ปฏิวัติประชาชน ฉบับ′สุเทพ′ ปฏิวัติเงียบ 2013 กับบท ทหารอดทน ของ′บิ๊กตู่′
2013-12-20 11:05:09
ปฏิวัติประชาชน ฉบับ "สุเทพ" ปฏิวัติเงียบ 2013 กับบท ทหารอดทน ของ "บิ๊กตู่" และบทนางเอก ปชต. ของ "นายกฯ ปู"
สิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น การปฏิวัติประชาชน ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถึงขั้นทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เมื่อเช้า 9 ธันวาคม 2556 นั้น ทำให้บทบาทของกองทัพ ถูกจับตามอง
ในมุมหนึ่ง ฝ่ายผู้ชุมนุมอาจรู้สึกว่า เพราะพึ่งพากองทัพไม่ได้ เพราะทหารไม่ยอมออกมาปฏิวัติล้มรัฐบาล ประชาชนจึงต้องก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลเสียเอง
แต่หากพิเคราะห์แล้วจะพบว่า การปฏิวัติประชาชน ครั้งนี้ มีการมองว่าอาจเป็นการปฏิวัติเงียบ ในอีกรูปแบบหนึ่งของทหารก็ได้
เพราะ การปฏิวัติประชาชน ครั้งแรกนี้ จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีทหารให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ หรือแม้แต่การยอมเป็น ท.ทหารอดทน นิ่งเฉย
การเป็นปฏิวัติเงียบ เพราะกองทัพบก ซึ่งเป็นเหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด ภายใต้การนำของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ถูกมองว่าปฏิเสธที่จะใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการใดๆ ต่อผู้ชุมนุม
ไม่ว่าจะเอากำลังทหารไปช่วยตำรวจในการสกัดกั้นม็อบ แต่ยอมแค่ส่งกำลังทหารไปอยู่หลังแนวตำรวจ เพื่อพอเป็นสัญลักษณ์ว่า ยังเป็นกลไกของรัฐบาลอยู่เท่านั้น
จริงอยู่ แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิง แถมเป็น รมว.กลาโหม ด้วย ไม่ได้มีแนวคิดที่จะใช้การปราบปราม หรือสลายม็อบ
แต่หากกองทัพมีใจ หรือให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มร้อย รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อาจจะไม่ได้พบจุดจบแบบนี้
ที่มองเป็นการปฏิวัติเงียบอีกประการหนึ่ง อาจรวมถึงการที่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ขอพบพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังเสร็จสิ้นงานสโมสรสันนิบาต ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อค่ำ 7 ธันวาคม
และมีข่าวว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง เมื่อค่ำวันที่ 8 ธันวาคม หลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเสร็จ เพราะนายสุเทพประกาศนำผู้ชุมนุมมาบุกทำเนียบรัฐบาล
จนนำไปสู่การยุบสภา อันเป็นหมากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจเลือกเพื่อสยบความเคลื่อนไหวของนายสุเทพ โดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการต่อสู้
ยิ่งเมื่อมีโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อ 9 ธันวาคม แล้วกำหนดให้เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ ด้วยแล้ว การที่นายสุเทพ บีบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออก ไม่ให้รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังจะถูกมองว่า เป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจ อีกด้วย
แม้ว่าการยุบสภา จะเป็นการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองในการแก้ปัญหาการเมือง แต่เธอก็ได้ปรึกษาหารือผู้นำทหารก่อน เพราะฝ่ายทหารเองก็มองไม่เห็นทางออกอื่น จึงต้องการให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน แม้จะรู้อยู่ว่า การยุบสภา ไม่ใช่เป้าหมายที่นายสุเทพ ต้องการ และไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ในสภาวการณ์เช่นนี้ เพราะเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย ก็ต้องชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลอีกก็ตาม
มีข่าวออกมาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกบีบให้ต้องเร่งยุบสภา แล้วเจาะจงไปด้วยว่า เพราะทหารบีบ
"นายกฯ ท่านตัดสินใจของท่านเอง" พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
แต่กระนั้น บทบาทของกองทัพ ก็ถูกจับตามอง ตั้งแต่ เป็นคนกลางในการจัดให้นายสุเทพ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพบเจรจากันที่ ร.1 รอ. เมื่อค่ำ 1 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา
