แถลงการณ์ถึงกระทรวงพลังงาน
2013-12-08 22:36:16
"หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤติของบ้านเมือง"
 
 
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานอาศัยช่วงชุลมุนทางการเมืองของประชาชนเตรียมเสนอบอร์ดปิโตรเลียมให้เปิดสัมปทานรอบที่21 ในช่วงขึ้นปีใหม่2557 โดยไม่ยอมปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิตเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่ 
 
การลักไก่ให้สัมปทาน ไดยไม่ยอมแก้ไขกฎหมายปิโตรเลี่ยมให้รัดกุมกว่านี้ จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสียเปรียบอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องใช้น้ำมันแพง ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ เช่น พม่า อินโดนีเซีย กัมพูชาประเทศไทยถือว่าได้รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติต่ำที่สุด จนเป็นที่น่าจับตาว่า เพราะเหตุใดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังออกมายืนยันว่าระบบสัมปทานที่เป็นอยู่เหมาะสมแล้ว
 
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
 
พม่าซึ่งอยู่ในระบบแบ่งปันผลผลิตได้ค่าภาคหลวง10% และหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเอาส่วนแบ่งกำไรอีก50-80% และภาษีอีก30%
 
ส่วนกัมพูชา ได้ค่าภาคหลวง12.5% และได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 40-60% และภาษีอีก 30%
 
ส่วนประเทศไทยได้ค่าภาคหลวง5-15% และภาษีเงินได้ 50% ไม่มีส่วนแบ่งผลผลิตหรือส่วนแบ่งกำไร ได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอีกเล็กน้อย
 
ระบบของประเทศอินโดนีเซียเป็นต้นแบบการจัดการส่วนแบ่งรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทยนำไปใช้ ยกเว้นประเทศไทยยังคงยืนหยัดจะใช้ระบบเดิมที่ใช้มาเป็นเวลา42ปี ซึ่งเป็นระบบของยุคล่าอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมได้ทรัพยากรทั้งหมดไปเป็นกรรมสิทธิ และจ่ายเงินตอบแทนเพียงเล็กน้อยให้ประเทศเจ้าของทรัพยากร
 
ระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ประเทศไทยใช้อยู่ตามกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ 2514 มีการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ในปี 2532 เพียงครั้งเดียวโดยเปลี่ยนแปลงค่าภาคหลวงจาก 12.5% เป็นการเก็บแบบขั้นบันได 5-15% ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคาประมาณ18เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบมีราคา 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังยืนยันไม่แก้ไขอัตราส่วนแบ่ง แล้วจะรีบเปิดให้สัมปทานในขณะที่สังคมกำลังมีวิกฤติการเมือง
 
ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต (Production หรือ Profit Sharing ) แทนระบบสัมปทาน
( Concession)
 
ทั้ง2ระบบต่างกันที่เรื่อง "กรรมสิทธิ" ปิโตรเลียมว่าเป็นของรัฐ หรือเอกชน
 
1)ระบบสัมปทาน กรรมสิทธิเป็นของเอกชน
 
เมื่อเอกชนรายใดได้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากรัฐบาล กรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ขุดได้ จะตกเป็นของเอกชนทั้งหมด และเอกชนจ่ายผลตอบแทนให้รัฐบาลเป็นส่วนน้อย เมื่อเอกชนเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม ตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงสามารถส่งออกปิโตรเลียมที่ตนเองขุดได้ในประเทศไทยเท่าไหร่ก็ได้ และเวลาขายให้คนไทยก็ขายในราคาเท่ากับนำเข้าจากต่างประเทศ
 
2) ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เอกชนเป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งที่ได้รับ
 
เอกชนหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะแล้ว ส่วนที่เหลือคือกำไรที่ต้องนำมาแบ่งกัน และรัฐบาลทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน อินโดนีเซียจะได้ส่วนแบ่งที่รวมภาษีแล้ว 85% ในส่วนผลผลิตที่หักค่าใช้จ่ายการขุดเจาะแล้ว และเอกชนได้ส่วนแบ่ง 15% และในส่วนแบ่งปิโตรเลียม15%นั้นเอกชนต้องขายคืนให้รัฐจำนวน 25%ในราคาลด 25% จากราคาตลาดโลก 
 
ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิปิโตรเลียมเป็นของประเทศและประชาชน ถ้ารัฐบาลขายประชาชนในราคาถูก ประชาชนได้ประโยชน์ ระบบเศรษฐกิจมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ถ้ารัฐบาลขายราคาสูง
รัฐบาลจะได้รายได้เพื่อเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องกู้ หรือกู้น้อยลง ไม่เป็นภาระกับประชาชน
 
แต่ระบบสัมปทานของไทย เอกชนได้กำไรสูง ประชาชนต้องใช้ราคาก๊าซและน้ำมันแพง โดยรัฐได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรม
 
แต่กระทรวงพลังงานยืนหยัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้ประเทศ และประชาชนได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรของประเทศก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบใหม่ รอบที่21 และยังจะอาศัยช่วงประชาชนชุลมุนเปิดสัมปทานภายในปลายปี2556 ต่อช่วงต้นปี 2557
 
ขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานหยุดการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิรูประบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21ตลอดระยะเวลา 2ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ21ออกไปจากที่กำหนดไว้เดิมในเดือนมิถุนายน 2554
 
หยุดฉ้อฉลใช้วิกฤติของบ้านเมืองเป็นโอกาสในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเอกชนมากกว่าประเทศชาติและประชาชน 
 
บัดนี้ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ตื่นตัวขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ปิโตรเลียมของพวกเขา และเฝ้าจับตากลุ่มธุรกิจการเมือง กับข้าราชการที่ฉ้อฉลไม่ให้ฉวยโอกาสปล้นชิงทรัพยากรของประชาชนอีกต่อไป
 
รสนา โตสิตระกูล
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ
8 ธันวาคม 2556
 
Credit : facebook - กองทัพนิรนาม
Admin : Chanya

Admin : admin
view
:
1853

Post
:
2013-12-08 22:36:16


ร่วมแสดงความคิดเห็น