กฟผ. เล็งขึ้นค่าเอฟทีอีก 10 สตางค์ ปีหน้า เหตุต้นทุนสูงขึ้น
2013-12-11 10:30:28
แหล่งข่าว กฟผ. เผย จะมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีเพิ่มอีก 10 สตางค์ในต้นปีหน้า หลังค่าเงินบาทอ่อนตัวลงและต้นทุนก๊าซสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เรียกเก็บบิลค่าไฟประชาชนรอบใหม่ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2557 มีทิศทางปรับขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเล็กน้อย รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ จากการคำนวณค่าเอฟทีงวดที่แล้วซึ่งใช้ฐานการคำนวณ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พบว่า ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 32 บาทกว่าต่อดอลลาร์ฯ รวมทั้งค่าเอฟที งวดที่ผ่านมา ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2556 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ให้ กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนไว้ 2.91 สตางค์ต่อหน่วย
ดังนั้น ค่าเอฟที งวดกันยายน-ธันวาคม 2556 ควรจะต้องขึ้น 14.18 สตางค์ต่อหน่วย แต่เรกูเลเตอร์ได้นำเงินชดเชยจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนอมและเงินค่าปรับโรงไฟฟ้าเอกชน 2,247 ล้านบาทคิดเป็น 4.91 สตางค์ต่อหน่วย และให้ กฟผ. รับภาระอีก 1,566 ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.91 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อช่วยลดภาระประชาชน จึงทำให้ค่าเอฟที ปรับขึ้นเพียง 7.08 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนในงวดหน้า คงต้องรอดูการพิจารณาของเรกูเลเตอร์อีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มทิศทางค่าไฟฟ้าในปี 2557 หากพิจารณาจากปัจจัยเชื้อเพลิง ยอมรับว่า ไทยต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้ามากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลต่อค่าเอฟทีที่สูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้แอลเอ็นจีมีราคาสูงถึง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต
ซึ่งจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กำลังปรับปรุงอยู่นั้น พบว่า มีความพยายามเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงของเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อรักษาระดับค่าเอฟทีไม่ให้สูงเกินไป โดยถ่านหินน่าจะเป็นทางออกของไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้านี้ แต่หากไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนดังกล่าว ค่าไฟไทยน่าจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการซื้อไฟต่างประเทศมากไปก็เสียงต่อความมั่นคงอีกด้วย
ด้าน นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า กลางเดือนธันวาคมนี้ จะพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อสรุปตัวเลขก่อนนำมาคำนวณค่าเอฟที ที่จะเรียกเก็บบิลค่าไฟประชาชนรอบใหม่ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2557 โดยเฉพาะ 2 ปัจจัยหลักที่จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง คือราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าเงินบาท ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา มีผลกระทบต่อต้นทุนค่าเอฟที สูงถึง 6 สตางค์ต่อหน่วย
จากเหตุผลดังกล่าว จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า ตัวเลขจะเป็นอย่างไร เพราะคงจะต้องดูหลายปัจจัย เช่น ราคาก๊าซ ค่าเงินบาท รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมคำนวณว่า อัตราใดที่จะเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป
Credit : เดลินิวส์
Admin : Chanya
Admin : admin
view
:
1609
Post
:
2013-12-11 10:30:28
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น