'แอ๊ด คาราบาว'นั่งแท่น!ศิลปินแห่งชาติ
2014-01-16 18:03:35
นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 ว่า กวช.ได้พิจารณารายชื่อผู้สมควรได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2556 ผลปรากฏว่า มีผู้สมควรที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 9 คน ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายช่วง มูลพินิจ (จิตรกรรม) นายธีรพล นิยม (สถาปัตยกรรม) 2.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางรำไพพรรณ สุวรรณสาร ศรีโสภา หรือโสภาค สุวรรณ, นายวินทร์ เลี้ยววาริน และนายเจริญ มาลาโรจน์ 3.สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางนิตยา รากแก่น (หมอลำ) นายยืนยง โอภากุล (ดนตรีไทยสากล) นายบุญฉลองภักดี วิจิตร (ผู้กำกับ-ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) และนายเฉลิม ม่วงแพรศรี (ดนตรีไทย)
นายยืนยง กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่ไว้วางใจและคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งขอบคุณวงคาราบาวที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักของสังคม จนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ หลังจากนี้ พร้อมที่ให้การสนับสนุนการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมทุกเรื่อง ซึ่งหากจะให้เผยแพร่ความรู้ด้านใด ก็ขอให้แจ้งมาได้ อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ บ้านเมืองตลอดไป
สำหรับ ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรชายฝาแฝดคนสุดท้องของ นายมนัส โอภากุล (แซ่โอ๊ว) และ นางจงจินต์ แซ่อึ๊ง (ปัจจุบันบิดาและมารดาเสียชีวิตแล้ว)
ทั้งนี้ แอ๊ด คาราบาว เป็นผู้ที่มีจิตใจรักเสียงเพลงและดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ จากการที่เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด จึงได้ซึมซับการละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง เช่น ลำตัด, เพลงฉ่อย, เพลงอีแซว รวมถึงรำวง และเพลงลูกทุ่ง จากการที่พ่อ คือ นายมนัส เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อวงดนตรี "ชสพ." ในยุค 2480 ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวตะวันตกจึงหันมาเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกต่าง ๆ เช่น กีตาร์ ซึ่งเหล่านี้ได้เป็นอิทธิพลในการเป็นนักดนตรีในเวลาต่อมา
โดย แอ๊ด เริ่มเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป โดยขอติดมากับรถขนส่งไปรษณีย์ เข้าเรียนต่อในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย (โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 1 ปี (ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง)
ที่ฟิลิปปินส์ แอ๊ด คาราบาว ได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือ สานิตย์ ลิ่มศิลา หรือ ไข่ และกีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือเขียว ซึ่งเขาได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน, จอห์น เดนเวอร์, ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ ไข่ สานิตย์ ลิ่มศิลา สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมา ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "คาราบาว" เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์ค
เมื่อ แอ๊ด คาราบาว สำเร็จการศึกษาและกลับมาเมืองไทยได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง และมีงานส่วนตัวคือ รับออกแบบบ้านและโรงงาน ต่อมาเมื่อไข่และเขียวกลับมาจากฟิลิปปินส์ ทั้ง 3 ได้เล่นดนตรีร่วมกันอีกครั้ง โดยเล่นในห้องอาหารที่โรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20 และต่อมาย้ายไปเล่นที่โรงแรมแมนดาลิน สามย่าน โดยขึ้นเล่นในวันศุกร์และเสาร์ แต่ทางวงถูกไล่ออก เพราะขาดงานหลายวันโดยไม่บอกกล่าว