แม้จะเป็นความต้องการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ต้องการพูดคุยกับนายสุเทพ และเป็นเจตนาดีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้แก้ไขปัญหากันด้วยสันติ ก็ตาม แต่กองทัพก็ถูกมองว่า แทรกแซงการเมือง
แต่หากย้อนกลับมามองที่กองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหากเลือกที่จะอยู่ฝั่งรัฐบาล แล้วต้องเอาทหารออกมาปราบปรามม็อบอีกครั้ง แม้จะไม่ใช้กระสุนจริง แต่ก็เสี่ยงต่อการสูญเสีย แล้วทำให้ทหารตกเป็นจำเลย เช่นปี 2553 ที่ปราบปรามคนเสื้อแดง อีกเช่นเคย
แต่หากจะให้เลือกอยู่ฝั่งผู้ชุมนุม อย่างเปิดเผย แล้วต้องก่อการปฏิวัติรัฐประหาร กองทัพมีบทเรียนมาแล้ว และก็ไม่ต้องการที่จะแบกรับภาระในการแก้ปัญหาไว้เพียงผู้เดียว เพราะปัญหามันใหญ่หลวงนัก ความแตกแยก เกลียดชัง ยากที่จะเยียวยาด้วยการยึดอำนาจ แล้วในที่สุด ทหารก็จะต้องเป็นจำเลยของสังคม ว่าปฏิวัติแล้ว แก้ปัญหาไม่ได้
การเชิญนายสุเทพ มาพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ ร.1 รอ. จึงเป็นทางเลือก และนี่เองทำให้ถูกมองว่า เป็นการปฏิวัติเงียบ ในรูปแบบหนึ่ง เพราะนายสุเทพเป็นฝ่ายยื่นเงื่อนไขแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังเหตุผลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยึดตามรัฐธรรมนูญ
"เราแค่เป็นคนกลางให้พูดคุยกัน แต่ทหารเราไม่ได้ยื่นเงื่อนไข หรือบังคับขู่เข็ญอะไรเลย" บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ปฏิเสธหนักแน่น
แต่ทว่า การปฏิวัติประชาชน ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ก็ถูกจับตามองว่า เป็นขบวนการที่มีทหารเป็นพี่เลี้ยง
เหตุเพราะกองทัพไม่อาจก่อการปฏิวัติเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะจะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก โดยเฉพาะมีความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้ใช้การเจรจา และยึดแนวทางประชาธิปไตย ในการแก้ปัญหา ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณให้กองทัพถอยห่างออกไป
การให้การสนับสนุน ทาง "ใจ" กับขบวนการปฏิวัติประชาชน และนายสุเทพ จึงเป็นสิ่งเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ พอจะกระทำได้
ทั้งนี้ กองทัพเลือกที่จะวางตัวนิ่งเฉย เพราะการที่กองทัพนิ่ง ไม่ออกมาช่วยดูแล หรือปราบม็อบ ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณทางใจที่มีต่อฝ่ายประชาชนอยู่แล้ว
รวมไปถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งทหารเสนารักษ์ไปดูแลช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ถูกแก๊สน้ำตาและบาดเจ็บ ในระหว่างการฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อไปยึด บช.น. และทำเนียบรัฐบาล และการส่งทหารไปตามชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
นี่เองจึงทำให้กองทัพถูกมองว่ามีใจให้ "ม็อบ"
อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติประชาชนครั้งนี้ อาจจะยังไม่สามารถใช้คำว่า กองทัพ ให้การสนับสนุนได้เต็มตัว เพราะ พล.ร.อ.ณรงค์ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. นั้น ดูเหมือนจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องใดๆ นอกเสียจากการมานั่งเป็นสักขีพยานในการเจรจาของนายสุเทพ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ ร.1 รอ. เท่านั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการใช้ภาพของกองทัพ เป็นคนกลาง ไม่ใช่ตัวเขาคนเดียว และเพื่อเป็นการปกป้องตนเองจากเสียงวิจารณ์ด้วย
แต่ทว่า บทบาทหลัก จะไปอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ที่เป็นเพื่อน ตท.12 ด้วยกัน และได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่ได้เคยถวายงานใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ มาตลอด
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ถูกจับตามองอย่างหวาดระแวงจากแกนนำรัฐบาล และแกนนำเสื้อแดง ด้วยเพราะรู้กันดีว่า เขามีความสนิทสนมกับนายสุเทพ เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งนายสุเทพ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และร่วมชะตากรรมกันมาในการปราบเสื้อแดง ปี 2552 และ 2553
