ธงทอง เชิญ 100 คน ถกความคิดทางออกประเทศไทย
2013-12-13 14:46:27

 


 
 
นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เนื่องจากตอนนี้ได้มีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 แล้ว แต่ยังมีผู้ที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และการเลือกตั้งคงไม่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และจะต้องมีการพูดคุย สอดคล้องกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้มีการจัดเวทีพูดคุย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยการจัดเวทีสนทนาทางออกเพื่อการปฏิรูปประเทศนี้ ใช้ชื่อว่า “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. 

 
โดยจะเชิญตัวแทน 100 คนจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กลุ่ม 7 องค์กรธุรกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ปลัดกระทรวง ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน ฝ่ายที่มีประสบการณ์ทางการเมือง สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตัวแทนพรรคการเมือง พรรคละ 2 คน สมาชิกวุฒิสภา ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และการสรรหา เป็นต้น ทั้งนี้อาจมีการเชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ร่วมด้วย โดยตนจะเป็นผู้ประสานงาน

 
นายธงทอง กล่าวอีกว่า ส่วนประธานที่ประชุม จะเป็นผู้อาวุโสสูงสุดที่มาประชุม  ซึ่งก่อนการประชุมจะมีการเลือกประธานเลขานุการ  ขณะนี้ยังไม่มีวาระในการประชุม แต่จะเตรียมข้อมูล ข้อกฎหมาย พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญ ความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ หรือส่งข้อมูลมาล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบเรื่องกำหนดการ เพราะการพูดคุยอาจจะไม่จบภายในวันเดียว  

 
แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็หวังว่าเวทีปฏิรูปจะได้แผนที่ทางเดินให้กับประเทศไทยก่อนถึงเทศกาลปีใหม่เพื่อร่วมกันนำไปสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ.2557 อีกทั้งเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถนำไปใช้เป็นสัญญาต่อสาธารณชนในการนำไปประกอบการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตามการจัดเวทีดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางข้อความ เอสเอ็มเอส ได้ที่หมายเลข 4221559

 
ด้านนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นการกำหนดตามกรอบระยะเวลาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่จะต้องอยู่ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้บแต่วันประกาศยุบสภาฯ ซึ่งเมื่อนับวันที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 6 ก.พ.2557 

 
ดังนั้น แนวความคิดที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 6 ก.พ.2557 จึงไม่สามารถทำได้ มิฉะนั้นจะเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 108 และจะทำให้บทบัญญัตินั้นใช้บังคับไม่ได้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6ที่ว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัตินั้น จะใช้บังคับไม่ได้

 
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ดังนั้นสิ่งที่ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงได้นำเสนอไปนั้นคือ ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาการเมืองในขณะนี้มีความเป็นมา จึงเสนอให้ทุกฝายที่เกี่ยวข้องควรพูดคุยร่วมกัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าพูดคุยเจรจากันไม่ได้แล้ว จะไม่มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งยังคงต้องมีตามที่กำหนด เพราะเราไม่สามารถขัดพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ได้
 
 
 
ADMIN : Mo Malaysia 
SOURCE : Daily News 

Admin : admin
view
:
1194

Post
:
2013-12-13 14:46:27


ร่วมแสดงความคิดเห็น