไว้หรือจะยกเลิก หรือจะยื่นอุทธรณ์ หรือขอให้ศาลทบทวนการพิจารณา ก็ต้องทำโดยคณะรัฐมนตรี ศรส. พร้อมที่จะปฏิบัติ
 
อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมการไว้ว่า หากในที่สุดทั้งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย และคณะรัฐมนตรีก็เห็นควรยุติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะกลับไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่จะไม่ใช้เหมือนอย่างที่ผ่านมา โดยจะจัดโครงสร้างและจัดการดำเนินการเหมือน ศรส. ยกเว้นจะไม่ใช้กำลังและไม่ใช้การออกหมายจับหมาย ฉ แต่จะใช้หมายจับ ป.วิอาญา ตามปกติ ส่วนวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นทำได้เหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายความมั่นคง หรือกฎหมายฉุกเฉิน
 
อธิบดีดีเอสไอกล่าวถึงการบูรณาการหรือการสนธิกำลังว่า จะปฏิบัติเหมือนอย่างที่กำลังปฏิบัติอยู่ขณะนี้ โดยจะมีศูนย์อยู่ที่นี่ มีวิธีการปฏิบัติ หน่วยราชการทุกหน่วยมาร่วมกันทำงาน มาสนธิกำลังเหมือนกันทั้งหมด เป็นไปตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งจะต่างจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสองเรื่อง คือการใช้กำลังไม่ได้ กับขอหมายจับฉุกเฉินไม่ได้ ซึ่งไม่มีผลอย่างใดเพราะไม่ได้ใช้กำลังอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการขอหมายจับก็กลับไปใช้หมายจับ ป.วิอาญาตามปกติ
 
เครดิต เฟซบุ๊ค ศรส.
Admin GK1551
 

Admin :
view
:
736

Post
:
2014-01-31 14:15:48


ร่วมแสดงความคิดเห็น