เปิดขั้นตอนประกาศ'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน'
2014-01-22 09:45:28
เปิดขั้นตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จับตา'อำนาจพิเศษ'บนความหวาดระแวง : โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร
 
 
                    กลับมาอีกครั้งสำหรับกระแสข่าวการเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อดูแลสถานการณ์การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) 
 
                    จริงๆ แล้วฝ่ายความมั่นคงโดย สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) และตำรวจในหมวกของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้แสดงความต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่การชุมนุมทางการเมืองยกระดับจากการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มาเป็นการขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรแล้ว ทว่าถูกฝ่ายทหารคัดค้านมาตลอด
 
                    ล่าสุดเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ "ปิดกรุงเทพฯ" หรือ "ชัตดาวน์ แบงค็อก" และมีความรุนแรงระดับปาระเบิดกันกลางวันแสกๆ ทำให้มีความพยายามผลักดันอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ที่ประกาศใช้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะไม่เพียงพอ 
 
                    คำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" กฎหมายให้นิยามไว้ในมาตรา 4 ว่า หมายถึงสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย การรบหรือการสงคราม รวมไปถึงภัยพิบัติสาธารณะด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือ
 
 
                    ขั้นตอนการประกาศ กฎหมายเปิดกว้างให้นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวก็สามารถประกาศใช้และกำหนดพื้นที่การบังคับใช้ได้เลยตามมาตรา 5 แต่หลังจากนั้นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 3 วัน โดยการประกาศแต่ละครั้งมีผลไม่เกิน 3 เดือน หากต้องการขยายเวลา ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ 
 
                    อำนาจหน้าที่หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว นายกฯ จะสามารถระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วย รวมทั้งตำรวจ ทหาร เพื่อช่วยระงับยับยั้งและคลี่คลายสถานการณ์ฉุกเฉิน (มาตรา 5)
 
                    ตามกฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมายนั่งเป็นประธาน และมีรัฐมนตรี ตลอดจนปลัดกระทรวงด้านความมั่นคงทุกกระทรวง รวมทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพร่วมเป็นกรรมการ คอยประเมินสถานการณ์เพื่อรายงานนายกฯ ว่าสมควรต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อไร อย่างไร
 
                    ทั้งนี้ สถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดใน พ.ร.ก. แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 
 
                    - สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป มีข้อกำหนดเพื่อให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ ประกอบด้วย ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด, ห้ามชุมนุมมั่วสุม, ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด, ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ, ห้ามการใช้อาคาร และสั่งอพยพประชาชนได้ (มาตรา 9) 
 
                    - สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ถึงขั้นก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน กฎหมายยังให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นายกฯ ในการออกข้อกำหนดอีกหลายประการ เช่น จับกุมโดยไม่ต้องมีหมายจับ (ควบคุมตัวได้คราวละ 7 วัน ต่อเนื่องได้ไม่เกิน 30 วัน), ออกคำสั่งเรียกตัวบุคคล, ออกคำสั่งยึด อายัดอาวุธ สินค้า หรือวัตถุอื่นใด, ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง, ออกคำสั่งให้ตรวจสอบการสื่อสารทุกรูปแบบ (มาตรา 11) เป็นต้น 
 
                    ที่สำคัญคือการให้อำนาจออกคำสั่งให้ใช้ "กำลังทหาร" เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน  
 
                    ส่วนในแง่การรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดคุ้มครองพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย 
 
                    เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อเสนอการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เที่ยวนี้ ถูกคัดค้านจากฝ่ายทหารมาโดยตลอด ฉะนั้นหากมีการประกาศจริง ก็จะเป็นครั้งแรกที่ "ตำรวจ" ต้องเป็น "หน่วยนำ" หรือ "กำลังหลัก" ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแท้จริง เพราะในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา ก็มีทหารเป็นกำลังหลัก 
 
                    แม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงสั้นๆ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เพื่อให้ทหารออกควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วถูก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้นปฏิเสธแบบนิ่มๆ แต่ตำรวจก็ไม่ได้แสดงบทบาทชัดเจนนัก
 
                    ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกจริงๆ ของ "ทัพสีกากี" ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ก็ยืนยันว่าพร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล 
 
                    และจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท่ามกลางความขัดแย้งหวาดระแวงอย่างรุนแรงระหว่างหน่วยงานความมั่นคงด้วยกัน ซึ่งชนวนเหตุไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดกรณีหน่วยซีลของกองทัพเรือ แต่ความบาดหมางถูกสุมไฟมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การสะกดรอย ดักฟังโทรศัพท์ข้ามหน่วย จนมาถึงการใช้สงครามข่าวสารป้ายสีกัน 
 
                    ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือการบูรณาการทุกหน่วยงานอย่างสมัครสมานสามัคคีเพื่อร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ! 
 
 
(เปิดขั้นตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จับตา'อำนาจพิเศษ'บนความหวาดระแวง : โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร)
 
Credit : คม ชัด ลึก
Admin : Chanya

Admin : admin
view
:
920

Post
:
2014-01-22 09:45:28


ร่วมแสดงความคิดเห็น