ที่สำคัญ นายสุเทพ ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม และ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ในรัฐบาล ปชป. ที่ร่วมกันปราบเสื้อแดง และมีการพบปะทานข้าวด้วยกันเสมอๆ
จนมีชื่อของ 2 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์ พี่เลิฟของ พล.อ.ประยุทธ์ นี้ว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนความเคลื่อนไหวของนายสุเทพ อยู่เงียบๆ รวมถึง บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้วางแผนการปฏิวัติประชาชนครั้งนี้
ตั้งแต่การตั้งชื่อ กปปส. คณะกรรมการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ให้นายสุเทพ เป็นเลขาธิการ นั้น ก็ใช้หลักคิดเดียวกับการตั้งชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 19 กันยายน 2549
ยิ่งเมื่อมีการแถลงการณ์คณะปฏิวัติประชาชน ครั้งแรก เมื่อ 18.00 น. 9 ธันวาคม 2556 โดยนายสุเทพนั้น ก็ใช้รูปแบบแบบการปฏิวัติโดยทหาร โดยเฉพาะการอ้างเหตุผล 6 ข้อ ในการล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่แตกต่างไปจากเหตุผลในการปฏิวัติยึดอำนาจของทหารในครั้งที่ผ่านๆ มา
ทั้งการเป็นเผด็จการรัฐสภา การทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาล และรัฐสภา ถูกครอบงำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การสร้างความแตกแยก การบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน
โดยเฉพาะข้อ 5 การแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ การใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่ทว่า ไม่ได้รวมถึงกองทัพ เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีแต่ดูแลเอาใจและยอมทหารหมดทุกเรื่อง และไม่แทรกแซงล้วงลูกโยกย้ายทหารเลย
รวมถึงการออกคำสั่งของ กปปส. ฉบับที่ 1 เรื่อยมา ที่เปรียบเสมือนคำสั่งของคณะปฏิวัติ ที่ถูกมองว่า เลียนแบบการปฏิวัติโดยทหาร หรือเพราะมีทหารเป็นกุนซือ นั่นเอง
แต่ที่กลายเป็นเรื่องขำๆ ก็ตรงที่มีคำสั่งให้ข้าราชการไปรายงานตัวต่อ กปปส. เช่นเดียวกับเมื่อทหารก่อการปฏิวัติ ก็ต้องออกคำสั่งให้ข้าราชการไปรายงานตัวต่อคณะปฏิวัติ
แต่ทว่า นี่เป็นการปฏิวัติโดยประชาชน ที่ไม่ได้ถืออาวุธ แต่ที่สำคัญ เพราะมีนายสุเทพ ที่มีพรรคพวกในกองทัพเยอะ โดยเฉพาะ 3 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์ ป้อม-ป็อก-ประยุทธ์ เพราะช่วงที่เป็นรัฐบาล นายสุเทพมีหน้าที่ประสานงานกับกองทัพ ดูแล เอาใจ แบบใจถึง เพราะถ้าให้นายอภิสิทธิ์ มานำปฏิวัติประชาชนครั้งนี้ ทั้ง 3 ป. ก็คงไม่เอาด้วย เพราะไม่ค่อยแฮปปี้กับบทบาทตอนเป็นนายกรัฐมนตรี เท่าใดนัก โดยเฉพาะท่าที และคำพูด ต่อผู้นำทหารในเวลานั้น
จะเห็นได้ว่า ยังคงมีทหารติดตามดูแลความปลอดภัยให้นายสุเทพ ตลอดมา ตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล และเสริมมากขึ้นเมื่อมานำการชุมนุม ทั้ง สารวัตรทหารบก จากสุราษฎร์ธานี และทหารเสือราชินี จาก ร.21 รอ. ที่เคยดูแลเขามาตอนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี อีกด้วย แต่ทว่า แต่งนอกเครื่องแบบ
เหล่านี้ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองในหลายแง่มุม จากฝ่ายที่เห็นต่าง เพราะนานวันเข้า ฝ่ายผู้ชุมนุม เริ่มเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ฝั่งประชาชน
แม้บนโต๊ะเจรจา พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า ผมไม่ได้อยู่ฝั่งไหน แต่ผมอยู่ฝั่งประเทศไทย ก็ตาม แต่นั่นถูกตีความว่า หมายถึงฝั่งประชาชน หาใช่ฝั่งรัฐบาลไม่
พร้อมๆ กันนั้น ฝ่ายรัฐบาลและแกนนำ นปช. ก็หวาดระแวง จนทำให้ ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง ออกมาสะกิดว่า ทบ. ส่งทหาร 32 ชุดประกบความเคลื่อนไหวแกนนำพรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง
รวมถึงการแฉว่า มีคำสั่งให้ทหารแต่งเสื้อหลากสีออกมาร่วมชุมนุมใหญ่บุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา
แม้ว่ากองทัพบกจะปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา แต่ทว่า ก็สะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลและเสื้อแดง หวาดระแวงกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งเมื่อ เด็จพี่ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พาดพิง พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ จากที่เคยระบุแค่ชื่อย่อ 2 ป. และ นายพล ด. เท่านั้น