เมื่อวงถูกไล่ออก ไข่ จึงได้แยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ทางภาคใต้ แอ๊ดและเขียวยังคงเล่นดนตรีต่อไป โดยเล่นร่วมกับวง โฮป ต่อมาปี พ.ศ. 2523 แอ๊ด คาราบาว ได้ทำงานเป็นสถาปนิกประจำสำนักงานบริหารโครงการของการเคหะแห่งชาติ ส่วนเขียวทำงานเป็นวิศวกร ประเมินราคาเครื่องจักรโรงงานอยู่กับบริษัทของฟิลิปปินส์ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย และทั้งคู่จะเล่นดนตรีในตอนกลางคืน โดยเล่นประจำที่ดิกเก็นผับ ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท
จุดเปลี่ยนของชีวิต แอ๊ด คาราบาว อยู่ที่การรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดแรกให้กับวงแฮมเมอร์ ในปี พ.ศ. 2522 ในชุด "บินหลา" โดย แอ๊ด คาราบาว ยังเป็นผู้ออกแบบปกอัลบั้มด้วย ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ทำให้แฮมเมอร์เป็นที่รู้จักในวงการเพลง และปี พ.ศ. 2523 แอ๊ด คาราบาว ยังได้แต่งเพลง ถึกควายทุย ให้แฮมเมอร์บันทึกเสียงในอัลบั้ม "ปักษ์ใต้บ้านเรา" อัลบั้มชุดดังกล่าวทำให้แฮมเมอร์โด่งดังอย่างมาก และได้ร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ของพนม นพพรเรื่องหมามุ่ย ในปี พ.ศ. 2524
หลังจากนั้นตัวของ แอ๊ด คาราบาว ก็มีความคิดที่ว่า หากจะออกอัลบั้มเป็นของตัวเอง คงจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จึงร่วมกับเขียว ออกอัลบั้มชุดแรกของวง คาราบาว ในชื่อชุด "ขี้เมา" ในปี พ.ศ. 2524 สังกัดพีค๊อก สเตอริโอ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปีถัดมา คาราบาว ได้สมาชิกใหม่เพิ่มอีก 1 คนคือ เล็ก ( ปรีชา ชนะภัย ) มือกีตาร์จากวง "เพรสซิเดนท์" มาร่วมงานในชุดที่ 2 คือชุด "แป๊ะขายขวด" ชุดที่ 3 ชุด "วณิพก" เล็กเป็นเพื่อนเก่าของแอ๊ดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ช่างก่อสร้างอุเทนถวายด้วยกัน ในระหว่างนั้นวงคาราบาวในยุคแรกก็ได้ออกทัวร์เล่นคอนเสิร์ตตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไร บางครั้งมีคนดูไม่ถึง 10 คนก็มี
คาราบาว มาประสบความสำเร็จในอัลบั้มชุดที่ 5 ของวง คือ ชุด "เมด อิน ไทยแลนด์" ที่ออกในปลายปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 5 ล้านตลับ และนับตั้งแต่นั้น ชื่อของ ยืนยง โอภากุล ก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย และออกผลงานเพลงร่วมกับวงคาราบาวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้แสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย
โดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง เป็นผู้มีบุคคลิกเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าพูดกล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมอย่างแรงและตรงไปตรงมา โดยสะท้อนออกมาในผลงานเพลง ที่เจ้าตัวจะเป็นผู้เขียนและร้องเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีออกมามากมายทั้งอัลบั้มในนามของวงและอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง จนถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 900 เพลง รวมถึงการแสดงออกในทางอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ โดยผู้ที่ไม่ชอบคิดเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่ก้าวร้าว รวมถึงตั้งข้อสังเกตด้วยถึงเรื่องการกระทำของตัวยืนยงเอง
