ปีแห่งความเย็นยะเยือก ประชาธิปัตย์ พรรคเบอร์
2014-01-09 09:23:38
ไม่ว่าการเมืองไทยจะเดินไปถึงจุดลงเอยอย่างไร จะ"เลือกตั้ง" หรือ"เทือกตั้ง"
 
 
กล่าวกันว่าปีใหม่ 2557 นี้ จะเป็นอีก 1 ปีแห่งความยากลำบากทั้งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
 
เป็นความยากลำบากสืบเนื่องมาจากปัจจัยมากมายหลายประการ โดยเฉพาะสิ่งที่ทำให้สังคมไทยและนานาประเทศในโลกประชาธิไตยกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือ การที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติ"คว่ำบาตร"หรือ "บอยคอต" การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นการคว่ำบาตรเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในรอบ 7 ปีภายใต้การกุมบังเหียนพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการ"อัตวินิบาตกรรม" ตัดโอกาสในการกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย หลังมีแกนนำและอดีต ส.ส. พรรคออกไปเดินประท้วงบนท้องถนนร่วมกับมวลมหาประชาชนกลุ่ม กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา
 
พรรคประชาธิปัตย์ยุคนายอภิสิทธิ์ เคยกระทำการเช่นนี้มาแล้วในเดือนเมษายน 2549 โดยจับมือกับพรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในที่สุดถึงพรรคไทยรักไทยจะชนะ แต่ศาลได้สั่งให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ กระทั่งต่อมาเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ในปีเดียวกัน ครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เหตุผลในการคว่ำบาตรว่า
 
เพราะการเมืองไทยอยู่ในภาวะล้มเหลว ระบอบประชาธิปไตย กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน ทำให้ประชาชนขาดศรัทธาในระบบพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้ง
 
การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จึงไม่เป็นคำตอบให้กับประเทศ ทั้งไม่อาจนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ไม่อาจทำให้ประชาชนกลับมามีศรัทธาในระบบพรรคการเมือง และสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามานำมาสู่ข้อสรุปได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับกลุ่ม กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
ต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
 
พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงตัดโอกาสตัวเองที่จะกลับสู่เส้นทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ยังพลาดโอกาสปฏิรูปพรรคของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ประชาธิปัตย์เรียกประชุมวิสามัญพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์หรือไม่
 
ท่ามกลางกระแสข่าวอาจมีการเสนอชื่อ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีภาพลักษณ์โดดเด่นระดับสากล เป็นถึงอดีตเลขาธิการอาเซียน แต่ถึงเวลาจริงปรากฏที่ประชุมมีมติเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย แบบไร้คู่แข่ง
 
ในส่วนรองหัวหน้าพรรค 10 ตำแหน่งก็เป็นบุคคลในสายของนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมถึง นายจุติ ไกรฤกษ์ ที่นายอภิสิทธิ์เลือกให้มานั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคคนใหม่แทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งหลุดจากวงโคจรไปพร้อม นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคสายปฏิรูป
 
หลังจากนั้นไม่กี่วันพรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติคว่ำบาตรเลือกตั้งตามมาซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดความคาดหมาย เพราะนายอภิสิทธิ์เคยใช้วิธีนี้มาแล้วในการเลือกตั้งเมษายน 2549 ก่อนเกิดรัฐประหารในเดือนกันยายน เพียงแต่ครั้งนี้มีลักษณะแตกต่างไปตรงที่เหตุการณ์เดือนเมษายน 2549 เป็นการจับมือคว่ำบาตรระหว่าง 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อโดดเดี่ยวพรรคไทยรักไทยในสนามเลือกตั้ง ซึ่งก็ได้ผล
 
แต่การคว่ำบาตรเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ กลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่โดดเดี่ยวตัวเอง เพราะทันทีที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่เพียงพรรค"บิ๊กเนม"อย่างเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ภูมิใจไทย ยังมีพรรคเล็กเสนอตัวลงสมัครจำนวนมาก รวมเกือบ 40 พรรค
 
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย 1 ในพรรคที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กล่าวว่า การตัดสินใจลงสมัคร ทั้งที่รู้ว่าการเลือกตั้งอาจไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะการไม่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสนามแข่งขันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่วันรับสมัครไปจนถึงวันกาบัตรลงคะแนน แต่ก็จำเป็นต้องรักษากฎกติกาประชาธิปไตยเอาไว้
 
พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
 
ตลอดอายุ64 ปีแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นรัฐบาลมากนัก แต่ก็เป็นพรรคที่มีบทบาทต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างสูง ประโยคคำพูด นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคที่ว่า "เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" แทบจะกลายเป็นสโลแกนประจำพรรค แต่ประโยคคำพูดเดียวกันได้ย้อนกลับมาทำร้ายพรรคประชาธิปัตย์เองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในยุคหัวหน้าพรรคชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
การประกาศคว่ำบาตรเลือกตั้ง 2 ครั้งในรอบทศวรรษ
 
ทำให้พรรคตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบอย่างหนักจากกลุ่มนักประชาธิปไตยในไทยตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองไทยมาตลอด โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีเจตนาก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการ"แช่แข็งประเทศ" เป็นเวลา 1-2 ปี ภายใต้ข้ออ้างว่าจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
 
ซึ่งนอกจากเป็นการเคลื่อนไหวสอดรับกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำม็อบ กปปส. อดีตเลขาธิการพรรคแล้ว ยังมีข้อครหาตามมาด้วยว่า การหันหลังให้กับการเลือกตั้ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ชนิดหมอบราบให้กับพรรคการเมืองที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด ซึ่งเชื่อกันว่าความพ่ายแพ้ซ้ำซากให้กับการเมืองในระบบ เป็นแรงกดดันให้ต้องตัดสินใจเลือกที่จะเล่นนอกกรอบหันมาพึ่งพาพลังอำนาจม็อบ กปปส. แต่นั่นก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมตกเป็นเบี้ยล่างให้กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ "ลุงกำนัน" ด้วยเช่นกัน
 
สถานการณ์ภายใต้อิทธิพลครอบงำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีกลุ่มมวลชนอยู่ในมือจำนวนมหาศาล ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการทางการเมืองได้ด้วยตัวเองซึ่งนำมาซึ่งข้อผิดพลาดใหญ่หลวง โดยเฉพาะการมีมติแสดงจุดยืนต่อการเลือกตั้ง2 กุมภาพันธ์ ได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ที่ยังเห็นว่าพรรคสมควรเชื่อมั่นระบบรัฐสภาต่อไป ด้วยเหตุผลที่น่ารับฟังว่าการเทเดิมพันแบบหมดหน้าตักครั้งนี้เพราะเกรงว่าจะขัดใจกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
สุดท้ายแล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะต่อให้สามารถสกัดขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งมีขึ้นตามกำหนด ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับมอบ"ส้มหล่น"เหมือนในปี 2551 ที่สำคัญในขณะที่พรรคการเมืองอื่นร่วม 40 พรรคพร้อมใจกันเดินหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อรักษาระบบ พรรคประชาธิปัตย์กลับต้องถูกกล่าวหาเป็นตัวการร่วมกับกลุ่มการเมืองนอกระบบต่อต้านการเลือกตั้ง ทำลายกระบวนการสำคัญทางประชาธิปไตยเสียเอง ในทางกลับกันหากการเลือกตั้งเดินหน้าไปได้ตามกำหนด สิ่งที่จะตามมาก็คือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้ชื่อเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ จะถูกพรรคการเมืองอื่นที่มาตามระบบ บุกเข้ายึดครองพื้นที่ฐานเสียง
แบบไม่มีทางสู้แม้แต่น้อย เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นอวสานไปจากเวทีการเมืองหายไปจากพื้นที่สื่อทุกแขนง ไม่มีส่วนร่วมเป็นผู้นำกระบวนการปฏิรูปประเทศ คุณูปการอย่างเดียวจากการแช่แข็งตัวเองครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีเวลาขึ้นศาลต่อสู้คดี 99 ศพที่ตนเองตกเป็นจำเลย ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าในเดือนมีนาคมนี้ อย่างเต็มที่ไม่มีงานการเมืองมาทำให้เสียสมาธิ
 
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากปลายปี 2556 ต่อเนื่องปี 2557 จึงเป็นการพิสูจน์ว่า
 
คำพูดของ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า "ลงก็ตาย ไม่ลงก็พิการ" เป็นการพูดถูกแค่ครึ่งเดียว ความจริงน่าจะเป็นในแบบที่ว่า "ลงก็ตาย ไม่ลงยิ่งตายสนิท" มากกว่า
 
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ประจำวันที่ 3- 9 มกราคม 2557
Admin : Chanya

Admin : admin
view
:
1168

Post
:
2014-01-09 09:23:38


ร่วมแสดงความคิดเห็น