ถึงขั้นที่มีบางกระแสระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนกลาง ที่นายสุเทพเล็งไว้คือ พล.อ.ประวิตร นั่นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร เคยยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะเล่นการเมืองหรือรับตำแหน่งใดๆ แต่หากเป็น นายกรัฐมนตรี ม.7 ก็มีข่าวพุ่งเป้าไปที่ นายพลากร สุวรรณรัตน์ องคมนตรี ถึงขั้นที่มีรายชื่อ รัฐบาลชั่วคราว คณะรัฐมนตรีชั่วคราว ออกมากันแล้ว
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่า กองทัพไม่ได้เลือกข้างไหน แต่จะพยายามช่วยหาทางออก หาข้อยุติ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงมองว่า ไม่ควรจะต้องให้ในหลวงทรงลำบากพระราชหฤทัย หรือไปดึงพระองค์ท่านมาเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองครั้งนี้ เพราะเราควรจะแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกันเองทุกฝ่ายจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ฝั่งประชาชน ผู้ชุมนุม แต่ตัวยังต้องทำหน้าที่กลไกของรัฐบาลก็ตาม แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ยังคงเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ แบบที่เรียกว่า ใครมาพูดอะไรในเชิงหวาดระแวง พล.อ.ประยุทธ์ ล่ะก็ เธอจะไม่ฟัง และไม่เชื่อ เพราะเธอมั่นใจในความจริงใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีให้ จากการทำงานด้วยกันมา คุยกันมาตลอดกว่า 2 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรี
ต้องยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น เลือกการต่อสู้ ด้วยการยึดกฎหมาย และระบอบประชาธิปไตย เป็นหลัก
เลือกที่จะเล่นบทนางเอก ทั้งการไม่ใช้ความรุนแรง และไม่สลายม็อบ มีแค่การป้องกัน ที่มากที่สุดคือการใช้แก๊สน้ำตาเท่านั้น
ไม่มีแม้แต่ภาพตำรวจทุบตีม็อบ อันเป็นมาตรการปราบจลาจลแบบสากลที่ทุกประเทศใช้กันเลยด้วยซ้ำ
รวมถึงการยอมปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้ามาใน กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่สกัดกั้นใดๆ อีกก็ตาม
แม้จะมีเหตุการณ์วุ่นวายที่รามคำแหง จนมีผู้เสียชีวิต นั้น ก็เป็นเพราะการชุมนุมของนักศึกษารามคำแหงในวันนั้น ถูกมองว่ามีเบื้องหลัง เพราะจงใจที่จะไปเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงที่นัดชุมนุมกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน อยู่ก่อนแล้ว
อีกทั้งมีรายงานว่า มีทหารมีสี ลูกน้องของนายทหารสายอำมาตย์ที่หนุนหลังการชุมนุมอยู่ ก็จัดกำลังไปหนุนหลังนักศึกษา โดยที่ฝ่ายทหารแตงโม สายเสื้อแดง รู้แผน ก็เตรียมกำลังไปรับมือ เพื่อปกป้องดูแลคนเสื้อแดง จึงเกิดการปะทะกัน
การแก้ปัญหาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เลือกการยุบสภา ในที่สุด ก็ถูกมองว่าเป็นการใช้กฎกติกาของรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยในการต่อสู้ ไม่ว่านายสุเทพจะพยายามตะแบงรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 7 ในการตั้งรัฐบาลชั่วคราว และนายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ พระราชทาน อย่างไรก็ตาม
ไม่แค่นั้น ยังมีบทน้ำตาคลอ ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่สโมสร ทบ. เมื่อ 10 ธันวาคม เมื่อขอความเป็นธรรมที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศ ก่อนจะตบท้ายว่า "ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว"
นี่เป็นสภาวการณ์ที่ท้าทายความอดทน ของกองทัพ และโดยเฉพาะ หัวใจแกร่ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างยิ่งว่า จะเขียนประวัติศาสตร์หน้านี้ให้จบลงเช่นไร ในเมื่อเขาได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ อย่างเต็มตัวไปแล้ว
รอดูตอนจบ ว่าจะ Happy Ending ปฏิวัติประชาชนสำเร็จอย่างสวยงาม หรือ จะจบแบบหักมุม แบบเปิดตัวพระเอกตัวจริง หรือกระชากหน้ากากผู้อยู่เบื้องหลัง หรือว่า แบบ พระเอก หรือผู้ร้าย จะตายตอนจบ
น่าดูชม และน่าศึกษา เป็นยิ่งนัก...
Credit : มติชนสุดสัปดาห์
Admin : Chanya
Admin : admin
view
:
2079
Post
:
2013-12-20 11:05:09
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น