อีกทั้ง ยืนยง โอภากุล ไม่จำกัดตัวเองแต่ในบทบาทของศิลปินเพลงเท่านั้น แต่ยังเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และมีผลงานเขียนหนังสือและแสดงละคร ภาพยนตร์ต่าง ๆ ด้วย อาทิ เช่น เรื่องพรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. 2545) ละครเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ ทางช่อง 9 (พ.ศ. 2544) ลูกผู้ชายหัวใจเพชร ทางช่อง 7 (พ.ศ. 2546) เป็นต้น รวมถึงการทำงานภาคสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ และยังได้แต่งเพลงประกอบโฆษณาหรือโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละโอกาสด้วย
ในปลายปี พ.ศ. 2545 ยืนยง โอภากุล ได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นหุ้นส่วนสำคัญคนหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ "คาราบาวแดง" โดยใช้ชื่อวงดนตรีของตัวเองมาเป็นจุดขาย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างในสังคมว่า สมควรหรือไม่ กับผู้ที่เคยสู้เพื่ออุดมการณ์มาตลอด มาเป็นนายทุนเสียเอง ในปัจจุบันประชาชนหลายคนก็ยังเคลือบแคลงในจุดยืนของยืนยง
ปี พ.ศ. 2555 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของ แอ๊ด คาราบาว ที่ได้ประพันธ์เพลง ผู้ปิดทองหลังพระ และร้องถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2498 พ่อของเขา "คุณ มนัส โอภากุล" ก็เคยเล่นดนตรีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ คราวเสด็จเปิดอ่างเก็บน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี "ตามรอยพ่อ" ก็เป็นอีกเพลงที่แอ๊ดประพันธ์และร้องถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระฉลอง 80 พรรษาของพระองค์ท่าน
สำหรับชีวิตส่วนตัว ยืนยง โอภากุล มีชื่อเป็นภาษาจีนกลางว่า "หูฉุนฉาง" แปลว่า "คนแซ่หูผู้มีฐานะมั่นคงชีวิตยืนยง" ชอบเลี้ยงไก่ชนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีฟาร์มไก่ชนเป็นของตัวเอง รวมถึงยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย นอกจากคาราบาวแดงแล้ว ยังมีกิจการทางดนตรีอีก คือ มีห้องอัดเสียงที่บ้านของตัวเอง ชื่อ เซ็นเตอร์ สเตจ สตูดิโอ (มองโกล สตูดิโอ) ซึ่งเป็นสตูดิโอระดับชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของเมืองไทย และมีบริษัทเพลงชื่อ มองโกล เรคคอร์ด สมรสกับนางลินจง โอภากุล หญิงชาวบุรีรัมย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน คือ ณิชา โอภากุล (เซน) และ นัชชา โอภากุล (ซิน) และชาย 1 คน คือ วรมันต์ โอภากุล (โซโล)
อย่างไรก็ตาม ยืนยง โอภากุล มีพี่ชายฝาแฝดอีก 1 คน เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน คือ ยิ่งยง โอภากุล ชื่อเล่น "อี๊ด" และเคยออกอัลบั้มร่วมกัน 1 อัลบั้ม คือ อัลบั้ม พฤษภา ในปี พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ซูซู เคยแต่งเพลงเพื่อยกย่องยืนยง ชื่อเพลง ราชาสามช่า ในปี พ.ศ. 2534
ในกลางปี พ.ศ. 2556 ในภาพยนตร์เรื่อง "ยังบาว" อันเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของวงคาราบาว ผู้ที่รับบทเป็นยืนยง คือ ธนา เอี่ยมนิยม จากเดิมที่วางตัวไว้ คือ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม
Credit : คมชัดลึกออนไลน์
Admin : admin
view
:
5822
Post
:
2014-01-16 18:03:35
เรื่องราวใหม่ๆ
- เก็บตกเบื้องหลัง Dr.Strange ก่อนใส่ CGI เพิ่มความอลังการ!!!
- เผยโฉมหน้า 8 นักพากย์ตัวการ์ตูนดังรุ่นเดอะ!!!
- ชุดทศพักตร์นารีศรีสยาม คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม Miss Intercontinental 2016
- 15 สาวสุดเซ็กซี่แห่งจักรวาลหนัง “ซุปเปอร์ฮีโร่”
- ประมูลเก้าอี้นั่งเขียนหนังสือแสนธรรมดาของ ' เจ. เค. โรว์ลิง ' เจ้าของนิยายชุดพ่อมดน้อย ' แฮร์รี่ พอตเตอร์ ' ราคาหลักล้าน !!!
ร่วมแสดงความคิดเห็น